Facebook
Twitter
LINE

เวลาเราจองที่พักออนไลน์ เว็บที่ใช้หลักๆ ก็อาจจะเป็น Agoda หรือไม่ก็ Booking

ถ้าเว็บไหนแพงกว่า เราก็จะไปจองอีกเว็บที่ราคาถูกหรือมีโปรโมชั่นดีกว่า

แต่รู้หรือไม่ว่า.. ทั้งสองเว็บนั้นมีเจ้าของเดียวกัน นั่นก็คือบริษัทที่ชื่อว่า Booking Holdings

แล้วท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก สายการบินขาดทุน โรงแรมต้องปิดตัวลง.. เว็บไซต์รับจองโรงแรมล่ะ จะได้รับผลกระทบแค่ไหน!?

มาติดตามสรุปกันเลยครับ…

 

Booking Holdings คือบริษัทสัญชาติอเมริกัน ที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์จำนวนมาก ตัวอย่างเช่น Agoda, Booking, Priceline และ Kayak

เนื่องจากธุรกิจของบริษัทนี้ จะเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเกือบทั้งหมด ทั้งจองห้องพัก จองตั๋วเครื่องบิน จองรถเช่า

พอเกิดการล็อกดาวน์ คนไม่เดินทางท่องเที่ยว บริษัทก็ย่อมได้รับผลกระทบไปเต็มๆ

ถึงแม้ “งบกำไรขาดทุน” จะยังไม่ออก แต่ “ราคาหุ้น” ก็ลงไปล่วงหน้าแล้ว

จากต้นปี 2020 ที่หุ้นของบริษัทซื้อขายอยู่ประมาณ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ตกลงมาซื้อขายกันเพียง 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลงมาเหลือเพียง 60% ของราคาต้นปีเท่านั้น

และนั่นทำให้มูลค่าบริษัทลดลงไปถึง 1.1 ล้านล้านบาท ภายในเวลาเพียง 4 เดือนอีกด้วย!!

 

กระทั่งล่าสุด ผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2020 ก็เปิดเผยออกมา…

ในช่วงไตรมาสแรกปี 2019 บริษัทสามารถทำรายได้ 90,000 ล้านบาท มีกำไร 24,000 ล้านบาท

ส่วนไตรมาสแรกปี 2020 บริษัทมีรายได้ลดลงเหลือ 73,000 ล้านบาท และขาดทุน 22,000 ล้านบาทแล้ว

 

แล้วถ้าเราย้อนกลับไปดูในปีก่อนหน้านี้ จะพบว่าโดยปกติด Booking Holdings จะมีรายได้มากที่สุดในช่วงไตรมาสที่ 3 ก็คือระหว่างเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม

แต่เมื่อเกิดวิกฤติเช่นนี้ ก็เป็นไปได้ว่าทั้งไตรมาส 2 หรือ 3 ของปีนี้ บริษัทก็จะยังคงมีผลการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่องไปอีก

 

ขอปิดท้ายด้วยความคิดเห็นของ Glenn Fogel ซีอีโอของบริษัทนี้..

เขามองว่า สุดท้ายแล้วคนก็ยังจะโหยหาการท่องเที่ยว แล้วธุรกิจด้านการท่องเที่ยวก็จะต้องกลับมาแน่นอน

แต่คำถามสำคัญก็คือ.. เราไม่รู้ว่าคนจะมีความมั่นใจ กลับมาเดินทางท่องเที่ยวเมื่อไร!?

อาจจะต้องรอจนกว่าจะมีการคิดค้นวัคซีนได้สำเร็จ หรือรอจนกระทั่งคนส่วนใหญ่บนโลกได้รับวัคซีน เพื่อให้นักท่องเที่ยวกลับมามีความมั่นใจมากขึ้น

ระหว่างนั้นบริษัท Booking Holdings จำเป็นจะต้องลดค่าใช้จ่าย และทำให้บริษัทมีกระแสเงินสด ไว้ใช้อย่างเพียงพอ และทำได้แค่อดทนเฝ้ารอจนกว่าวิกฤติจะผ่านพ้นไป

ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้น มันไม่ได้ใช้เวลาแค่ 2-3 ไตรมาส แต่ต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานนับปี

แต่ถึงมันจะนาน ซีอีโอคนนี้ก็มั่นใจว่าบริษัทจะผ่านมันไปได้แน่ๆ

 

จริงเหรอ!? หรือเขาแค่พูดให้นักลงทุนสบายใจ

ถ้าเรามองตามความเป็นจริง จะพบว่าบริษัทมีเงินสดอยู่ประมาณ 230,000 ล้านบาท

ถ้าหากพวกเขายังมีผลประกอบการขาดทุนไปเรื่อยๆ เดือนละ 7,500 ล้านบาท ก็จะยังคงมีเงินสดมาโปะขาดทุนไปได้อีกถึง 30 เดือน หรือเกือบๆ 3 ปี

 

แต่ถ้าเราคิดเล่นๆ ในแง่ร้ายกว่านั้น เอาให้ร้ายสุดเลยว่าบริษัทไม่มีรายได้เข้ามาเลย (ซึ่งเกิดขึ้นได้ยากมาก)

บริษัทก็จะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมากถึงเดือนละ 25,000 ล้านบาท

ถึงจะเป็นค่าใช้จ่ายที่เยอะมาก แต่พวกเขาก็จะยังคงมีเงินสดใช้ไปได้อีก 9 เดือน จนกว่าเงินสดจะหมดลง

 

 

ซึ่งเรื่องนี้ น่าจะเป็นแง่คิดดีๆ ให้กับอีกหลายธุรกิจได้เช่นกัน

แม้เราจะประเมินความเสี่ยงไว้มากเพียงใด แต่บางครั้งก็อาจจะเกิดวิกฤติที่เกินคาด

เราอาจจะคิดว่าเงินสำรอง 2-3 เดือนก็เพียงพอแล้ว.. แต่ตอนนี้มันก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเราคิดผิด!!

ในอนาคต เราอาจจะต้องเตรียมเงินสำรองไว้นับปี เพื่อรับมือกับวิกฤติรอบหน้า ที่อาจจะเกิดหรือไม่เกิดก็ได้

แต่สุดท้าย คนที่เตรียมพร้อมมากกว่า ก็ย่อมเป็นฝ่ายได้เปรียบในท้ายที่สุด…

 

เวลาเราจองที่พักออนไลน์ เว็บที่ใช้หลักๆ ก็อาจจะเป็น Agoda หรือไม่ก็ Bookingถ้าเว็บไหนแพงกว่า…

โพสต์โดย Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม 2020

 

ติดตาม Billion Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionmindset.ig/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/Billion_Twit

– ติดตามเพจ Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา:

https://ir.bookingholdings.com/financial-information/quarterly-results

https://www.macrotrends.net/stocks/charts/BKNG/booking-holdings/cash-on-hand

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...