Facebook
Twitter
LINE

คุณใช้แอปแชทตัวไหนบ่อยที่สุด!?

บางคนอาจจะตอบว่าใช้ Facebook Messenger บางคนอาจจะใช้แต่ Line

หรือบางคนอาจจะตอบว่าใช้แต่ Tinder (ฮั่นแน่ะ!!)

แต่คุณรู้หรือไม่ว่าแอปแชทไหน คือแอปที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก.. คำตอบก็คือ WhatsApp

และกว่าจะมาเป็นแอปที่มีคนใช้นับพันล้านคน ประวัติของแอปก็ดูน่าสนใจ แถมประวัติคนสร้างแอปนั้นก็ดูน่าสนใจไม่แพ้กัน

ซึ่งเราจะพาคุณไปรู้จักกับ Jan Koum ผู้ก่อตั้ง WhatsApp กันให้มากยิ่งขึ้นครับ..

 

Jan Koum ชายผู้ก่อตั้ง WhatsApp

 

จากเด็กอพยพ สู่โปรแกรมเมอร์มือฉมัง

เด็กชาย Jan Koum เกิดเมื่อปี 1976 ในพื้นที่รอบนอกของเมืองเคียฟ ประเทศยูเครน ซึ่งในเวลานั้นยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต

เขาเติบโตมากับความยากจน และความวุ่นวายทางการเมือง ในช่วงที่สหภาพโซเวียตกำลังเสื่อมถอย

จนกระทั่งตอนอายุ 16 ปี เมื่อโซเวียตล่มสลาย แม่จึงตัดสินใจพาลูกชายอพยพมาสหรัฐอเมริกา

ตามประสาของผู้อพยพที่ไม่ค่อยมีเงินมากนัก ทุกคนในครอบครัวจึงต้องทำงานพิเศษ เพื่อหารายได้มาดูแลซึ่งกันและกัน

 

Jan Koum รับจ้างทำงานหลายอย่าง ทั้งร้านขายของชำ ทั้งเป็นพนักงานทำความสะอาดห้องน้ำ

จนกระทั่งอายุ 18 ปี เขาก็พบว่าตัวเองมีความสนใจในด้านระบบคอมพิวเตอร์เป็นอย่างมาก

ดังนั้นเขาจึงเริ่มฝึกเขียนโปรแกรมด้วยจนเอง โดยอาศัยการซื้อหนังสือมือสองมาอ่าน (พอฝึกจนทำเป็น ก็ต้องขายหนังสือต่อ เพื่อหาเงินไปซื้อเล่มอื่น)

ความขยันของเด็กหนุ่มคนนี้ ทำให้ในที่สุดเขาก็เรียนจบ ม.ปลาย และได้เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย San Jose State

ซึ่งในมหาวิทยาลัยนี้เอง ทำให้เขาได้รู้จักกับ Brian Acton ชายที่ในอนาคตจะเป็นคู่หูก่อตั้งแอปแชทชื่อดัง

ฝีมือการเขียนโปรแกรมของ Jan Koum เรียกว่าโดดเด่นมาก ถึงขั้นได้งานพิเศษเป็นคนตรวจสอบระบบความปลอดภัยให้แก่บริษัทยักษ์ใหญ่ Ernst & Young ในระหว่างเรียน

จนกระทั่งฝีมือเขาเตะตาของบริษัท Yahoo! รับเข้าทำงานทั้งที่ยังเรียนไม่จบ

เขาจึงตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อทำงานแบบฟูลไทม์

 

อาคารบริษัท Yahoo! ที่บังคาลอร์ ประเทศ‎อินเดีย

 

จากพนักงานประจำ สู่ผู้ก่อตั้งแอปแชทแสนล้าน

Jan Koum ทำงานกับบริษัท Yahoo! เป็นเวลานานถึง 9 ปี

ในระหว่างนั้น ต้องผ่านช่วงเวลาแสนเศร้าของชีวิต ทั้งการที่พ่อซึ่งอยู่ในยูเครนเสียชีวิต ตามมาด้วยแม่ในสหรัฐฯ เสียชีวิตไปอีกคน

เขาตัดสินใจลาออกจากบริษัทเพื่อออกเดินทางท่องเที่ยวหลังจากนั้น

ซึ่งก็เป็นในช่วงเวลานี้เอง ที่เขามองเห็นถึงศักยภาพของการเติบโตของสมาร์ตโฟน ที่กำลังเริ่มขายดีไปทั่วโลก

จึงเกิดความคิดที่ว่า “ถ้ามีแอปแชท ที่สามารถคุยข้ามกันในสมาร์ตโฟนได้ทุกระบบ โดยไม่ต้องเสียค่าโทรศัพท์ มันต้องได้รับความนิยมแน่ๆ!!”

 

ในปี 2009 Jan Koum  ตัดสินใจจับมือกับเพื่อสมัยเรียน Brian Acton ก่อตั้งบริษัท WhatsApp

ซึ่งต้องบอกว่า  แอปเวอร์ชันแรกที่ออกมานั้น ถือเป็นผลงานที่ค่อนข้างจะเลวร้าย

เพราะแอปนั้นใช้งานลำบาก รายชื่อผู้ติดต่อแสดงผลไม่สมบูรณ์ แอปค้างบ่อยครั้ง จนไม่ได้รับความนิยม

หลังจากการครุ่นคิดถึงสาเหตุของความผิดพลาด พวกเขาจึงตัดสินใจ “ยกเครื่อง” แอปแชทตัวนี้ใหม่ทั้งหมด

ไม่นานนัก พวกเขาก็สามารถพัฒนาแอปแชทตัวใหม่ ที่ตั้งชื่อเล่นๆ ว่าเป็น WhatsApp 2.0 ได้สำเร็จ

และที่สำคัญคือ แอปตัวปรับปรุงนี้ก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จนมีผู้ใช้งาน 200,000 คนในเวลาสั้นๆ ด้วย

 

ตลอดเวลา 4 ปีหลังจากนั้น WhatsApp ก็พัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการเติบโตของตลาดสมาร์ตโฟน

จำนวนผู้ใช้เองก็มากขึ้นจนพุ่งไปแตะ 400 ล้านคนต่อเดือน (แซงหน้าแอปดังในอดีตอย่าง BBM แบบไม่เห็นฝุ่น)

และความสำเร็จนี้ทำให้ในปี 2014  Mark Zuckerberg ตัดสินใจเข้าซื้อ WhatsApp

ในตอนนั้นเขายอมควักกระเป๋าด้วยเงินสดและหุ้น เป็นมูลค่ากว่า 650,000 ล้านบาท เพื่อสู่ขอแอปแชทนี้มาไว้ในครอบครอง

 

โลโก้ของ WhatsApp 

 

WhatsApp และเรื่องราวหลังจากนั้น

หลังจากถูกซื้อไปโดยเฟซบุ๊ก WhatsApp ก็ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น พร้อมกับตัวเลขผู้ใช้งานที่มากขึ้นเรื่อยๆ

ข้อมูลเมื่อสิ้นปี 2019 มูลค่าทางตลาดของกลุ่มธุรกิจเฟซบุ๊กอยู่ที่ 18 ล้านล้านบาท โดยในเวลานั้นแต่ละแอป มีผู้ใช้งานต่อเดือนดังนี้..

Facebook มีผู้ใช้งานอยู่ที่ราวๆ  2,600 ล้านคน

Messenger มีผู้ใช้งานมากกว่า 1,300 ล้านคน

Instagram มีผู้ใช้งานมากกว่า 1,000 ล้านคน

และ WhatsApp มีผู้ใช้งานอยู่ที่ราวๆ 2,000 ล้านคน ในแง่ของผู้ใช้งานนั้น เป็นรองเพียงแค่ธุรกิจหลักอย่าง Facebook เท่านั้น

 

ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขผู้ใช้งานแอปแชทอื่นๆ ทั่วโลก ในช่วงเวลาเดียวกัน…

WeChat มีผู้ใช้งานราว 1,200 ล้านคนต่อเดือน

QQ Mobile มีผู้ใช้งานราว 800 ล้านคนต่อเดือน

Line มีผู้ใช้งานราว 220 ล้านคนต่อเดือน

ในตลาดแอปแชทนั้น ปรากฏว่า WhatsApp คือเบอร์หนึ่งอย่างชัดเจน ในขณะที่เบอร์สองก็คือ Messenger

ซึ่งก็เท่ากับว่า Facebook สามารถครองตลาดแอปแชทได้แบบที่คู่แข่งยากจะตามทัน

 

หลังจากเกิดเหตุการณ์อื้อฉาว เรื่องปัญหาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ และการขายข้อมูลผู้ใช้งาน ในปี 2018

Jan Koum ลาออกจาก WhatsApp ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ Mark Zuckerberg

แต่เขาก็ยังเป็นบุคคลที่ร่ำรวยเป็นอันดับที่ 143 ของโลก ด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า 300,000 ล้านบาท

 

และนี่น่าสนใจก็คือ ตลอดเวลาที่ผ่านมา เขาบริจาคเงินให้องค์กรการกุศลไปแล้วกว่า 35,000 ล้านบาท ซึ่งนั่นเป็นตัวเลขที่สูงกว่า 10% ของทรัพย์สินของเขาอีกด้วย

และไม่แน่ว่าในอนาคต เงินที่เขาบริจาคไป อาจจะมีส่วนช่วยเติมเต็มฝันของเด็กยากไร้สักคน

จนในที่สุด เด็กคนนั้นก็เติบโตมาเป็นบุคลากรสำคัญที่มีผลงานระดับโลก

อย่างที่เด็กอพยพชื่อ Jan Koum สามารถสร้างแอปแชทเบอร์หนึ่งของโลก ขึ้นมาได้สำเร็จ..

 

 

 

ติดตาม Billion Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionmindset.ig/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/Billion_Twit

– ติดตามเพจ Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา

www.forbes.com/sites/parmyolson/2014/02/19/exclusive-inside-story-how-jan-koum-built-whatsapp-into-facebooks-new-19-billion-baby/

bookipi.com/university/whatsapp-founder-jan-koum/

www.cnbc.com/2017/04/24/how-whatsapp-founder-jan-koum-went-from-welfare-to-billionaire.html

https://www.forbes.com/profile/jan-koum/#200780dd370f

https://www.statista.com/statistics/255778/number-of-active-wechat-messenger-accounts/

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...