Facebook
Twitter
LINE

ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยนั้นใหญ่กว่า 2.5 ล้านล้านบาท

แต่ถ้านับในรูปแบบการขายปลีกจากร้านค้าสู่ผู้บริโภค ก็มีมูลค่าสูงถึง 800,000 ล้านบาท!!

แม้จะเติบโตสูงขึ้นทุกปี แต่ก็มีการแข่งขันที่ดุเดือดด้วยเช่นกัน

นอกจากผู้ประกอบการรายย่อยที่มีเว็บไซต์ของตัวเอง หรือหน้าเพจเฟซบุ๊กแล้ว

ก็ยังมีแบรนด์ใหญ่ซึ่งทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง” ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนอีกด้วย

 

 

ทำไมต้องไปวางขายบนเว็บคนอื่น??

เพราะการเข้าถึงผู้บริโภค มีแค่แฟนเพจก็อาจจะทำให้ลูกค้าหาสินค้าเราไม่เจอ

นั่นจึงทำให้หลายร้านเลือกไปลงขายบนเว็บต่างๆ ที่เปิดให้บริการ

ส่วนเว็บเหล่านี้ ก็มีทั้งทุนไทยและต่างชาติ ทุ่มเงินเพื่อแย่งส่วนแบ่งการตลาด ชนิดที่ว่าไม่มีใครยอมใคร

 

Lazada

เว็บอีคอมเมิร์ซที่มีต้นกำเนิดมาจากสิงคโปร์ แต่ปัจจุบันเจ้าของก็คือ Alibaba ที่มาถือหุ้นกว่า 80%

ในเมืองไทยนั้นจะเรียกว่าเป็นเจ้าใหญ่ที่สุดเลยก็ว่าได้

จากต้นกำเนิดที่ขายของเอง ปรับตัวเป็น “ตลาดกลาง” ให้ผู้ขายมาลงขายสินค้า

แถมยังเอาใจผู้บริโภคชาวไทยด้วยบริการ คืนของได้ ส่งฟรี หรือเก็บเงินปลายทาง จนทำให้ได้รับความนิยม

และแทนที่จะมีแต่ร้านค้ารายย่อย

ปัจจุบัน Lazada เริ่มจับมือกับแบรนด์ต่างๆ เปิดหน้าร้านอย่างเป็นทางการมากยิ่งขึ้น

 

Shopee

เว็บขายของซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Sea หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ Garena ผู้ให้บริการเกมออนไลน์ชื่อดัง

มีลักษณะเป็นตลาดกลางที่จับกลุ่มผู้ใช้รายย่อยมากกว่า

ซึ่งถ้า Lazada สามารถทุ่มเงินเพราะมีกลุ่มทุน Alibaba หนุนหลัง

Shopee ก็มี Tencent เป็นผู้ถือหุ้นหลักคอยหนุนหลังอยู่เช่นกัน การแข่งขันของ 2 เจ้านี้จึงน่าจับตาอย่างยิ่ง

 

WeLoveShopping

อีคอมเมิร์ซสัญชาติไทย ซึ่งนอกจากจะมีตลาดกลางที่หลายคนคุ้นกันในชื่อ WeLoveShopping แล้ว

บริษัทยังมีเว็บไซต์ WeMall (หรือ iTrueMart) เป็นเว็บขายสินค้าเอง

ถือเป็นอีกหนึ่งเว็บที่เปิดให้บริการมายาวนาน มีชื่อที่จดจำง่าย แถมระบบเปิดร้านอันไม่ซับซ้อน

นอกจากนี้ยังเอาใจคนที่กังวลเรื่องโดนโกงออนไลน์ด้วยระบบ WeTrust ไม่ได้ของยินดีคืนเงิน

จึงทำให้มีคนมาเปิดร้านอยู่ตลอด และลูกค้าที่ค้นหาสินค้าก็มั่นใจมากยิ่งขึ้น

 

ตลาดนี้ดุเดือด จนต้องทุ่มเงินแข่งขันหนักหน่วงจริงหรือ!?

เว็บตลาดกลางซื้อขายสินค้า ต่างก็ได้รับความนิยม มีผู้ใช้บริการสูงมาก

แต่ก็หมายถึงการแข่งขันที่สูง รวมถึงยอม “เข้าเนื้อ” ในช่วงแรก เพื่อดึงดูดคนมาใช้บริการ

ยักษ์ใหญ่ต่างก็ทุ่มทุน จัดโปรโมชั่น เอาใจทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในตลาดของตนเอง

ทำนองว่า เมื่อดึงผู้ใช้งานมาอยู่กับตัวเองได้แล้ว ค่อยหากำไรคืนในภายหลัง

จึงทำให้เมื่อพิจารณาที่งบการเงินของธุรกิจอีคอมเมิร์ซทั้ง 3 ล้วนมีผลการดำเนินงานที่ขาดทุนอยู่นั่นเอง

 

เริ่มจากบริษัท ลาซาด้า จำกัด

ปี 2558 รายได้ประมาณ 3,174 ล้านบาท ขาดทุน1,958 ล้านบาท

ปี 2559 รายได้ประมาณ 4,238 ล้านบาท ขาดทุน 2,115 ล้านบาท

ปี 2560 รายได้ประมาณ 1,691 ล้านบาท ขาดทุน 568 ล้านบาท

 

ส่วนทาง บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) พบว่า..

ปี 2558 รายได้ 8,787 บาท ขาดทุน 211 ล้านบาท

ปี 2559 รายได้ 56,606 บาท ขาดทุน 528 ล้านบาท

ปี 2560 รายได้ประมาณ 139 ล้านบาท ขาดทุน 1,404 ล้านบาท

 

ส่วนบริษัท แอสเซนด์ คอมเมิร์ซ จำกัด เจ้าของ WeLoveShopping

ปี 2558 รายได้ประมาณ 473 ล้านบาท ขาดทุน 284 ล้านบาท

ปี 2559 รายได้ประมาณ 863 ล้านบาท ขาดทุน 585 ล้านบาท

ปี 2560 รายได้ประมาณ 146 ล้านบาท ขาดทุน 357 ล้านบาท

 

จะเห็นได้ว่า…

การแข่งขันบนธุรกิจ “เจ้าของตลาดกลางซื้อขายออนไลน์” ในประเทศไทยนั้นทุ่มแข่งกันดุเดือด

เหมือนจะเป็นการแข่งกันว่า ใครจะสายป่านยาวกว่า หรือหาจุดทำกำไรได้ก่อนกัน

พอรายใหญ่รบรากันแบบนี้

รายย่อยก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

กลายเป็นเรื่องให้รายย่อยต้องเก็บมาขบคิด ว่าจะอยู่ในตลาดนี้ยังไง??

เราจะไปทำเว็บไซต์ซื้อขายของแข่งกับ Lazada หรือ Shopee จะไปไหวหรือเปล่า??

เราจะปรับเปลี่ยนจากที่เคยขายแต่ออฟไลน์ ไปขายออนไลน์ดีกว่าไหม??

หรือจะเริ่มธุรกิจขายของออนไลน์ใหม่ๆ เพราะเว็บเหล่านี้คงมีโปรโมชั่นให้กับคนขายแน่ๆ??

หรือคิดไปมากกว่านั้น ทำธุรกิจรับ-ส่งของ เหมือนกับ Kerry Express ซึ่งเติบโตกว่า 2 เท่าในทุกๆ ปี??

 

 

ในการแข่งขันอันดุเดือดนี้ ก็มีโอกาสดีๆ ซ่อนเอาไว้อยู่

และ “ความสำเร็จ” จะตกเป็นของคนที่มองหาโอกาสเจอ

ลองคิดดูสิครับ ว่าท่ามกลางการแข่งของรายใหญ่ที่ดุเดือดแบบนี้ คุณมองหาโอกาสอะไรเจอบ้าง…

 

 

ข้อมูลโดย: กระทรวงพาณิชย์

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...