Facebook
Twitter
LINE

หลายคนน่าจะได้ข่าวการอนุมัติวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเยียวยาโควิด-19 มูลค่ากว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ที่เพิ่งผ่านการลงนามรับรองไปเมื่อสัปดาห์ก่อน

เม็ดเงินมูลค่ามหาศาลนี้ จะถูกอัดฉีดเข้าไปช่วยเหลือทั้งประชาชนทั่วไป คนที่ตกงาน รวมไปถึงรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานมากยิ่งขึ้น

แต่เงินกว่า 60 ล้านล้านบาทนี้ จะถูกใช้ในการช่วยเหลือด้านใดบ้าง เราลองมาดูรายละเอียดเป็นส่วนๆ กันครับ..

 

 

ส่วนแรก คือเงินที่จะไปถึงประชาชนโดยตรง ประกอบไปด้วย

– เงินช่วยเหลือ 43,000 บาทต่อคน

เป็นเงินช่วยเหลือสำหรับคนที่มีรายได้ไม่เกิน 2,300,000 บาท/ปี ซึ่งให้เพิ่มเติมจากครั้งก่อน

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น รายได้เฉลี่ยคนอเมริกัน อยู่ที่ประมาณ 1,900,000 บาท/ปี ซึ่งใครที่สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยมาเล็กน้อย ก็จะยังคงได้รับเงินก้อนนี้อยู่

– ขยายระยะเวลาจ่ายเงินช่วยเหลือคนว่างงาน สัปดาห์ละ 9,200 บาท ไปจนถึงเดือนกันยายน

– ขยายเงินลดหย่อนภาษีบุตร สูงสุดถึง 110,000 บาท ซึ่งจะครอบคลุมเด็กกว่า 4,000,000 คน

 

– ประกันสุขภาพผู้ว่างงาน 100% ซึ่งสำหรับผู้ที่ตกงาน หรือถูกเลิกจ้าง รัฐบาลยังคงสนับสนุนสวัสดิการประกันสุขภาพ COBRA เต็ม 100%

 

ส่วนที่สอง คือการสนับสนุนวัคซีน และการตรวจโควิด-19

– เพิ่มงบตรวจเชื้อโควิด-19 อีก 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อขยายขีดความสามารถในการตรวจเชื้อให้ครอบคลุม และสนับสนุนการทำงานของผู้เกี่ยวข้อง

– เพิ่มเงินสนับสนุนอีก 600,000 ล้านบาท ให้หน่วยแพทย์ทำงานด้านการฉีดวัคซีนได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงขยายการฉีดวัคซีนไปยังประชาชนในพื้นที่ห่างไกล

 

ส่วนสุดท้าย คือการสนับสนุนหน่วยงานอื่นๆ

– สนับสนุนหน่วยงานท้องถิ่น 10 ล้านล้านบาท

เม็ดเงินนี้เป็นเงินก้อนใหญ่ที่สุด โดยจะเป็นการเพิ่มงบสนับสนุนรัฐบาลรัฐต่างๆ และหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อควบคุมโควิด-19 ให้ควบคุมได้โดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ยังจะกระตุ้นให้หน่วยงานท้องถิ่นคงการจ้างงานเดิม เพิ่มการจ้างงานใหม่ และสร้างงานให้กับประชาชนเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง

 

– สนับสนุนสถาบันการศึกษา 5.2 ล้านล้านบาท

โดยจะเป็นการเพิ่มงบให้โรงเรียนระดับ ป.1 ถึง ม.6 และมหาวิทยาลัยที่ยังขาดแคลนอุปกรณ์ เพื่อยกระดับการเรียนออนไลน์ให้ได้คุณภาพทัดเทียมกันมากขึ้น

รวมไปถึงการเตรียมสถาบันการศึกษาให้พร้อมสำหรับการกลับมาเปิดเรียนปกติอีกครั้ง หลังจากควบคุมโควิด-19 ได้เรียบร้อยแล้ว

 

สรุปปิดท้าย..

แผนงานดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นการอนุมัติครั้งใหญ่ครั้งแรกของประธานาธิบดี Joe Biden ที่เพิ่งจะเข้ามารับตำแหน่งไปไม่นานนี้

โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังจากเกิดวิกฤติโควิด-19 ขึ้นในปีที่ผ่านมา

ทาง IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐ ติดลบไปถึง -4% ในปีที่ผ่านมา แต่คาดว่าในปี 2021 นี้ น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกราวๆ 3%

ซึ่งหลังจากนี้ เศรษฐกิจของประเทศที่มีมูลค่า GDP สูงถึง 600 ล้านล้านบาท สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกนี้ จะเป็นไปในทิศทางใดต่อ?

คุณคิดเห็นอย่างไรบ้าง ลองมาร่วมแลกเปลี่ยนกันครับ..

 

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น

 

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...