Facebook
Twitter
LINE

ในยุคปัจจุบัน แทบทุกประเทศนั้นมีตลาดหุ้นเป็นของตัวเอง

ซึ่งตลาดหุ้นในยุคนี้ นอกจากจะใช้เป็นสถานที่ระดมทุนให้กับบริษัทได้แล้ว ยังเป็นสถานที่สร้างความร่ำรวย (และทำยากจน) ของใครหลายๆ คนอีกด้วย

แต่สงสัยไหมว่า.. ทำไมจึงเกิดสถานที่ที่เรียกว่า “ตลาดหุ้น” ขึ้นมาได้? แล้วตลาดหุ้นแห่งแรกของโลก ตั้งอยู่ที่ไหนกัน?

 

เรื่องนี้ ต้องเล่าย้อนกลับไปราวๆ 400 ปีก่อน

หลายคนน่าจะพอเคยได้ยินชื่อของ Dutch East India Company บริษัทที่ครั้งหนึ่งเคยค้าขายทางเรือ จนสร้างความร่ำรวยและมีมูลค่ามากที่สุดในโลก

ในยุคนั้น การเดินทางจากยุโรป อ้อมแอฟริกา มาค้าขายยังเอเชีย เต็มไปด้วยความเสี่ยง ทั้งเรื่องของสภาพอากาศ ที่ต้องมีเรือคุณภาพสูง ทั้งเรื่องของโจรตามรายทาง ที่ต้องมีทีมคุ้มกันเรือที่ดี

ซึ่งนั่นก็ทำให้เกิดปัญหาตามมาว่า การจะลดความเสี่ยงให้น้อยลง ก็ต้องอาศัยเงินลงทุนในเรื่องของเรือและการเดินทางที่สูงมาก

เพราะฉะนั้น ถ้ากลุ่มพ่อค้าแยกกันทำธุรกิจ ก็คงไม่มีเงินพอลงทุน ทำให้แบกรับความเสี่ยงสูง และอาจไม่คุ้มค่า

เหล่าพ่อค้าชาวดัตช์ ก็เลยร่วมมือกันออกเงินทุนกันเพื่อให้ได้เงินก้อนใหญ่ แล้วแบ่งผลประโยชน์กันตามสัดส่วนเงินลงทุน

แต่แค่ลงทุนกันในวงแคบๆ ไม่สามารถระดมทุนได้มากพอ เหล่านักลงทุนแห่ง Dutch East India Company จึงเลยมีแนวคิดในการเปิดระดมทุนที่ใหญ่ขึ้น

ในปี 1602 จึงมีการเปิดขาย “หุ้น” ของบริษัทออกเสนอขายให้กับคนมีเงินในเมืองอัมสเตอร์ดัม เปิดให้คนที่สนใจมาร่วมเป็นเจ้าของส่วนแบ่งผลประโยชน์

สมมติแบ่งหุ้นเป็น 1,000,000 ส่วน ใครสนใจมาซื้อก็เอาเงินมาเข้าร่วม แล้วมีการออก “ใบหุ้น” ยืนยันสิทธิ์ว่าคนที่ซื้อนั้นมีส่วนความเป็นเจ้าของในการเดินทาง

 

 

แต่การเดินทางด้วยเรือสินค้านั้น กินเวลาหลายเดือน…

บางคนที่เคยลงทุนไปแล้ว มีความจำเป็นต้องใช้เงิน ก็อาจจะขายสิทธิ์ หรือหุ้นนั้นต่อให้กับคนอื่นๆ

บางคนที่มาลงทุนรอบแรกไม่ทัน แต่คิดว่าการค้าขายรอบนี้จะได้กำไรดี ก็มาขอซื้อสิทธิ์ต่อจากคนที่ซื้อหุ้นรอบแรก

พอมีการซื้อขายสิทธิ์เหล่านี้มากขึ้น ทั้งคนที่ต้องการจริงๆ ทั้งคนที่เก็งกำไรจากส่วนต่าง จึงมีการเปิดพื้นที่สำหรับทำการซื้อขายสิทธิ์ในหุ้นเหล่านั้น

และนั่นก็ทำให้เกิดตลาดหุ้นแรกของโลก Amsterdam Stock Exchange ขึ้นมา…

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นในตอนนั้นไม่ได้เหมือนตลาดหุ้นไทยปัจจุบัน ที่มีหุ้นหลายร้อยบริษัท มาให้เราได้เลือกเป็นเจ้าของ

เพราะความเป็น “บริษัทมหาชน” ยังไม่ได้รับความนิยมนัก

ส่วนใหญ่จึงจะเป็นการต่อรองราคาสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกลือ ธัญพืช ไม้ ถ่านหิน หรือกระทั่งเครื่องเทศ เสียมากกว่า

 

 

หลังจากแนวคิดของการร่วมทุนดังกล่าว ได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่ชาวดัตช์ มันก็ถูกส่งต่อไปยังประเทศใกล้เคียงอย่างอังกฤษ

กลุ่มพ่อค้าในลอนดอนเริ่มรู้จักการร่วมทุน สิทธิประโยชน์จากหุ้นของบริษัท และเริ่มมีการซื้อขายสิทธิ์ในหุ้นเหล่านั้น

พวกเขาจึงรวมตัวกันที่ร้านชาแห่งหนึ่งในปี 1773 เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการตกลงซื้อขายสิทธิ์ในบริษัท รวมไปถึงการเก็งกำไรราคาของสินค้าต่างๆ

พอการซื้อขายเหล่านี้ได้รับความนิยมมากขึ้น ร้านชาก็กลายเป็นสถานที่ซึ่งทุกคนรู้กันว่าสามารถมาซื้อสิทธิ์กิจการ หรือเก็งกำไรในสิทธิ์นั้นกันได้ที่นี่

จนกระทั่งในที่สุด เมื่อร้านชาไม่สามารถรองรับปริมาณคนซื้อขายหุ้นได้อย่างเพียงพอ กลุ่มพ่อค้าจึงตัดสินใจสร้างพื้นที่แห่งใหม่

และเปลี่ยนสถานที่ดังกล่าวให้กลายเป็น “ตลาดหุ้นลอนดอน” ซึ่งกว่าจะเปิดอย่างเป็นทางการ ก็คือในปี 1801 แล้ว

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ตลาดหุ้นลอนดอนจะเปิดอย่างเป็นทางการนั้น แนวคิดดังกล่าวถูกส่งต่อมายังประเทศในอาณานิคมอังกฤษ หนึ่งในนั้นคือ “สหรัฐอเมริกา” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยเริ่มต้นจากตลาดหุ้นในเมืองฟิลาเดเฟีย ในปี 1790

จากนั้นในอีก 2 ปีถัดมา เมืองใกล้เคียงอย่างนิวยอร์ก ก็รับแนวคิดดังกล่าวมา นำไปสู่การเปิดพื้นที่ซื้อขายหุ้นตรงมุมถนน Wall Street ในปี 1792

ซึ่งตอนนั้นคงจะไม่มีใครคิดว่า ตลาดหุ้นเล็กๆ ในประเทศอาณานิคมแห่งนี้จะได้รับความนิยมมากขึ้น และกลายมาเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินของโลกยุคปัจจุบัน ได้ในที่สุด..

 

 

ที่มา:

The VOC and Amsterdam’s first exchange building

www.quora.com/Who-created-the-stock-market-1

www.quora.com/Which-is-considered-as-the-oldest-stock-exchange-in-the-world

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...