Facebook
Twitter
LINE

ในบทความก่อนหน้านี้ เราได้รู้จักกับ Cornelius Vanderbilt เจ้าของธุรกิจรถไฟรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ยุคหนึ่ง

ซึ่งนั่นทำให้ John D. Rockefeller สามารถส่งน้ำมันที่กลั่น ไปถึงลูกค้าได้ทั่วถึง จนกลายเป็นเศรษฐีรวยที่สุดในโลก

ทั้งสองคน คือบุคคลที่ได้ชื่อว่าขับเคลื่อนและควบคุมเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา แทบจะเบ็ดเสร็จ

ซึ่งเบื้องหลังการเติบโตของทั้งทางรถไฟ หัวรถจักร แท่นขุดเจาะ โรงกลั่น หรือท่อส่งน้ำมัน ล้วนต้องการวัสดุในการสร้างเหมือนๆ กัน นั่นก็คือ “เหล็ก”

แล้วแบบนั้น เจ้าของธุรกิจเหล็กรายใหญ่ ย่อมได้ประโยชน์ และกลายเป็นมหาเศรษฐีตามไปด้วย

ซึ่งเขาคนนั้น ก็คือคนที่เราจะพาคุณไปรู้จักกันในบทความนี้ครับ..

 

Andrew Carnegie หนึ่งในชายผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้สร้างอเมริกา”

 

Andrew Carnegie เกิดในประเทศสกอตแลนด์ เมื่อปี 1835

ครอบครัวของเขามีฐานะยากจน ทั้งพ่อและแม่ต้องทำงานหนัก โดยมีอาชีพแรงงานในโรงงานทอผ้าเท่านั้น

แต่.. เมื่อโลกยุคนั้นกำลังเปลี่ยนไป มีการใช้เครื่องจักรมาทำงานแทนคน ครอบครัวเขาก็ต้องกลายเป็นคนว่างงาน

นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญ ทำให้ครอบครัว Carnegie หอบลูกๆ มาแสวงหาโชคบนผืนดินอีกซีกโลก ที่ชื่อว่า “อเมริกา”

 

พ่อแม่ของเขายังคงหางานในโรงงานเช่นเดิม ขณะที่ Andrew ในวัยเด็ก ก็ต้องออกจากโรงเรียน มาทำงานมากมายหลายอย่าง

ซึ่งรวมไปถึงการเป็นเด็กปั่นด้าย และเด็กส่งข้อความโทรเลข

เขาเป็นคนที่ทำงานด้วยความตั้งใจ มักจะจำหน้าและชื่อลูกค้าทุกคน แถมยังเรียนรู้การแกะรหัสมอร์ส จนสามารถอ่านโทรเลขได้โดยที่ไม่ต้องจดลงกระดาษ

ไม่นานนักความสามารถของเขาก็ไปสะดุดตาผู้จัดการของบริษัทรถไฟแห่งหนึ่ง

เขาว่าจ้างคุณ Andrew ให้เป็นคนแปลโทรเลข พร้อมควบตำแหน่งเลขาส่วนตัวด้วยเงินเดือน 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าค่อนข้างเยอะในเวลานั้น

ซึ่งงานนั้น กำลังจะเปลี่ยนชีวิตเด็กหนุ่มวัยไม่ถึง 20 ปี ให้เรียนรู้การทำธุรกิจ คอนเนคชั่น รวมถึงการลงทุนเล่นหุ้นด้วย

 

จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตคุณ Andrew มาถึงตอนอายุ 26 ปี ในช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกา

เขาสังเกตว่า สะพานไม้มักจะเป็นเป้าในการเผาทำลายเป็นอันดับแรกๆ ทำให้สะพานเหล็ก กลายเป็นที่ต้องการอย่างมาก

ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจใช้เงินก้อนที่เก็บไว้ได้ พร้อมกับมิตรทางธุรกิจ ออกมาเปิดบริษัทรับสร้างสะพาน

แต่แทนที่จะสร้างแค่บริษัทสะพาน คุณ Andrew กลับมีความคิดเหนือกว่าคู่แข่งอื่นๆ อีกขั้น

เพราะฉะนั้นกำไรที่หามาได้จากบริษัทสร้างสะพาน ถูกนำไปลงทุนในบริษัทเหมืองเหล็กอีกแห่งควบคู่กันไปด้วย

ซึ่งการทำเช่นนี้ ทำให้เขาสามารถควบคุมทั้งราคาเหล็ก และหมดปัญหาเรื่องเหล็กไม่พอใช้งาน ที่เจ้าอื่นๆ มักจะต้องเจอ

บริการที่ครบวงจร และรวดเร็วทันใจแบบนั้น ทำให้ธุรกิจเขาก้าวหน้าไปมากกว่าคู่แข่งเจ้าอื่นๆ

 

และก็เป็นในช่วงนี้เอง ที่ Andrew ในวัย 33 ปี ตัดสินใจเขียนจดหมายหาตัวเองในอนาคต

โดยในจดหมายเขาได้ระบุไว้ว่า ตนจะเกษียณตัวเองในตอนที่อายุได้ 35 ปีและมุ่งเป้าไปที่การทำให้โลกน่าอยู่มากขึ้น..

…แต่น่าเสียดายที่เขาไม่สามารถทำสิ่งที่เขียนได้จริงๆ

 

สะพาน Eads Bridge หนึ่งในผลงานจากบริษัทสร้างสะพานของ Andrew 

 

เขาใช้ช่วงเวลา 30 ปีหลังจากนั้นในชีวิตของตัวเอง ทำธุรกิจอย่างดุเดือด จนก้าวขึ้นเป็นเจ้าแห่งวงการผู้ผลิตเหล็กในประเทศ

เขาเป็นเจ้าของบริษัทเหมืองเหล็ก

เจ้าของธุรกิจหลอมและผลิตเหล็ก

เจ้าของบริษัททำสะพานที่ใช้งานเหล็กที่ผลิตเอง

มีบริษัททำรางรถไฟ ที่จะวางรางบนสะพานเหล็กของตัวเอง

แถมยังขยายไปยังการก่อสร้างอาคารสูงด้วยโครงเหล็ก ที่กำลังเริ่มได้รับความนิยม

ถึงขนาดที่ในช่วงรุ่งโรจน์ที่สุด บริษัทของเขาวสามารถผลิตเหล็ก ได้มากกว่าประเทศ อังกฤษทั้งประเทศ

 

แต่เบื้องหลังความสำเร็จของธุรกิจใหญ่ ย่อมมีข่าวเสียๆ หายๆ ตามมาเสมอ..

เขาขึ้นชื่อเรื่องการว่าจ้างคนงานที่มีฝีมือ แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้งานคนงานของตัวเองแบบขูดเลือดขูดเนื้อ

ในยุคที่ยังไม่มีการเข้มงวดเรื่องสวัสดิภาพแรงงาน ว่ากันว่าคนงานของเขา จะมีวันหยุดเพียง 1 วันต่อปี แล้วถ้าจะหยุดมากกว่านั้นก็โดนหักเงิน

แถมยังต้องเสี่ยงกับการทำงาน จนขนาดที่ว่าในหนึ่งปีจะมีพนักงานราวๆ 9% เสียชีวิต

และเมื่อคนงานประท้วง เขาก็พร้อมให้เจ้าหน้าที่เข้าจัดการ จนทำให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดและมีคนเสียชีวิต..

 

แต่ต่อให้ชื่อเสียงของ Andrew ในช่วงนี้จะไม่ดีนัก ธุรกิจของเขากลับเติบโตขึ้นไม่มีหยุด

ความสำเร็จนี้ทำให้ แม้แต่ในตอนที่คุณ Andrew ตัดสินใจวางมือจากโลกธุรกิจ ในวัย 66 ปี

เขาก็สามารถขายบริษัทของตัวเองด้วยมูลค่าสูงราวๆ 9.6 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบค่าเงินปัจจุบัน

และก็เป็นเวลานี้เอง ที่เรื่องราวของชายคนนี้เริ่มน่าสนใจ

เพราะนักธุรกิจเขี้ยวลากดิน กลับเป็นเปลี่ยนไปเหมือนคนละคน..

 

Andrew Carnegie ใช้เงินเกือบทั้งหมดที่มีไปกับการกุศล เพื่อเป้าหมายที่จะทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น  ไม่ว่าจะเป็น

– เขาบริจาคเงินให้ห้องสมุดกว่า 2,500 แห่ง

– บริจาค สนับสนุนองค์กรที่อุทิศตัวให้กับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และสันติภาพของโลก

– จัดตั้งมูลนิธิ เปิดโรงเรียน สร้างมหาวิทยาลัย

แถมยังออกเงินสร้างสถานที่จัดคอนเสิร์ตมีชื่อในมหานครนิวยอร์กอย่าง Carnegie Hall

(ซึ่งทั้งหมดนี้เขาล้วนแต่จะทำมันแบบไม่ประสงค์ออกนาม และไม่ได้ขออะไรตอบแทน

แต่ถึงอย่างนั้น สถานที่ส่วนใหญ่ก็มักจะเปลี่ยนชื่อเป็นนามสกุลของเขา เพื่อให้เกียรติคุณ Andrew หลังจากที่เขาเสียชีวิตอยู่ดี)

 

บรรยากาศภายในของ Carnegie Hall

 

ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าการกระทำในช่วงปลายชีวิตของเขา นั้นทำไปเพื่ออะไร!?

เกิดขึ้นจากความรู้สึกผิด อยากชดใช้สิ่งที่ตัวเองเคยทำ

หรือเป็นแผนงานที่เขาวางไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มทำธุรกิจใหม่ๆ แล้ว

ในท้ายที่สุด หลังจากทำการกุศลต่อเนื่องตลอด 18 ปี คุณ Andrew ก็เสียชีวิตไปในปี 1919 ด้วยวัย 83 ปี

เขาจบชีวิตลงไปในฐานะเศรษฐีผู้มีทั้งคนรัก และคนเกลียด

ราวกับเป็นการยืนยันคำกล่าวที่ว่า “เหรียญนั้นมีสองด้านเสมอ”

และถ้าคุณได้เจอแต่ด้านหัวของเหรียญ ในอีกแง่มุมหนึ่ง คนอื่นๆ ก็อาจจะได้เจอแต่ด้านก้อยของมัน ก็ได้เช่นกัน..

 

 

ติดตาม Billion Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionmindset.ig/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/Billion_Twit

– ติดตามเพจ Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา

www.history.com/topics/19th-century/andrew-carnegie

www.biography.com/business-figure/andrew-carnegie

www.carnegie.org/interactives/foundersstory

https://en.wikipedia.org/wiki/Andrew_Carnegie

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...