Facebook
Twitter
LINE

ข่าวการย้ายทีมของ Cristiano Ronaldo นักฟุตบอลชื่อดัง กลับมายังทีม Manchester United ที่เคยปลุกปั้นเขามา กลายเป็นดีลประวัติศาสตร์แห่งวงการฟุตบอล

เพียงแค่ทราบข่าว หุ้นของทีม Manchester United ในวันศุกร์ที่ผ่านมา ก็ปิดตลาดด้วยการบวกขึ้นไปเกือบ 6% มูลค่าของทีมเพิ่มขึ้นราวๆ 3,000 ล้านบาท!!

พอหุ้นขึ้นแบบนี้ นักลงทุนและแฟนบอลหลายคนอาจจะเกิดข้อสงสัยว่า เราไปไปลงทุนในหุ้นของทีมเลยดีไหม? หุ้นจะให้ผลตอบแทนดีแค่ไหน?

เรามาหาคำตอบไปด้วยกันครับ…

 

 

ก่อนอื่น จะบอกว่าทีม Manchester United นั้น เคยเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นอยู่ 2 ช่วงเวลา

ช่วงแรกคือระหว่างปี 1991 – 2005 ในตลาดหุ้นลอนดอน ก่อนที่จะถูกกลุ่มทุนอเมริกันเข้ามาเทคโอเวอร์

หลังจากนั้นพวกเขาเอาทีมเข้าตลาดหุ้นอีกครั้ง ในปี 2012 แต่คราวนี้เป็นตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาแทน

อย่างไรก็ตาม.. ทั้งสองช่วงเวลานั้นกลับมีอะไรที่คล้ายๆ กัน นั่นก็คือราคาหุ้นที่แทบจะไม่สร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนเลย

เพราะอะไรกัน?

 

ย้อนไปตอนเข้าตลาดหุ้นรอบแรก ราคาของหุ้นอยู่ที่ประมาณ 8 ปอนด์ และถึงแม้ว่าทีมจะประสบความสำเร็จในประเทศ

แต่ในด้านผลกำไร บริษัทแห่งนี้ไม่สามารถทำกำไรตอบแทนนักลงทุนได้มากนัก ราคาหุ้นจึงค่อยๆ ลงมาเหลือไม่ถึง 2 ปอนด์

จนกระทั่งในปี 1998 มีข่าวว่า Rupert Murdoch จะเข้ามาเทคโอเวอร์เป็นเจ้าของทีมฟุตบอล ราคาหุ้นก็เลยพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึงขั้น +30% ภายในวันเดียว

แต่น่าเสียดายสำหรับนักลงทุน ที่การเข้าเทคโอเวอร์โดนสั่งห้ามจากหน่วยงานด้านการผูกขาดของอังกฤษ ทำให้ไม่นานนักราคาหุ้นก็กลับมาอยู่ที่เดิม

ถึงแม้สโมสร Manchester United จะประสบความสำเร็จอย่างสูง เช่นการคว้าแชมป์ 3 แชมป์หลักในปี 1999 หรือมีซูเปอร์สตาร์สุดหล่ออย่าง David Beckham มาเรียกเงินเข้าสโมสร

แต่นั่นก็ไม่ช่วยให้สโมสรทำกำไรจนดึงดูดนักลงทุนแต่อย่างใด

 

Rupert Murdoch ที่เกือบเป็นเจ้าของทีม

 

จนกระทั่งผ่านมาถึงปี 2004 หุ้นของ Manchester United กลับมาพุ่งขึ้นอีกครั้ง เมื่อมีข่าวว่า Malcolm Glazer นักธุรกิจอเมริกันจะเข้ามาเทคโอเวอร์ทีม

ปรากฏว่าครั้งนี้ราคาหุ้นพุ่งไปซื้อขายที่ 2.99 ปอนด์

และช่างบังเอิญเหลือเกินว่า ราคาที่กลุ่มทุน Glazer ตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นเพื่อเอาออกจากตลาดนั้น อยู่ที่ 3 ปอนด์พอดี

ซึ่งนักลงทุนที่มีหุ้นส่วนน้อย มักจะเลือกขายออกไป เพราะการถือหุ้นบริษัทนอกตลาด เป็นอะไรที่ยุ่งยากพอสมควร

 

มาถึงจุดนี้ ถ้าใครถือหุ้นมาตั้งแต่เข้าตลาดใหม่ๆ และมาขายตอนนี้ จะต้องทนถือหุ้นนานถึง 14 ปี แล้วสุดท้ายก็จะขาดทุนอยู่ราวๆ 64%

ส่วนใครที่บังเอิญมาซื้อตอนที่มีข่าว Murdoch เทคโอเวอร์ แล้วมาขายออกตอน Glazer รับซื้อ ก็จะได้กำไรประมาณ 40% ในช่วงเวลา 7 ปี

หรือคิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นต่อปี ที่ปีละ 4.94% ต่อปี ก็คงไม่แย่นักเมื่อเทียบกับการฝากเงินหรือพันธบัตรรัฐบาล

แต่ถ้าเทียบกับการลงทุนในหุ้นที่คนคาดหวังผลตอบแทน 8-20% ต่อปีล่ะก็.. การลงทุนซื้อหุ้น Manchester United รอบแรก นั้นไม่ดีเท่าไร

 

Malcolm Glazer เจ้าของคนปัจจุบัน

 

เราข้ามมายังปี 2012 ในการเข้าซื้อขายที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กกันบ้าง

Manchester United เข้าซื้อขายที่ราคา 14 ดอลลาร์ต่อหุ้น แล้วก็เหมือนกับผลงานของทีมที่ลุ่มๆ ดอนๆ ราคาหุ้นตัวนี้ ก็ลุ่มๆ ดอนๆ ไม่ต่างกัน

ราคาหุ้นขึ้นไป 18 ดอลลาร์ แล้วไม่นานนักก็ตกลงมา 15 ดอลลาร์

สักพักก็ขึ้นไป 18 ดอลลาร์อีกครั้ง แล้วก็ตกลงมาเหลือ 12 ดอลลาร์

จะมีช่วงเวลาที่ดีหน่อยสำหรับนักลงทุน ก็คือในช่วงกลางปี 2018 ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปถึง 26 ดอลลาร์

นั่นเป็นเพราะผลประกอบการในปี 2017 ทำได้ดีมาก บริษัทแห่งนี้มีกำไร 1,500 ล้านบาท

มากกว่าปี 2016 ที่ได้ราวๆ 1,200 ล้านบาท ผลักดันให้หุ้นไปซื้อขายกันที่ P/E ราวๆ 80 เท่า

แต่พอผลประกอบการปี 2018 ออกมาเป็นขาดทุน ราคาหุ้นก็มูฟออนเป็นวงกลม กลับมาที่เดิมอีกครั้ง

จนกระทั่งล่าสุด หลังการขึ้นของหุ้น +6% ในวันเดียวจากข่าว Ronaldo หุ้นของ Manchester United ก็มีราคา 18.29 ดอลลาร์

ซึ่งพอเทียบกับราคา IPO ที่ 14 ดอลลาร์เมื่อ 9 ปีก่อน เราก็จะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นต่อปีที่ประมาณ 3.01%

หรือพูดง่ายๆ ว่าเงินลงทุน 100,000 บาทในวันนั้น จะกลายเป็นเงิน 13,000 บาทในวันนี้ ซึ่งพอๆ กับการซื้อพันธบัตรรัฐบาลเท่านั้นเอง

 

นี่ยังไม่รวมถึงความปวดหัวที่คุณจะต้องเผชิญจาก…

ความอินดี้ของ Louis van Gaal

ความโวยวายของ José Mourinho

หรือความนิ่งเกินไปของ Ole Gunnar Solskjær ที่ทำแฟนบอลหลายคนกุมขมับ

(อ่อ เราลืมพูดถึง David Moyes เหรอ… ช่างมันละกัน!!)

 

จากข้อมูลเหล่านี้ เราจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา “ความสำเร็จ” ของสโมสรฟุตบอล ก็ไม่ได้มีผลอะไรกับราคาหุ้นในตลาดหุ้นมากนัก

อันที่จริง สิ่งที่ทำให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นอย่างชัดเจน น่าจะเป็นความคาดหวังของตลาดในช่วงเวลาต่างๆ เสียมากกว่า

ทำให้เราก็พอจะสรุปได้ว่า.. สำหรับสโมสรฟุตบอลที่อยู่ในตลาดหุ้นแล้วล่ะก็ ประวัติศาสตร์บอกว่าเป็นการลงทุนที่ “ไม่คุ้มค่า” เอาซะเลย

 

ราคาหุ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

 

เว้นเสียแต่ว่า… คุณจะลงทุนเป็นเจ้าของ เข้าไปควบคุมบริหารด้วยตัวเอง แล้วพัฒนาสโมสรให้สำเร็จได้

ยกตัวอย่างเช่น กรณีของการเข้าซื้อสโมสร Manchester City ของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร แล้วขายต่อได้กำไรภายในปีเดียว

กลุ่มทุนที่ซื้อต่อ ก็สามารถพัฒนาให้กลายมาเป็นสโมสรชั้นนำในอังกฤษ สร้างรายได้และมูลค่าทีมที่เพิ่มมากขึ้น

หรือกรณีที่คุ้นหูคนไทยก็คือทีม Leicester City ซึ่งกลุ่มทุนไทยสามารถปลุกปั้นทีมระดับรองในอังกฤษ ให้ขึ้นมาเป็นทีมชั้นนำของประเทศได้สำเร็จเช่นกัน

ซึ่งในเคสเหล่านี้ ก็เป็นตัวอย่างของสโมสรฟุตบอลที่อยู่นอกตลาดหุ้นทั้งสิ้น แล้วเจ้าของก็มีสิทธิ์ในการบริหารอย่างเต็มที่ เพื่อรับความสำเร็จแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยอีกด้วย

 

สุดท้ายนี้..

ในเมื่อเป้าหมายสูงสุดของธุรกิจนี้ไม่ใช่ “ผลกำไร” แต่คือ “ความสำเร็จ” สำหรับนักลงทุนรายย่อยอย่างเรา การลงทุนกับสโมสรฟุตบอลสำหรับคนทั่วๆ ไป จึงอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก

แต่หากเราจะซื้อหุ้นสโมสรฟุตบอลที่เรารัก แล้วมีผลในแง่จิตใจ รู้สึกว่าได้มีส่วนเป็น “เจ้าของร่วม” ของสโมสรอย่างแท้จริงล่ะก็ มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเลย…

 

 

ที่มา:

www.forbes.com/sites/chrissmith/2012/08/10/manchester-united-ipo-history-says-dont-buy/

https://companiesmarketcap.com/manchester-united/marketcap/

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...