Facebook
Twitter
LINE

จากเด็กยากจน สู่เจ้าของธุรกิจเดินเรือ..

Cornelius Vanderbilt เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1794 โดยมีพ่อเป็นคนรับจ้างพายเรือข้ามฟากในนิวยอร์ก

ย้อนไปในยุค 200 กว่าปีก่อนนั้น การเรียนหนังสือในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เรื่องที่ใครๆ จะสามารถทำได้อย่างปกติ

เพราะฉะนั้นตอนอายุ 16 ขวบ เขาซึ่งไม่ได้เรียนหนังสือแล้ว ก็ตัดสินใจเริ่มธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง โดยสานต่อจากสิ่งที่พ่อทำ

เขาหยิบยืมเงินจากครอบครัวและญาติๆ มาซื้อเรือ 1 ลำ แลกกับผลประโยชน์ที่จะแบ่งรายได้จากการรับจ้างพาคนข้ามฟากให้ 50%

และเขาก็แสดงให้เห็นถึงทักษะของเด็กหนุ่มยุคใหม่ตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจทันที

แทนที่จะรับจ้างเดินเรือไปวันๆ เขากลับวางแผนตัดราคาคู่แข่งในละแวกนั้น เพื่อให้มีคนมาใช้บริการมากกว่า

และแทนที่จะนำกำไรไปใช้จ่าย Cornelius นำมันมาลงทุนซื้อเรือเพิ่ม เพื่อขยายให้ธุรกิจของเรามีเรือมากกว่าผู้ให้บริการคนอื่นๆ

เขาค่อยๆ เปลี่ยนบทบาท จากคนรับจ้างพายเรือ กลายมาเป็นคนคุมท่าเรือเล็กๆ ของตัวเอง

จนกระทั่งในที่สุดเขาก็แทบจะยึดครองกิจการเดินเรือข้ามฟากในละแวกนั้นได้จนหมด

แถมยังได้รับสัมปทานการขนส่งทหารร่วมกับทางรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งที่ตอนนั้นเขายังมีอายุไม่ถึง 20 ปีเต็มด้วยซ้ำ

เด็กหนุ่มคนนี้ ฉายแววธุรกิจเหนือกว่าคนอื่นๆ ในยุคนั้นอย่างชัดเจน…

 

 

สู่การเป็นผู้นำ แห่งธุรกิจเดินเรือ

ด้วยการฉายแววในธุรกิจเดินเรือท้องถิ่น ในภายหลังนักธุรกิจชื่อดังเจ้าของธุรกิจเรือไอนำ Thomas Gibbons จึงว่าจ้างให้เด็กหนุ่มคนนี้มาทำธุรกิจด้วย

Cornelius ทำงานสองทาง ก็คือบริหารธุรกิจเดินเรือท้องถิ่นของตัวเอง และช่วยบริหารธุรกิจเดินเรือไอน้ำให้บริษัทใหญ่

จนกระทั่งตอนอายุ 35 ปี เมื่อ Thomas เสียชีวิต เขาจึงตัดสินใจเริ่มขยายกิจการเดินเรือไอน้ำต่อยอดมา

 

เขายังคงขยายกิจการด้วยกลวิธีเดิมก็คือ ตัดราคาคู่แข่งด้วยสายป่านที่ยาวกว่า ทำให้รายเล็กไม่สามารถอยู่รอดได้

เมื่อบริษัทเหล่านั้นไปไม่ไหว เขาก็จะเข้าครอบครองกิจการ หรือยึดเส้นทางเดินเรือนั้น

ซึ่งในยุค 200 ปีที่แล้ว ยังไม่มีกฎหมายอะไรมาควบคุมการทำธุรกิจในรูปแบบดังกล่าว (อย่าลืมว่าเราไม่สามารถใช้มุมมองปัจจุบัน ไปตัดสินแนวคิดคนในอดีตได้)

นอกจากนี้ สายสัมพันธ์ที่ดีกับทางรัฐบาล ยังทำให้เขาได้รับสัมปทานเดินเรือก่อนในหลายๆ เส้นทาง มาเติมเต็มธุรกิจให้ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก

 

นอกเหนือจากการเดินเรือระหว่างนิวยอร์ก และเส้นทางต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาแล้ว

ตอนยุคตื่นทองที่แคลิฟอร์เนีย มีการเริ่มเดินทางออกไปแสวงโชคทางตะวันตกมากขึ้น

บริษัทเดินเรือของเขาก็ยังเข้าไปลงทุนในประเทศนิการากัว ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อของสองมหาสมุทร เพื่อขนส่งคนข้ามไปมาในภาคตะวันตก-ตะวันออกของสหรัฐฯ

พูดง่ายๆ ก็คือ ล่องเรือจากนิวยอร์กไปนิการากัว

จากนั้นขนส่งคนผ่านถนนความยาวประมาณ 20 กิโลเมตร

แล้วก็ล่องเรือผ่านทะเลสาบ-แม่น้ำ ไปออกทะเลอีกฟาก ก่อนจะไปยังแคลิฟอร์เนีย

ซึ่งการเข้ามาลงทุนนี้เอง ทำให้เขาได้ประสบการณ์ในการทำธุรกิจข้ามชาติ การเจรจากับทั้งรัฐบาลของสองประเทศ

รวมไปถึงการที่เกือบจะได้มีการขุดคลองนิการากัว เพื่อเชื่อมสองมหาสมุทรก่อนคลองปานามาอีกด้วย

(ซึ่งภายหลังไม่ได้ทำจนสำเร็จ จนในที่สุดมีการขุดคลองปานามา เพื่อเชื่อมต่อสองมหาสมุทรแทน)

 

เส้นทางไปตะวันตกในยุคก่อน ถ้าไม่ไปผ่านนิการากัว ก็ผ่านปานามาแทน

 

 

จากเรือไอน้ำ สู่ผู้นำแห่งกิจการรถไฟ…

ที่แล้ว Cornelius Vanderbilt ให้ความสนใจกับวงการรถไฟมาตั้งแต่เขายังเป็นหนุ่ม

เพราะตอนอายุ 23 ปี เขาเคยนำเงินไปลงทุนในกิจการรถไฟเล็กๆ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

 

จนกระทั่งเขาอายุ 67 ปี หลังจากที่สูญเสียลูกชายคนเล็ก ไปในสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ (ซึ่งเป็นลูกคนโปรดที่สุดอีกด้วย)

เขามีท่าทีเปลี่ยนไป เริ่มดูจะเบื่อหน่ายกับธุรกิจเรือไอน้ำ และหันไปให้ความสนใจในกิจการรถไฟแทน

Cornelius เริ่มจากการเข้าซื้อธุรกิจรถไฟที่ใกล้จะเจ๊งในนิวยอร์ก ปรับโครงสร้างใหม่ มาผนวกเข้ากับแผนเส้นทางรถไฟไปยังท่าเรือที่เขามีอยู่

ในไม่ช้ามันก็กลายเป็นกิจการรถไฟที่ทำกำไร

จากกิจการแรก Cornelius ค่อยๆ ขยายเครือข่ายรถไฟของเขาออกไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ครอบคลุมภูมิภาคตะวันออก

หลักการทำธุรกิจของเขายังมีอยู่เช่นเดิม ก็คือการเข้าครอบครองกิจการในภูมิภาคต่างๆ แทบทั้งหมด เพื่อให้มีอำนาจทางธุรกิจอย่างเบ็ดเสร็จ

 

เส้นทางรถไฟที่ครอบคลุมทางตะวันออกแทบทั้งหมด

 

หลายครั้งที่เขากว้านซื้อหุ้นของธุรกิจนั้นในตลาดหุ้น จนกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่

ซึ่งนั่นทำให้เกิดความขัดแย้งที่ลือลั่นที่สุดครั้งหนึ่งในยุคนั้น…

คือตอนที่เขาพยายามเข้าครอบครองกิจการ Erie Railroad ซึ่งครองเส้นทางจากนิวยอร์กไปยังชิคาโก้

ระหว่างที่กำลังโดนเข้าซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เจ้าของ Erie รู้ตัวว่าบริษัทกำลังจะโดนฮุบ

เขาก็เลยออกใบหุ้นเพิ่มทุนมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเป็นความลับ ทำให้ Cornelius ที่ซื้อเท่าไร ก็ไม่สามารถครอบครองเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้สักที

(ไม่ต้องสงสัยว่าถ้าทำในยุคนี้ ก็คือเรื่องที่ผิดกฎหมายนั่นเอง)

ว่ากันว่านั่นคือความพ่ายแพ้ที่น่าอับอายที่สุดของเขา เพราะโดนตลบหลังจนไม่สามารถครอบครองกิจการที่หมายปองได้

 

แต่อย่างไรก็ตาม ในภายหลังเขาก็สามารถเข้าครอบครองเส้นทางรถไฟได้มากถึง 40% ของประเทศ คิดเป็นระยะทางมากกว่า 50,000 กิโลเมตร

Cornelius Vanderbilt กลายเป็นผู้นำแห่งกิจการรถไฟของสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ

ซึ่งกิจการรถไฟนี้เอง ก็ถือเป็นรากฐานที่สำคัญยุคหนึ่งของประเทศ ทั้งการขนส่งผู้คน สินค้า น้ำมัน และเชื่อมโยงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ดินแดนซึ่งมีพื้นที่ใหญ่กว่าไทยเกือบ 20 เท่า!!

 

 

ปั้นปลายของชีวิต…

Cornelius ล้มป่วยด้วยโรคชรา และเสียชีวิตในวัย 82 ปี

ในช่วงจุดสูงสุดของชีวิต มีการประเมินว่าทรัพย์สินของ Cornelius Vanderbilt นั้นเทียบกับค่าเงินปัจจุบันแล้ว น่าจะสูงถึง 5 ล้านล้านบาท

หลังจากนั้นทรัพย์สินของเขา โดยเฉพาะกิจการรถไฟที่เป็นธุรกิจหลัก ก็ถูกแบ่งส่งต่อให้ลูกๆ ที่เหลืออยู่นับสิบคน

ตามมาด้วยการเปลี่ยนผ่าน จากยุคที่ทางรถไฟที่เป็นธุรกิจหลักขับเคลื่อนประเทศ

กลายมาเป็นยุคแห่งสินค้าที่กำลังเป็นที่ต้องการในตอนนั้นอย่าง “น้ำมัน”

ที่สำคัญก็คือ.. แนวคิดการทำธุรกิจแบบไล่ซื้อกิจการ เพื่อผูกขาดเส้นทางต่างๆ แบบเบ็ดเสร็จ ยังถูกถ่ายทอดมาถึงนักธุรกิจคนอื่นๆ

ซึ่งนั่นรวมไปถึง John D.Rockefeller ราชาน้ำมัน ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนรวยที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งสหรัฐอเมริกาขึ้นมาอีกด้วย..

 

 

 

ติดตาม Billion Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionmindset.ig/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/Billion_Twit

– ติดตามเพจ Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา

www.biography.com/business-figure/cornelius-vanderbilt

www.britannica.com/biography/Cornelius-Vanderbilt-1794-1877

www.history.com/topics/19th-century/cornelius-vanderbilt

www.businessinsider.com/cornelius-vanderbilt-habits-contributed-to-success-2018-1

https://www.tharadhol.co

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...