Facebook
Twitter
LINE

การเดินทางด้วยเครื่องบิน จะเปลี่ยนไปแค่ไหนหลังวิกฤติโควิด-19 !?

หลายสายการบินในไทย กลับมาให้บริการบินในประเทศอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ผมเองก็มีธุระสำคัญที่ต้องเดินทางด้วยเครื่องบินพอดี ด้วยการเดินทางกับ AirAsia เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่

จึงอยากจะถือโอกาสเขียนรีวิวถึงการเดินทางแบบ New Normal ว่าในสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ การโดยสารเครื่องบินนั้นเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนครับ…

 

 

เริ่มต้นจากสนามบินดอนเมือง

ผมเดินทางไปที่สนามบินดอนเมือง โดยเผื่อเวลาไว้ประมาณ 3 ชั่วโมง เพราะเตรียมใจไว้ว่าอาจจะต้องต่อคิวยาวและตรวจหลายขั้นตอน

ซึ่งปรากฏว่า.. ผมคาดการณ์ผิดไปนิดหน่อย

บรรยากาศของสนามบินนั้นค่อนข้างเงียบเหงา ต่างจากดอนเมืองที่ผมเคยรู้จัก

ทางเข้าสนามบินจะเปิดให้ใช้บริการเพียงบางประตูเท่านั้น และเมื่อคุณเดินเข้าสู่สนามบิน จะต้องผ่านกล้องตรวจวัดอุณหภูมิ ที่มีระบบตรวจจับใบหน้า-แสดงอุณหภูมิร่างกาย

บังเอิญคุณป้าที่เดินตามหลังผมถูกกล้องตรวจจับว่าตัวร้อน เจ้าหน้าที่ก็จะเข้ามาวัดไข้ซ้ำอีกครั้ง

 

จากนั้นผมก็เลยตรงดิ่งไปยังเคาน์เตอร์เช็คอินของ AirAsia ซึ่งผมอาจจะมาเร็วกว่าคนอื่น ปรากฏว่าไม่มีใครมาต่อคิวก่อนหน้าเลย

หลังจากเช็คอินและโหลดกระเป๋าเรียบร้อย ในใจก็คิดอยากจะกินไก่บอนชอนเพราะไม่ได้กินนานแล้ว

แต่หลังจากสอบถามกับพนักงาน เธอบอกผมว่าศูนย์อาหารด้านนอกนั้นปิดไม่ให้นั่งกิน พร้อมกับแนะนำให้เข้าไปด้านในแทน

ผมจึงเดินเข้าไปในเกต ผ่านการตรวจค้นและสแกนกระเป๋าที่มีคนอยู่ข้างหน้าเพียงคิวเดียวเท่านั้น ไม่ได้ต่อแถวยืดยาวเหมือนที่คาดเอาไว้

ด้านในเกตก็เงียบเหงามาก ร้านขายของใช้ไม่เปิดให้บริการ จะมีเพียงแต่ร้านเครื่องดื่มและของกินบางร้านเท่านั้น

ผมเดินเลี้ยวขวา แล้วก็แวะที่ Starbucks เพราะตอนนั้นร่างกายกำลังต้องการคาเฟอีน เพื่อให้สามารถทำงานส่งลูกค้าได้

(Amazon ข้างนอกมันนั่งไม่ได้ไงครับ -*-)

ภายในร้านมีสัญลักษณ์ระบุเอาไว้ว่าให้นั่งแบบเว้นที่อย่างชัดเจน ตามนโยบาย Social Distancing ผมก็เลยเข้าไปนั่งหลบมุม พร้อมกับยกคอมพิวเตอร์ขึ้นมานั่งพิมพ์งานต่อ

สักพักหนึ่งจึงลุกจากร้าน เพราะกินกาแฟจนหมดแล้ว (ต้องรีบดูด ปล่อยไว้นานไม่ได้ หลอดมันจะเปื่อยซะก่อน ^^)

เนื่องจากเที่ยวบินน้อย พื้นที่หน้าเกตหลายๆ เกตที่ไม่มีเครื่องบินมาเทียบ ก็เลยกลายเป็นพื้นที่ร้าง

ยังดีที่บรรยากาศตรงหน้าเกตของผมนั้นดูพลุกพล่านขึ้นมาหน่อย แต่จะเห็นได้ว่าผู้คนนั่งแบบรักษาระยะห่างกันอย่างชัดเจน

พอพนักงานประกาศเรียกขึ้นเครื่อง ซึ่งก็จะเรียกขึ้นทีละโซน พร้อมประกาศย้ำอยู่ตลอดว่าให้ยืนเข้าแถวแบบรักษาระยะห่าง

ระหว่างเข้าแถว มีพนักงานมาตรวจวัดไข้ซ้ำเป็นครั้งสุดท้ายก่อนขั้น กับพนักงานอีกคนที่จะคอยกดเจลล้างมือ เป็นการบังคับให้ทุกคนล้างมือก่อนที่จะยื่นตั๋วขึ้นเครื่องให้กับพนักงาน

 

ระหว่างโดยสารเครื่องบิน

แม้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน จะไม่ได้ใส่เครื่องป้องกันแบบจัดเต็มเท่ากับในภาพประกอบ ซึ่งเป็นชุดต้นแบบจากทาง AirAsia ประเทศฟิลิปปินส์

แต่พนักงานต้อนรับของ AirAsia ในไทยก็ป้องกันตัวเองมากพอสมควร พวกเธอมาในชุดเครื่องแบบสีแดงที่เราคุ้นตา พร้อมกับสวมถุงมือ หน้ากากอนามัย และสวมเฟซชิลด์ป้องกันตัวเอง

(อ้อ.. ภายใต้หน้ากากและเฟซชิลด์นั้น ก็ยังสามารถมองเห็นรอยยิ้มและสายตาอันน่ารักเช่นเคยครับ)

แน่นอนว่า ผู้โดยสารจะถูกเว้นระยะให้นั่งห่างกัน โดยเว้นแถวที่นั่งตรงกลางเอาไว้ พร้อมกับประกาศให้ผู้โดยสารที่ระบบอาจจะบังเอิญให้นั่งติดกัน แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อจัดหาที่ว่างใหม่ให้

แถมก่อนบิน ทางลูกเรือยังมีการเดินตรวจอย่างเคร่งครัด ว่าผู้โดยสารแอบขยับมานั่งติดกันรึเปล่า!?

 

บนเที่ยวบินจะไม่มีการจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม หรือของที่ระลึกอย่างที่เคยเป็นก่อนเหตุการณ์โรคระบาด

โชคดีที่ว่า ผมเองได้นั่งริมหน้าต่าง และนอกจากที่นั่งตรงกลางที่เว้นว่างแล้ว ที่นั่งริมทางเดินก็ไม่มีคนนั่งเช่นกัน

นั่นทำให้ตลอดระยะเวลาเกือบชั่วโมงที่ผมนั่งอยู่บนเครื่อง สามารถดื่มด่ำกับหนังที่ดาวน์โหลดดูแบบออฟไลน์ใน Netflix พร้อมยืดแขนขาได้อย่างสบายไม่อึดอัด

 

เมื่อถึงปลายทางที่สนามบินเชียงใหม่

เมื่อเครื่องถึงสนามบินปลายทาง เราจะไม่ได้แย่งกันลงจากเครื่องบินในรูปแบบเดิมแล้ว

พนักงานต้อนรับจะประกาศออกไมค์เลยว่าให้ผู้โดยสารทยอยออกไปทีละแถว

ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้จะมีคนนั่งแถว A C D F  (ส่วนแถว B และ E เป็นแถวกลางที่เว้นเอาไว้)

ผู้โดยสารแถว C จะได้ลุกขึ้นหยิบกระเป๋า แล้วเดินลงจากเครื่องก่อน

ตามมาด้วยผู้โดยสารแถว D ลงจากเครื่องไปจนหมด

ตามมาด้วยผมซึ่งเป็นผู้โดยสารแถว A  จากนั้นจึงตามด้วยผู้โดยสารแถว F เป็นแถวสุดท้าย

ซึ่งขั้นตอนตรงนี้ผมมองว่ามันน่าสนใจดี เพราะอย่างน้อยก็ได้ช่วยให้ผู้โดยสารแถวอื่นๆ ไม่ต้องมาใกล้ชิดกัน และยังเพื่อความเป็นระเบียบตอนลงเครื่องได้อีก

(ระหว่างการลงเครื่อง พนักงานจะประกาศตลอดว่าให้รักษาระยะห่างกับคนข้างหน้าไว้ด้วย)

 

พอลงจากเครื่องบินมา เราก็จะต้องเดินผ่านเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิที่สนามบินเชียงใหม่อีกครั้ง พร้อมกับต้องยื่นเอกสารที่กรอกแล้วให้กับเจ้าหน้าที่ว่า เราเดินทางมายังไง แล้วจะไปพักอยู่ที่ไหน

ในส่วนหลังนี้ ผมมีข้อสังเกตเล็กน้อยก็คือ สำหรับคนที่ไม่ได้พก “ปากกา” ในการเดินทาง (รวมถึงผมเองด้วย) เจ้าหน้าที่จะจัดโต๊ะเอาไว้ให้นั่งกรอกเอกสาร

แต่โต๊ะดังกล่าว ไม่ได้มีการแบ่งล็อกกั้น หรือมีใครคอยทำความสะอาดปากกาเลย พอคนหนึ่งกรอกเสร็จ อีกคนก็จะมาหยิบปากกาไปกรอกต่อ

เท่ากับว่าอาจจะทำให้การเว้นระยะห่างที่ทำมาทั้งหมด มาติดต่อกันที่โต๊ะนี้ก็เป็นได้

 

หลังจากนั้นผมก็รับกระเป๋าที่สายพาน ซึ่งจุดนี้ก็ไม่มีใครมาคอยดูว่าผู้โดยสารจะยืนใกล้กันหรือไม่

หลังจากรับกระเป๋าแล้วผ่านประตูทางออก จะมีเจ้าหน้าที่(ซึ่งคาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข) มายืนแจกใบปลิวชี้แนะการปฏิบัติตัว ว่าหลังจากนี้ควรทำอย่างไร

รวมถึงแนะนำให้รายงานสุขภาพในแอปทุกวัน พร้อมกักตัว 14 วันอีกด้วย

 

ในขณะที่ผมเขียนบทความรีวิวอยู่นี้ ครบ 7 วันที่ผมได้เดินทางด้วยเครื่องบินพอดี สำหรับแฟนๆ ที่เป็นห่วงผม ก็สบายใจได้ว่าตอนนี้ผมยังไม่มีอาการอะไร ยังคงกักตัวเอง และเขียนบทความให้อ่านได้อย่างเป็นปกติ

(ถามรึยัง ว่าใครเป็นห่วงเอ็ง!?)

หวังว่าบทความรีวิวนี้ จะทำให้ผู้อ่านหลายคน เห็นภาพของการเดินทางด้วยเครื่องบินในสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้กันมากยิ่งขึ้นนะครับ

สำหรับคุณเอง คิดว่าในอนาคตการโดยสารสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน รถทัวร์ หรือรถไฟ จะเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด ลองมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้เลยครับ…

 

 

ติดตาม Billion Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionmindset.ig/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/Billion_Twit

– ติดตามเพจ Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...