Facebook
Twitter
LINE

ทำไมคนเรามีรถ 1 คันแล้ว ยังอยากจะมีรถสวยๆ เพิ่มอีกสักคันหนึ่ง!?

ทำไมธุรกิจที่ทำกำไรได้ในปีนี้ อยากจะทำกำไรให้มากกว่าเดิมในปีหน้า!?

ทำไมคนที่มีของกินตุนไว้หนึ่งสัปดาห์ ยังต้องไปหยิบจาก “ตู้ปันสุข” ที่ตั้งเอาไว้ให้คนที่ไม่มีกินด้วย!?

เรื่องดังกล่าวอาจจะฟังดูไม่ค่อยเกี่ยวกัน แต่นักเศรษฐศาสตร์สามารถอธิบายได้ด้วยหลักการ “ความไม่รู้จักพอ” ที่มีอยู่ในเผ่าพันธุ์มนุษย์ตั้งแต่เราถือกำเนิดขึ้น

 

ปกติเวลาเราพูดถึงความโลภหรือความไม่รู้จักพอ เราก็มักจะโยงไปแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ เท่านั้น

แต่อ้างอิงจากงานเขียนของ Richard Taflinger แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตท ระบุว่าเงินทองเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะเงินทองสามารถนำไปซื้อ “ทรัพยากร” ได้

มนุษย์มีความไม่รู้จักพอในทรัพยากรมาตั้งแต่ยุคโบราณ ตั้งแต่สมัยที่ทรัพยากรสำคัญก็คือ “อาหาร” ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ

นำมาซึ่งการรวมกลุ่มกันของมนุษย์ เพื่อทำให้สามารถหาอาหารได้ง่ายขึ้น

แม้จะมีอาหารเพียงพอ มีพื้นที่เพาะปลูกเพียงพอในระยะสั้นๆ แต่มนุษย์ก็ยังคงไม่หยุดแค่นั้น

เกิดการแย่งพื้นที่ล่าอาหาร ระหว่างมนุษย์ต่างพวก ถึงขั้นนำไปสู่การสู้รบ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่าสุดท้ายแล้วพวกของตน จะมีอาหารเพียงพอต่อการดำรงชีวิตให้ได้นานที่สุด

ผ่านมาหลายยุค ทรัพยากรที่จำเป็นของมนุษย์ก็ค่อยๆ เปลี่ยนสภาพไปตามยุคสมัย

แต่สิ่งหนึ่งที่ยังอยู่คู่กับมนุษย์ก็คือ.. การแสวงหาทรัพยากรให้ตัวเองอย่างไม่รู้จักพอ

แต่นั่นก็อาจจะไม่ใช่เรื่องผิดอะไร!?

 

เพราะมีงานวิจัยหนึ่งจากมหาวิทยาลัยครูปักกิ่ง มองว่า “ความโลภ” ของมนุษย์นั้นเปรียบเสมือนดาบสองคม

ในทางหนึ่ง หากมนุษย์ไม่มีความโลภ หรือไม่อยากได้อยากมีมากกว่าคนอื่น เราก็จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความอยากก้าวหน้า ไม่มีไฟในการทำงาน ซึ่งนำมาสู่การพัฒนาในด้านต่างๆ

อย่างไรก็ตาม การที่มีความโลภอย่างเหมาะสม จะทำให้เกิดการแข่งขันในการทำงาน และช่วยให้ประสิทธิภาพงานออกมาดีขึ้น

แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือ ความโลภที่มากเกินไป โดยไม่มีการควบคุมอย่างเหมาะสม จะนำมาซึ่งปัญหาอันยุ่งเหยิง อย่างที่เราเคยเห็นในวิกฤติการเงินหลายๆ ครั้ง

 

หากจะยกตัวอย่างวิกฤติการเงินที่ใกล้ตัวคนไทยอย่าง “ต้มยำกุ้ง” สะท้อนความโลภของมนุษย์ในสังคมอย่างชัดเจน

เมื่ออัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยตอนนั้น อยู่ที่ประมาณ 14-17%

ขณะที่ดอกเบี้ยต่างประเทศ อยู่ที่ประมาณ 5%

ช่องทางทำเงินที่ง่ายก็คือ การกู้เงินจากต่างประเทศ มาปล่อยกู้ต่อภายในประเทศ เพื่อรับกำไรเหนาะๆ 10%

ถ้าเจ้าหนี้อยากได้กำไรมาก ก็ต้องปล่อยกู้เยอะขึ้น

พอปล่อยกู้ง่าย คนก็มีเงินไปปั่นราคาทรัพย์สินต่างๆ ทำให้ราคาบ้าน คอนโด ตลาดหุ้น ให้สูงจนเกินความเป็นจริง

สุดท้ายเมื่อเกิดเหตุการณ์ฟองสบู่แตก จึงกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่น่าเจ็บปวดที่สุดครั้งหนึ่งของไทย

 

หลังจากนั้น ไทยเราก็ดำเนินมาตรการทางการเงินที่รัดกุม และมีข้อบังคับต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก

ถ้าถามว่าตั้งแต่ต้มยำกุ้งจบลง ความโลภนั้นหายไปจากคนไทยหรือไม่!? คำตอบก็คือ.. ไม่

แต่ที่มันไม่ก่อให้เกิดวิกฤติใหญ่แบบครั้งนั้น เพราะเรามีมาตรการเพื่อมาควบคุมมันไม่ให้ก่อปัญหาเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม

เพราะในเมื่อเราไม่สามารถกำจัด “ความอยากได้มากกว่าคนอื่น” ให้หมดไปจากมนุษย์ได้ สังคมจึงต้องหาวิธีมาควบคุมหรือทำให้ความอยากตรงนั้นน้อยลงมากที่สุด

 

ตัวอย่างของแนวทางแก้ปัญหา “ตู้ปันสุข” ว่าเราจะมีทางออกอย่างไรบ้าง!?

1. ใช้อำนาจทางกฎหมายบังคับ

ตัวอย่างแนวทางแก้ปัญหาของวิธีนี้ก็เช่น การติดตั้งตู้ปันสุขไว้ในสถานีตำรวจ หรืออย่างแนวคิดจากนายกรัฐมนตรี ให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ที่หน้าตู้

ซึ่งในทางปฏิบัติจริง การจะให้มีคนมาดูแลตลอดเวลานั้นเป็นไปได้ยาก

รวมถึงกำหนดปริมาณการหยิบของจากตู้ ซึ่งเราไม่มีทางรู้เลยว่าคนที่หยิบนั้นมีความจำเป็นแค่ไหน!?

คนหนึ่งอาจจะหยิบเยอะ เพราะมีคนที่บ้านแก่ชราหรือล้มป่วย ซึ่งเดินทางมาหยิบไม่ได้!?

บางคนอาจจะขับรถยนต์มาหยิบ ทั้งที่นั่นคือรถที่กำลังจะถูกยึด และตอนนั้นเขาไม่มีกินจริงๆแล้ว!?

คำถามสำคัญก็คือ.. เจ้าหน้าที่จะมากำหนดปริมาณการหยิบอย่างไร!?

และการนำทรัพยากรเจ้าหน้าที่ หรือใช้เงินเข้ามาติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมดูแล นั้นจะคุ้มค่ากับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงหรือ!?

 

2. ทำให้ทุกคนมีกินแบบไม่อดอยาก

มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ที่ประเทศซึ่งผู้คนอยู่ดีกินดีและความเหลื่อมล้ำน้อย เช่น แถบสแกนดิเนเวีย จะมีตัวเลขอาชญากรรมที่ต่ำ

ในขณะที่ประเทศอย่างเวเนซูเอลา กลายเป็นประเทศที่มีอัตราอาชญากรรมสูงที่สุดในโลก

เมื่อคนในสังคมนั้นมีกินอย่างเพียงพอ โมเดลของตู้ปันสุข ก็จะเปลี่ยนเป็นมีผู้ให้มากขึ้น มีคนรับน้อยลงตามไปด้วย

แม้วิธีนี้จะบรรเทาได้ระดับหนึ่ง แต่ก็แค่ลด “โอกาส” ที่จะเกิดปัญหาเท่านั้น

เพราะสุดท้ายคนที่ต้องการมากกว่าคนอื่น ก็จะหยิบเอาไปมากอยู่ดี

 

3. ยอมรับในธรรมชาติของมนุษย์

วิธีนี้อาจจะฟังดูเหมือนเราไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ แล้วก็ได้แต่ “ปลง” ทำใจยอมรับมัน

แต่มองอีกมุมหนึ่งก็คือ เรากำลังทำความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ ที่อยู่ในสายพันธุ์เรามานานกว่า 50,000 ปี และยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้

ถ้าเราย้อนกลับไปที่แนวคิดของ “ตู้ปันสุข” ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร!?

คำตอบง่ายๆ ก็คือ เกิดขึ้นเพราะคนที่มีมากกว่า อยากแบ่งปันไปยังคนที่น้อยกว่า

คำว่ามากกว่าในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแค่เงินทองมากกว่า หรือมีอาหารมากกว่า แต่รวมถึง “ความอยากให้” ที่มีมากกว่า “ความอยากรับ” อีกด้วย

ส่วนคนที่มารับของในตู้ อาจจะเป็นคนที่มีกินน้อยกว่า มีใช้น้อยกว่า หรือแค่มีความอยากให้น้อย แต่มีความอยากรับเยอะ

เราจึงไม่สามารถกำหนดได้เลยว่า ใครจะมาหยิบของไปบ้าง ใครจะหยิบมาก ใครจะหยิบน้อย คนที่หยิบจะรวยหรือจน จะเดือดร้อนจริงหรือเปล่า!?

 

ในเมื่อมันกำหนดอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเราพร้อมจะปันสุข ก็เป็นเราเองที่ต้องยอมรับในจุดนี้

เพราะความสุขที่แท้จริงของการ “ให้” ได้เกิดขึ้นตั้งแต่เราวางของลงไปในตู้นั้น เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั่นเอง…

 

ทำไมคนเรามีรถ 1 คันแล้ว ยังอยากจะมีรถสวยๆ เพิ่มอีกสักคันหนึ่ง!?ทำไมธุรกิจที่ทำกำไรได้ในปีนี้…

โพสต์โดย Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน เมื่อ วันพุธที่ 13 พฤษภาคม 2020

 

 

ติดตาม Billion Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionmindset.ig/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/Billion_Twit

– ติดตามเพจ Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

 

อ่านเพิ่มเติม:

เปิดตำนาน “ต้มยำกุ้ง” อะไรคือสาเหตุวิกฤตปี 2540 สรุปให้คุณเข้าใจในบทความเดียว..

 

 

ที่มา:

www.researchgate.net/publication/309673021_Towards_a_Humanistic_Definition_of_Greed

www.frontiersin.org/articles/10.3389/fpsyg.2019.02021/full

www.numbeo.com/crime/rankings_by_country.jsp

https://public.wsu.edu/~taflinge/index.html

 

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...