Facebook
Twitter
LINE

 

คุณรู้จัก “สบู่นกแก้ว” รึเปล่า!? จำกลิ่นหอมของสบู่ยี่ห้อนี้ได้ไหม!?

จากการสำรวจทางตลาดล่าสุดพบว่า แบรนด์สบู่นกแก้วมีการรับรู้มากถึง 96% นั่นหมายความว่า เดินไปถามคนไทยตามท้องถนน 100 คน จะมีคนรู้จักสบู่นกแก้ว 96 คน

เพราะอะไรคนจึงรู้จักเยอะ แม้ว่าพวกเขาจะไม่ใช้สบู่ยี่ห้อนี้ก็ตาม เพราะสบู่นกแก้วคือสบู่หอมแบรนด์แรกของไทยนั่นเอง

 

เปิดประวัติที่มาของสบู่นกแก้ว ในยุคแรก

– ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2494 สมัยนั้นคนไทยมีทั้งอาบน้ำตามริมคลอง และอาบน้ำในห้องน้ำบ้านตัวเอง โดยที่สบู่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก

– คุณ Walter Leo Mayer เล็งเห็นว่าประเทศไทยยังไม่มีผลิตภัณฑ์สบู่หอมจริงๆ จังๆ จึงตัดสินใจซื้อเครื่องจักรจากเยอรมนี มาเพื่อทำการผลิตสบู่ขายในไทย

– การลงทุนตอนนั้นน่าสนใจอย่างไร!? เพราะเยอรมนีเพิ่งแพ้สงครามโลก จึงต้องขายหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อหาเงินมาใช้หนี้สงคราม รวมถึงแบรนด์สบู่ยี่ห้อ COLIBRITA ด้วย ซึ่งคุณ Walter ก็ได้เครื่องจักรมาในราคาถูกกว่าท้องตลาดพอดี

– เมื่อมาเปิดโรงงานผลิตในซอยสุขุมวิท 42 ภายใต้ชื่อบริษัทรูเบียอุตสาหกรรม เป็นที่มาของชื่อ “ซอยรูเบีย” อันส่งกลิ่นหอมฟุ้งจนชาวบ้านต้องมาดูว่าทำอะไรกัน

นั่นคือ ไวรัล มาร์เกตติ้ง ในสมัยที่โลกยังไม่รู้จักกับคำว่าไวรัลบนโลกออนไลน์ ทำให้คนพูดถึงผลิตภัณฑ์ ก่อนที่จะวางจำหน่ายเสียอีก

 

ยุคทองของสบู่นกแก้ว

– หลังจากคนท้องถิ่นรู้จัก ก็โหมต่อด้วยการโฆษณาผ่านทางวิทยุและสื่อสิ่งพิมพ์ ด้วยจุดขายคือ “สบู่เนื้อแข็งใช้ได้นาน กลิ่นหอมติดตัว และราคาคนไทย”

– ปี พ.ศ. 2514 ได้มีโฆษณาทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก และทำยอดขายสบู่นกแก้วได้ถึง 25 ล้านบาท

– การขายเพียงก้อนละ 2 บาทและ 4 บาท ทำให้เข้าถึงคนต่างจังหวัดได้อย่างรวดเร็ว

– เมื่อลูกค้าหลักคือคนต่างจังหวัด บริษัทจึงดึงไอดอลอย่าง “พุ่มพวง ดวงจันทร์” มาเป็นพรีเซนเตอร์ โหมกระแสของสบู่นกแก้วขึ้นไปอีก

– สบู่นกแก้ว ห่อสีเขียว กลายมาเป็นภาพที่ลูกค้าทุกคนจดจำ และหยิบเป็นตัวเลือกแรกเมื่อไปเลือกซื้อสบู่

– บริษัทพยายามแตกไลน์ เพิ่มผลิตภัณฑ์สบู่ผิวสวย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร สุดท้ายจึงวนลูปกลับมาที่การโฆษณาถึงความหอม

พร้อมๆ กับยุคมืดหม่นที่ค่อยๆ คืบคลานเข้ามา

 

ยุคตกต่ำลงของสบู่นกแก้ว

– เมื่อตลาดสบู่มีการเติบโตขึ้น ย่อมมีคู่แข่งจำนวนไม่น้อยที่เข้ามา ทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์ต่างชาติ

– ในช่วงยุค 2530 (โดยเฉพาะหลังปี พ.ศ. 2535) เศรษฐกิจไทยนับว่าเฟื่องฟูมาก ทำให้เกิดค่านิยม “หัวนอก” ส่งผลให้คนนิยมใช้สบู่แบรนด์ต่างประเทศเพราะรู้สึกโก้หรูกว่า

– ปี พ.ศ. 2539 แม้จะทำยอดขายได้ 100 ล้านบาท แต่ในแง่ของส่วนแบ่งการตลาดนั้น สบู่นกแก้วก็ถูกซัดสะบัดสะบอมจากทั้งยูนิลีเวอร์ (ลักส์) และบริษัทคอลเกต (สบู่ปาล์มโอลีฟ)

– สบู่นกแก้ว เริ่มโฆษณาที่นำเสนอแนวคิด “ใช้ของไทย” แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมันไม่สามารถเปลี่ยนความคิดคนยุคนั้นได้เลย

– ณ เวลานั้น สบู่นกแก้วไม่ใช่เจ้าตลาดอีกต่อไปแล้ว และดูเหมือนว่าจะเจอกับปัญหามากยิ่งขึ้น ทั้งวัยรุ่นไม่ชอบสบู่กลิ่นแรง กลับมองว่าสบู่หอมยี่ห้อนี้ “เหม็นเกินไป”

 

ยุคกลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง

– พ.ศ. 2540 เศรษฐกิจไทยเจอวิกฤติครั้งใหญ่ พร้อมกับปัญหาหนี้ IMF จนเริ่มมีกระแสรณรงค์ให้ใช้ของไทยเกิดขึ้นมา

– นี่คือโอกาสอันดีของ “นกแก้ว” ที่เคยทำโฆษณารณรงค์ใช้ของไทยมาก่อนหน้านี้ พวกเขาโหมกระแสนี้อีกครั้ง แล้วครั้งนี้ดูเหมือนจะไปได้สวย

ถ้าการตีเหล็กต้องตีตอนร้อน การขยับขยายของแบรนด์ ก็ต้องรีบคว้าโอกาสในช่วงนี้เช่นเดียวกัน

– ปี พ.ศ. 2541 สบู่นกแก้วมีหลากสี หลากกลิ่น พร้อมกับปรับให้เป็นสบู่ถนอมผิวมากขึ้น มีการผสมมอยส์เจอไรเซอร์ตามสมัยนิยม

– ปี พ.ศ. 2543 สินค้าที่มาใช้แทนสบู่อย่าง “ครีมอาบน้ำ” เริ่มได้รับความนิยม ครีมอาบน้ำนกแก้วจึงถือกำเนิดขึ้น

– ปี พ.ศ. 2545 นกแก้วมองว่าถึงจะรณรงค์ให้คนใช้ของไทยได้ในตอนนี้ แต่ไม่สามารถสวนกระแสโลกาภิวัฒน์ได้ จึงขยายแบรนด์ Parrot Gold เพื่อเป็นแบรนด์ของผลิตภัณฑ์ครีมอาบน้ำ

 

แบรนด์นกแก้วและตลาดสบู่ในยุคปัจจุบัน

ตลาดสบู่มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสบู่ก้อน 4,900 ล้านบาท และสบู่เหลว 5,100 ล้านบาท

งบกำไรขาดทุนปีล่าสุด บริษัท รูเบียอุตสาหกรรม จำกัด

ทำรายได้ 1,897 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.5%

และมีกำไร 179 ล้านบาท คิดเป็น 9.4% ของรายได้

 

นกแก้ว มีผลิตภัณฑ์ในหลากหลาย สำหรับลูกค้าในหลายระดับ ทั้งสบู่พฤษานกแก้ว สบู่แพร์รอทโกลด์ ครีมอาบน้ำแพรอทโกลด์

แม้กระทั่งยุคหลังที่ตลาดสบู่สมุนไพรกำลังเริ่มได้รับความนิยม นกแก้วก็ออกผลิตภัณฑ์สบู่นกแก้วสมุนไพร และสบู่แพร์รอทเฮอเบิลมาสู้ด้วย

 

จากแบรนด์ที่ถูกบริษัทข้ามชาติซัดจนเป๋ กลับมาทวงความยิ่งใหญ่คืนได้อีกครั้ง ปัจจุบันผู้บริหารบอกว่า “นกแก้ว” สามารถกลับมาทวงความเป็นเจ้าตลาดสบู่ก้อนได้แล้ว

ในส่วนของตลาดครีมอาบน้ำนั้น อยู่ในตำแหน่งที่ 4 ซึ่งยังคงต้องฝ่าฟันกันต่อไป

 

เราได้เรียนรู้อะไรจากนกแก้ว!?

เราได้เห็นถึงการลงทุนถูกที่ถูกเวลา ในยุคที่เมืองไทยยังไม่มีสบู่ใช้แพร่หลาย พร้อมกับการรับเครื่องจักรราคาถูกที่เยอรมนีจำเป็นต้องขาย

เราได้เห็นถึงช่วงต้นยุค 2500 ที่นกแก้วเป็นเจ้าตลาด แต่ก็ยังทุ่มทุนโฆษณาไม่หยุด

เราได้เห็นถึงการชูจุดเด่น “แบรนด์ไทย” ในยุคที่ทุกๆ คนหันสนใจแบรนด์ต่างชาติ จนสุดท้ายพวกเขาก็กลับมายืนได้อีกครั้งเพราะจุดเด่นดังกล่าว

เราได้เห็นถึงการพัฒนาไม่หยุดนิ่ง เรียนรู้จากอดีตว่าตัวเองยังมีผลิตภัณฑ์ไม่มากพอ นกแก้วยุคใหม่จึงออกผลิตภัณฑ์ครอบคลุมไปในทุกจุดของสินค้าสบู่

 

การประสบความสำเร็จของธุรกิจคุณเองก็เช่นกัน คุณทำมันถูกเวลาหรือไม่ คุณรักษาฐานลูกค้าเก่าไว้ได้ไหม สินค้าคุณมีจุดเด่นอะไร และคุณหยุดการพัฒนาไปหรือยัง!?

สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นข้อคิดจากบริษัทพันล้าน ที่น่าเรียนรู้และนำมาปรับใช้กับแทบทุกธุรกิจเลยครับ

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...