Facebook
Twitter
LINE

Grab ได้รับเงินลงทุนระลอกใหม่มูลค่ากว่า 66,000 ล้านบาท ทำให้ตอนนี้แอพเรียกแท็กซี่ชื่อดัง ถูกประเมินว่ามีมูลค่าสูงถึง 360,000 ล้านบาทเข้าไปแล้ว!!

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2012 จากเสียงบ่นของเพื่อนชาวสิงคโปร์ที่ไปเที่ยวมาเลเซีย ว่าเรียกแท็กซี่ยากเย็นซะเหลือเกิน (คุ้นๆ เหมือนแถวนี้เลย ฮ่า)

 

ส่งผลให้ Anthony Tan เกิดไอเดียอยากจะทำแอพสำหรับเรียกแท็กซี่โดยเฉพาะ จึงร่วมมือกับเพื่อนสมัยเรียนที่ฮาร์วาร์ด Tan Hooi Ling ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการตลาดเป็นพิเศษ ก่อตั้งบริษัทและทำแอพขึ้นมา

จากวันนั้น GrabTaxi ก็ถือกำเนิดขึ้น…

 

สองผู้ก่อตั้ง Grab

 

เวลาผ่านไป 6 ปี ตอนนี้แอพเรียกแท็กซี่ดังกล่าว…

มีการเปิดให้บริการกว่า 191 เมืองทั่วโลก

มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 100 ล้านครั้ง

มีผู้ขับขึ้นทะเบียน 930,000 ราย

มีการเรียกบริการผ่านแอพวันละ 2,500,000 ครั้ง

หรือขณะที่คุณนั่งอ่านผ่านไป 1 วินาที มีการเรียกผ่านแอพไปแล้ว 29 ครั้ง

 

พวกเขาคาดการณ์ว่าในปี 2018 นี้ Grab จะทำรายได้เกินกว่า 30,000 ล้านบาท (หรือเฉลี่ยวันละ 90 ล้านบาท หูวววววว)

 

Grab เติบโตอย่างก้าวกระโดด

 

Grab ประสบความสำเร็จขนาดนี้ได้อย่างไร!?

ตอนที่ผลิตแอพออกมาใหม่ๆ ในปี 2012 Anthony นำแอพของเขาไปเสนอขายให้กับอู่แท็กซี่ใหญ่ๆ ในมาเลเซีย แต่กลับถูกปฏิเสธเสียแทบทั้งหมด

“จะมีใครใช้บริการแอพโง่ๆ แบบนี้”

“เอาสมาร์ทโฟนไปให้คนขับแท็กซี่ใช้ เดี๋ยวพวกเขาก็ขโมยหรอก พวกคนขับแท็กซี่มันเหลี่ยมจัดทั้งนั้น”

“นายน่าจะกลับไปทำงานที่บ้านเหมือนเดิมดีกว่านะ” (บ้านเขาทำธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์)

แต่สุดท้ายก็มีอู่แท็กซี่ขนาดเล็กเจ้าหนึ่ง ที่มีเพียงรถ 30 คัน ยอมทดลองใช้แอพของเขา และหลังจากนั้นก็คือเรื่องราวของการเติบโต…

 

ปัญหาโบกแท็กซี่ยาก เป็นปัญหาที่แทบทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องประสบ

 

เดือนสิงหาคมปี 2013 Grab Taxi ขยายไปในประเทศฟิลิปปินส์

ถัดมาอีก 2 เดือน ขยายไปยังประเทศสิงคโปร์ และประเทศไทย

ในปี 2014 ขยายไปยังประเทศเวียดนาม และประเทศอินโดเนียเซีย

Anthony ย้ายบริษัทไปตั้งที่ประเทศสิงคโปร์ในปีเดียวกัน

ด้วยการแข่งขันอย่างดุเดือดระหว่าง Grab กับคู่แข่ง Uber ในภูมิภาคนี้

จนกระทั่งในปี 2018 นี้เอง ที่ Grab ประกาศเข้าซื้อกิจการ Uber ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และขึ้นเป็นเจ้าใหญ่ของภูมิภาคนี้

 

สุดท้าย Uber ก็ยอมถูกรวมกิจการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ากับ Grab

 

ปัจจุบัน Grab มีบริการอะไรบ้าง!? และนี่คือ 7 บริการหลักที่เปิดใช้ในหลายประเทศ

GrabTaxi บริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอพ

GrabCar บริการเรียกรถรับจ้างผ่านแอพ (ซึ่งมีปัญหากับข้อกฎหมายบางประเทศ เช่น ประเทศไทย ในเรื่องการเอารถส่วนบุคคลมารับจ้าง)

GrabBike บริการเรียกรถจักรยานยนต์ ซึ่งในไทยนั้นมีการใช้ชื่อ GrabBike(Win) เพื่อเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างอย่างถูกกฎหมาย

GrabHitch บริการหาเพื่อนร่วมทาง ที่จะโดยสารไปทางเดียวกัน

GrabExpress บริการรับส่งของและเอกสาร ที่เปรียบได้ดุจเมสเสนเจอร์

GrabPay ระบบกระเป๋าเงินออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าจะใช้ในการจ่ายค่าบริการแท็กซี่

GrabFood บริการเดลิเวอรี่อาหารถึงบ้านคุณ

 

GrabBike(Win) บริการที่ยอมปรับตัวเข้ากับกฎหมายของไทย

 

อนาคตของ Grab จะก้าวไปในทิศทางไหน!?

Grab เติบโตจากตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพวกเขายังไม่คิดจะไปลุยตลาดอื่นๆ ที่ไกลตัว ซึ่งนั่นอาจจะเป็นสิ่งที่คิดถูก

ในเมื่อจีนก็มีเจ้าใหญ่ในประเทศครองอยู่ ในเมื่อตลาดยุโรปและอเมริกามันไม่ใช่สิ่งที่เราถนัด เราก็ขอไปให้สุดใน South East Asia บ้านเราก่อนสิ

พวกเขาหวังว่าบริการที่ครอบคลุมทุกด้าน จะทำให้ Grab กลายเป็น 1 ในแอพชีวิตประจำวัน ที่คนเมืองใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องใช้ทุกวัน

 

พวกเขาตั้งเป้าไว้ว่า…

หากคุณจะเรียกแท็กซี่ คุณก็นึกถึง Grab

หากคุณหิวข้าว คุณก็นึกถึง Grab

หากคุณจะส่งเอกสาร คุณก็นึกถึง Grab

และพัฒนา GrabPay ให้เป็นช่องทางการจ่ายเงิน จนคุณแทบไม่ต้องพกกระเป๋าสตางค์อีกแล้ว

 

Grab จะก้าวต่อไปได้ไกลแค่ไหน!?

 

อนาคตของ Grab นั้นดูสดใส ทั้งจากความเชื่อมั่นของนักลงทุน และยอดผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกวัน

แม้มีปัญหากับข้อกฎหมายบางประเทศในบางประเภทบริการก็ตาม แต่ดูเหมือนพวกเขาก็พร้อมจะปรับตัว อย่างเช่นบริการ GrabBike (Win) ที่ยกตัวอย่างไป

ในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เป้าหมายการเป็นแอพประจำวันของทุกคน ที่ทาง Grab ตั้งไว้ อาจจะกลายเป็นจริงขึ้นมาเร็วกกว่าที่เราคิดก็เป็นได้…

 

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...