Facebook
Twitter
LINE

การสานต่องานของ Steve Jobs และแบกรับความคาดหวังของแฟนคลับทั่วโลก ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะทำกันได้ง่ายๆ…

 

ย้อนกลับไปในปี 1998 หลังจากการพูดคุยกันของ Steve Jobs และ Tim Cooks ในเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 5 นาที

นั่นทำให้ Tim รู้สึกว่าเขาจำเป็นต้องเลือกระหว่างทำงานกับบริษัทคอมพิวเตอร์ Compaq ต่อ หรือย้ายไปทำงานกับ Apple ที่เสนองานใหม่ให้

สุดท้ายเขาตัดสินใจเปลี่ยนงาน หลังจากคิดจนมั่นใจว่านี่คือโอกาสเดียวของชีวิต และคนอย่าง Steve เป็นคนพิเศษที่ควรค่าแก่การทำงานด้วย

ช่วงแรกของการทำงานกับ Apple นั้น Tim จะรับหน้าที่ในการดูแลงานระหว่างประเทศ ซึ่งเขาก็แสดงถึงแนวคิดของเขาที่ “กล้าเปลี่ยนแปลง” มาตั้งแต่ช่วงแรก

ไม่ว่าจะเป็น..

การตัดสินใจปิดโรงงานผลิต แล้วเปลี่ยนไปใช้การจ้างบริษัทอื่นผลิตแทน ซึ่งกลายมาเป็นแนวทางหลักของ Apple ในเวลาต่อมา

การทำสัญญาระยะยาวกับผู้ผลิตเมมโมรี่ เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าอย่าง iPod หรือ iPhone จะผลิตได้ตามความต้องการของตลาด

และอีกจุดเด่นของเขาก็คือความสามารถในการบริหารต้นทุน ซึ่งทำให้ Apple มีสัดส่วนกำไรที่ดียิ่งขึ้น

ในด้านการทำงาน เขาก้าวหน้าขึ้นอย่างชัดเจน เลื่อนตำแหน่งมาเรื่อยๆ

จนกระทั่งในปี 2009  ซึ่งเขาได้รับหน้าที่สำคัญ ในการบริหารบริษัท โดยจะทำหน้าที่เหมือนกับซีอีโอ จัดการเรื่องราวต่างๆ ในทุกวัน

ในขณะที่ Steve ซีอีโอตัวจริงซึ่งมีปัญหาด้านสุขภาพ ก็จะเป็นผู้ตัดสินใจในสิ่งสำคัญๆ ของบริษัทเท่านั้น

จนในที่สุด Tim Cook ก็ขึ้นเป็นซีอีโออย่างเป็นทางการในวันที่ 24 สิงหาคม 2011 ไม่นานหลังจากนั้น Steve Jobs ก็เสียชีวิตลงในเดือนตุลาคม

 

 

ท่ามกลางข้อสงสัยที่ว่า หลังจากหมดยุคของเขาไปแล้ว Apple จะประสบความสำเร็จต่อไปได้หรือไม่?

พอเป็นหัวเรือหลักอย่างเต็มตัว ดูเหมือนว่าแนวคิด “กล้าเปลี่ยนแปลง” รวมถึงการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ที่เป็นจุดเด่นของเขานั้น จะยังคงถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง

ในปี 2012 เมื่อรายได้ของบริษัทไม่เป็นไปตามเป้าในไตรมาส 3 เขาตัดสินใจโยกย้ายตำแหน่งของพนักงานระดับสูงทันที

ตามมาด้วยการคิดต่างจาก Steve ที่บางครั้งชอบที่จะเอา “คนคิดต่าง” มาทำงานใกล้ตัว เพราะมองว่าความเห็นที่ต่างกัน จะช่วยคิดค้นไอเดียใหม่ๆ ได้

Tim มีการปรับเปลี่ยนให้พนักงานใกล้ตัวเขา แชร์แนวคิดที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางข้อครหาที่ถูกมองว่าเป็นการบีบให้พนักงานบางคนลาออก

ถึงขั้นที่ในปี 2014 เขากลายเป็นข่าวดัง เพราะบอกกับผู้ถือหุ้นว่าจะต้องเข้าใจในแนวคิด “ยั่งยืนและลดปัญหาโลกร้อน” ที่ Apple กำลังทำอยู่ ถ้าใครไม่พอใจที่บริษัทเอาเงินไปละลายกับตรงนี้ ก็ขายหุ้นทิ้งไปได้

ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่บ่อยครั้งนัก ที่เราจะได้เห็นผู้บริหารพูดกับผู้ถือหุ้นแบบนั้น..

หรือในปี 2016 เมื่อมีปัญหาบริการของ Apple บางอย่างถูกปิดการเข้าถึงในจีน Tim ก็ลงทุนบินไปจีน เพื่อพบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล เพื่อเคลียร์ในเรื่องดังกล่าวทันที

ยังไม่รวมถึงสินค้าอย่าง Apple Watch หรือ Airpods ซึ่งบางส่วนบอกว่านี่ก็คือสินค้าใหม่ในยุคของ Tim ที่ควรจะให้เครดิตเขาเช่นกัน

 

กระทั่งผ่านมา 10 ปี ภายใต้การบริหารงานของ Tim Cook นั้น…

Apple รายได้เติบโตขึ้นมาจาก 3 ล้านล้านในปี 2011 สู่รายได้เกือบ 9 ล้านล้านบาท ในปี 2020 ที่ผ่านมา

กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นมา 2 เท่าในช่วงสิบปีหลัง แม้จะค่อนข้างชะลอตัวใน 2-3 ปีล่าสุดก็ตาม

ในขณะที่มูลค่าบริษัท เติบโตขึ้นต่อเนื่องจากราวๆ 10 ล้านล้านบาท มาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกตอนนี้ที่ 80 ล้านล้านบาท

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Tim นั้นเป็นหัวเรือที่นำพา Apple ก้าวผ่านยุคสมัยแห่งเทคโนโลยี เข้าสู่ยุคใหม่ได้อย่างยิ่งใหญ่ บริหารบริษัทที่ดีอยู่แล้ว ให้ดียิ่งกว่าเดิมไปอีก

 

อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีเสียงครหาด้วยเหตุผลหลักๆ สองข้อ อย่างแรกคือรากฐานของ Apple ที่ Steve วางไว้อย่างดีเยี่ยมมากๆ

และอย่างที่สองก็คือการเติบโตของธุรกิจเทคโนโลยี ที่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา Apple ก็โตไปพร้อมกับกระแสนี้ด้วยเช่นกัน

บางส่วนยังคงมองว่าเวลาเท่านี้ยังไม่เพียงพอ และอาจจะต้องรอหลังจากผ่านยุคของ iPhone ไปแล้ว เราจึงจะเห็นคำตอบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น..

เพราะฉะนั้นคำถามที่ว่า ตัว Tim นั้นก้าวออกจากเงาของ Steve Jobs แล้วหรือยัง? จึงยังคงเป็นสิ่งที่หลายคนต่างที่คิดต่างกัน ก็จะมองต่างมุมกันไป และใช้เหตุผลมาสนับสนุนความคิดตัวเอง

แล้วสำหรับคุณเองล่ะครับ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คิดว่าเขาก้าวพ้นเงาได้แล้วหรือยัง…?

 

 

ขอปิดท้ายด้วยขอความหนึ่งที่ Warren Buffett ยอดนักลงทุนชื่อดัง ที่หลายคนพอจะรู้กันว่าเขาไม่นิยมชื่นชอบหุ้นธุรกิจเทคโนโลยีเท่าไรนัก

แต่ในปี 2015 บริษัทลงทุนของเขาตัดสินใจเข้าซื้อ Apple และมันก็กลายมาเป็นหุ้นที่มีมูลค่ามากที่สุดในพอร์ตการลงทุนของเขาในปัจจุบัน

Buffett เคยกล่าวชื่นชมถึง Tim Cook ในด้านทัศนคติของเขา ที่ทำให้ประสบความสำเร็จเช่นทุกวันนี้

“Tim อาจจะไม่สามารถดีไซน์สินค้าได้อย่างที่ Steve ทำ”

“แต่ตลอด 60 ปีแห่งการลงทุนของผม ผมพบว่า Tim เป็นคนที่เข้าใจโลกอย่างมาก มากถึงระดับที่มีเพียงซีอีโอแค่ไม่กี่คนบนโลก ที่เข้าถึงจุดนั้นได้…”

 

 

ที่มา:

markets.businessinsider.com/news/stocks/warren-buffett-berkshire-hathaway-apple-ceo-tim-cook-global-knowledge-2021-2

https://www.vox.com/2017/12/6/16680754/tim-cook-recode-100-apple-ceo

https://economictimes.indiatimes.com/magazines/panache/steve-jobs-set-the-bar-high-at-apple-but-tim-cooks-9-yr-stint-as-ceo-shows-hes-creating-his-own-legacy/articleshow/77737881.cms

https://en.wikipedia.org/wiki/Tim_Cook

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...