Facebook
Twitter
LINE

ปกติแล้ว แนวคิดของการทำธุรกิจก็คือ…

ใช้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด สร้างงานให้ได้มากที่สุด เพื่อผลตอบแทนในรูปแบบ “กำไร” สูงสุด

แต่ทำไมเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกคนปัจจุบัน Jeff Bezos

เจ้าของอีคอมเมิร์ซชื่อดังอย่าง Amazon.com

ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้พนักงาน จากเดิมชั่วโมงละ 7.5 เหรียญ เป็นชั่วโมง 15 เหรียญ

ซึ่งเป็นการขึ้นค่าจ้างทีเดียวสูงถึง 2 เท่าจากเดิม

นักธุรกิจที่ต้องการกำไร คงไม่มีใครอยากจะมาเพิ่มรายจ่ายให้ตัวเองหรอก

เขากำลังคิดอะไรอยู่กันแน่??

 

 

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ มีกระแสกดดันจากรอบทิศ

อดีตลูกจ้างชั่วคราวของ Amazon บางคน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกจ้างงานในส่วนของคลังสินค้า

ออกมาพูดถึงการทำงานหนัก สวัสดิการไม่ดีเท่าที่ควร

บางคนถึงกับเปรียบเปรยว่าถูกใช้แรงงานราวกับโกดังนั้นเป็น “เรือนจำ” แต่ก็ต้องทำตามสัญญาที่เซ็นไว้

 

โดยเฉพาะในปีล่าสุด ซึ่งบริษัทมีผลประกอบการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่หุ้นของบริษัท เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีมาแล้ว 68%

มูลค่าทางตลาดของ Amazon ปรับขึ้นจาก 18 ล้านล้านบาท กลายมาเป็น 31 ล้านล้านบาท ภายในเวลาไม่ถึงปี

(ให้เห็นภาพก็เทียบกับ ปตท. บริษัทใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นไทย มีมูลค่าประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท)

 

การร่ำรวยขึ้นของทั้งบริษัทและ Jeff Bezos นี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีสำหรับเขา

แต่พอขึ้นเป็นเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก มันก็ยิ่งง่ายต่อการถูกโจมตีด้วยเช่นกัน

กระแสนี้จะไม่แรงเลยถ้า Bernie Sanders นักการเมืองอเมริกันไม่กระโดดลงมาร่วมวงด้วย

โดยเฉพาะในช่วงเดือนที่ผ่านมา เริ่มมีการตอบโต้กันถี่ขึ้น

Bernie ชี้เป้าไปในประเด็นต่างๆ 3 เรื่อง ได้แก่

1. Amazon จ่ายเงินค่าจ้างโดยเฉลี่ย ให้ต่ำกว่าบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน 9%

2. บริษัทเน้นการจ้างงานแบบสัญญาชั่วคราว ยกตัวอย่างเช่น มีพนักงานจ้างเฉพาะช่วงวันหยุดยาว 100,000 คน ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้รับสวัสดิการที่ดีพอ

3. ระบุว่าตั้งแต่ปี 2013 มีพนักงาน Amazon 7 คน เสียชีวิตระหว่างการทำงานหรือใกล้กับสถานที่ทำงานของพวกเขา

 

ถึงแม้ว่ากระแสต่อต้านดังกล่าว จะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตขนาดที่ทำให้คนลุกฮือมาประท้วงกดดัน

แต่ดูเหมือนว่า Jeff ก็ค่อนข้างเป็นกังวลต่อภาพลักษณ์ของตัวเองและบริษัท

จึงประกาศเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

 

การปรับขึ้นจาก 7.50 เหรียญต่อชั่วโมง เป็น 15 เหรียญต่อชั่วโมง หรือประมาณ 480 บาท

จะมีผลต่อพนักงานประจำและพาร์ทไทม์ 250,000 คน ยังรวมถึงลูกจ้างชั่วคราวช่วงเทศกาล 100,000 คน

(สาเหตุที่ต้องจ้างเพิ่มช่วงเทศกาล เพราะคนส่งของกันเยอะมาก โดยเฉพาะคริสต์มาสและปีใหม่)

 

ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีศึกษาของ Walmart ร้านค้าปลีกชื่อดังแห่งสหรัฐอเมริกา

พวกเขาเป็นอีกหนึ่งห้างที่ได้รับผลกระทบจากโลกออนไลน์ ทำให้คนซื้อสินค้าในห้างน้อยลง และยอดขายก็ลดลงด้วย

ในต้นปี 2016 ผู้บริหารตัดสินใจขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้พนักงานราว 1,000,000 คนจาก 7.5 เหรียญ เป็น 10 เหรียญต่อชั่วโมง

หลังจากนั้นปรากฏว่ายอดขายของบริษัทกลับเพิ่มขึ้น

ตรงกันข้ามกับห้างค้าปลีกคู่แข่งอย่าง Target และ Macy’s ซึ่งต่างก็ปรับตัวลดลง

ผู้บริหารออกมายกความดีความชอบให้กับการเพิ่มเงินค่าจ้างทันที

พวกเขาระบุว่ายอดขายที่เพิ่มขึ้นนั้น มาจากการที่พนักงานมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าที่ดียิ่งขึ้น

นั่นก็เพราะพนักงานได้เงินสมน้ำสมเนื้อ พวกเขาเลยเต็มใจทำงานและบริการลูกค้ายิ่งกว่าเดิมนั่นเอง

 

อีกหนึ่งกรณีคือ Starbucks ซึ่งหลังจาก Howard Schultz เข้ามาบริหารในปี 2008

เขาก็เน้นนโยบายให้พนักงานดูแลเอาใจใส่ลูกค้าเป็นหลัก

โดยมีผลตอบแทนให้พนักงานเป็นค่าจ้างที่สมน้ำสมเนื้อ และสวัสดิการที่ดี

อย่างเช่น การเป็นบริษัทแรกที่มีประกันสุขภาพที่ดีให้พนักงานทุกคนในอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำหรือพาร์ทไทม์

และนั่นก็ช่วยพลิกวิกฤตของบริษัทที่เกือบจะล้มในช่วงนั้น

กลายมาเป็นแบรนด์ร้านกาแฟที่ใหญ่ที่สุดของโลกได้ในปัจจุบัน

 

แนวคิดพันล้านของ Jeff Bezos

ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างจากทั้ง 2 กรณีตรงที่ Walmart และ Starbucks นั้น พนักงานที่ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น คือคนที่ต้องบริการลูกค้า

แต่ของ Amazon พนักงานที่ได้รับผลประโยชน์ คือเหล่าคนที่ทำงานในโกดัง หรือระบบขนส่งสินค้า

แม้จะมีการใช้หุ่นยนต์เป็นหลักในโกดังสินค้า แต่บริษัทก็ยังต้องจ้างแรงงานคนอยู่

พวกเขาเหล่านี้ไม่ต้องยิ้มให้กับลูกค้า เพราะสิ่งที่จะได้พบเจอคือกล่องพัสดุจำนวนมหาศาลแทน

 

Jeff หวังว่าการที่พนักงานเหล่านี้ได้รับเงินค่าจ้างที่มากขึ้น จะเป็นแรงจูงใจให้เขาปฏิบัติกับสินค้าต่างๆ ราวกับว่าเป็นลูกค้าคนหนึ่ง

เขาเองก็เชื่อในความคิดที่ว่า เมื่อพนักงานได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม เขาจะทำงานได้ดียิ่งขึ้น

ช่วยให้การบริหารจัดการคลังสินค้าของ Amazon จากเดิมก็ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก สามารถดีขึ้นไปได้อีก

นั่นก็หมายถึงความสุขของลูกค้า ผู้รอคอยสินค้าอยู่ที่บ้านของพวกเขา

จะได้รับทั้งสินค้าคุณภาพ ไร้ตำหนิ แถมรวดเร็วยิ่งกว่าเดิม…

สุดท้ายผลประโยชน์ก็จะวนกลับไปตกยัง “บริษัท Amazon” อีกทีนั่นเอง!!

 

 

 

ติดตาม Billionaire Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionairethai/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/BillionaireThai

– ถ้าเล่นแต่ไลน์ ก็ส่งบทความให้คุณทุกวันที่ @BillionaireMindset

– ติดตามเพจ Billionaire Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา:

www.nytimes.com/2018/10/02/business/amazon-minimum-wage.html

www.wired.com/story/why-amazon-really-raised-minimum-wage/

https://edition.cnn.com/2018/10/02/politics/bernie-sanders-jeff-bezos-minimum-wage/index.html

http://uk.businessinsider.com/bernie-sanders-amazon-worker-pay-safety-conditions-2018-8

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...