Facebook
Twitter
LINE

สรุปประเด็นข้อเสนอปรับโครงสร้างภาษีสรรพากรใหม่ ให้คุณเข้าใจง่ายๆ

ย้ำ… เป็นเพียงแค่ข้อเสนอ ซึ่งยังไม่ได้ประกาศใช้จริง

ทางหน่วยงานภาครัฐให้ข้อมูลว่า…

ปัจจุบันคนไทยอยู่ในระบบภาษีประมาณ 10 ล้านคน

แต่จัดเก็บภาษีเงินได้จริงเพียง 3 ล้านคนเท่านั้น

การตั้งเป้าใหม่นี้ เพื่อให้คนไทยเข้ามาในระบบภาษีได้ถึง 35 ล้านคน!!

 

 

ตัวเอกของงานนี้ก็คือ “คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากร”  เราจะเรียกสั้นๆ ว่า คกก. นะครับ

คกก. จัดการประชุมและรับฟังข้อเสนอด้านภาษี ซึ่งจัดไปเมื่อสัปดาห์ก่อน

พอเป็นเรื่องของภาษี มันก็จะกระทบกับทั้งคนธรรมดาและธุรกิจของเราเองด้วย

ซึ่งข้อเสนอภาษีสรรพากรแบบใหม่ สามารถสรุปได้เป็น 6 ประเด็น มาอ่านให้เข้าใจไปพร้อมๆ กันเลยครับ…

 

1. เรื่องการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

แต่เดิมนั้น มีข้อกำหนดว่าถ้ารายได้ไม่เกินปีละ 120,000 บาท (หรือเฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 10,000 บาท) ไม่ต้องยื่นแบบภาษี

นโยบายใหม่นั้น ปรับให้ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะมีเงินได้หรือไม่ ก็ต้องยื่นแบบภาษีเงินได้

โดยให้เหตุผลว่าเป็นนโยบายเชิงรุก เพื่อการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ

และอาจจะใช้ในการช่วยเหลือคนมีรายได้น้อย หรือให้สวัสดิการแก่คนทั่วไปด้วย

 

2. ปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

มีข้อเสนอปรับเงินได้ให้เหลือเพียง 3 ประเภท ได้แก่

– เงินได้จากน้ำพักน้ำแรง

– เงินได้จากทรัพย์สินและการลงทุน

– เงินได้จากธุรกิจและอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังจะปรับให้หักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น จากเดิมไม่เกิน 100,000 บาท (แต่ไม่มีระบุว่าปรับเป็นเท่าไร)

ในส่วนของเพดานภาษี เดิมบุคคลธรรมดามีเพดาน 35%

ข้อเสนอใหม่คือจะปรับให้เป็น 25% และปรับช่วงรายได้ให้กว้างขึ้น

ทั้งหมดนี้มีเหตุผลว่า ประชาชนจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น จัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และยังเป็นการส่งเสริมรายย่อยที่อยากจะประกอบธุรกิจ แต่ไม่พร้อมจดเป็นนิติบุคคล

 

3. ปรับภาษีเงินได้นิติบุคคล

ในปัจจุบันนิติบุคคลเสียภาษี 20% (ทำให้มีกำไรหลังหักภาษีเท่ากับ 80% )

แต่ก็ยังต้องไปเสียภาษีเงินปันผลอีก 10%

รวมแล้วก็จะต้องเสียภาษีประมาณ 20% + (10% ของกำไรหลังหักภาษี)  = 28%

พวกเขาระบุว่าเป็นการเสียภาษีซ้ำซ้อนกัน จึงตั้งเป้าจะลดให้ลงมาเหลือ 25%

แต่ยังไม่มีการระบุว่าจะปรับโครงสร้างอย่างไรเพื่อให้ได้ตัวเลขดังกล่าว

 

4. การเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

ปกติแล้วนิติบุคคลที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

แบบใหม่นั้นจะปรับรายได้เป็นอย่างน้อย 10 ล้านบาทต่อปี ถึงจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

(สำหรับบริษัทที่รายได้ไม่เกิน 10 ล้าน แม้ไม่ต้องเสียภาษี 7%

แต่ก็ต้องเสียภาษีใหม่ 2% จากรายได้มาทดแทน)

นอกจากนี้ ธุรกิจบางประเภทที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น โรงเรียนกวดวิชา บริการนักแสดง สอบบัญชี

ก็จะยกเลิกการยกเว้นตรงส่วนนั้นอีกด้วย

 

5. ภาษีธุรกิจเฉพาะ

เสนอให้ยกเลิกภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1% จากรายรับของการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

 

6. ภาษีอากรแสตมป์

มีการเสนอให้ยกเลิกภาษีอากรแสตมป์ทั้งหมด

ให้เหตุผลว่าภาษีอากรแสตมป์นั้นจัดเก็บได้น้อย ยุ่งยาก และซ้ำซ้อนกับภาษีประเภทอื่นๆ

แถมค่าใช้จ่ายในการติดตามตรวจสอบ ยังสูงกว่าภาษีที่เก็บได้เสียอีก

หากยกเลิกไป เท่ากับว่าจะลดรายจ่ายตรงส่วนนี้ไปได้

 

ภาษีแบบใหม่นี้ จะประกาศใช้เมื่อไร??

คุณกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธาน คกก. ระบุว่า น่าจะใช้ร่างแก้ไขกฎหมายกรมสรรพากรไม่เกิน 5 เดือน 

จากนั้นการแก้ไขภาษีสรรพากร น่าจะใช้ได้ทันภายในช่วงต้นปี 2562 (หรือภายในรัฐบาลชุดนี้)

 

ประชาชนอย่างเราทั้งมนุษย์เงินเดือนและเจ้าของธุรกิจ ก็คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่า

ท้ายที่สุดแล้วกฎหมายภาษีสรรพากรรูปแบบใหม่ จะออกมาอย่างไร??

เราจะต้องเสียภาษีมากขึ้น หรือเสียน้อยลงมากแค่ไหน??

ถ้ามีข้อมูลเพิ่มเติม ทางเพจแนวคิดพันล้านจะสรุปมาให้ได้อ่านกันอีกครั้งนะครับ….

 

 

ที่มา:

www.thaipost.net/main/detail/18148

http://news.ch3thailand.com/economy/78252

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...