Facebook
Twitter
LINE

ท่ามกลางความนิยมของ “แอปเรียกรถผ่านมือถือ” ซึ่งมีมากขึ้นทั่วโลก

แน่นอนว่า ด้วยลักษณะการทำงานของแอป ซึ่งสามารถเรียกทั้ง “แท็กซี่” และ “รถยนต์ส่วนบุคคล” ให้มารับได้นั้น

ก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมา อย่างที่เราเห็นในข่าวกันอยู่บ่อยครั้ง

บางประเทศปล่อยให้เป็นเรื่องถูกกฎหมายไปเลย ให้รถส่วนบุคคล และรถสาธารณะ สามารถแข่งขันตรงนี้ได้อย่างเสรี

ขณะที่บางประเทศ รวมถึงไทย ก็ยังคงให้การนำรถส่วนบุคคล มาวิ่งรับส่งคนนั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมายอยู่

ผมจะขอข้ามเรื่องข้อกฎหมายตรงนั้นไป แล้วพาผู้อ่านทุกท่านไปดูกรณีศึกษาล่าสุดจากสิงคโปร์

ว่าพวกเขามีหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาของความขัดแย้ง และหาทางออกให้เหล่า “คนขับแท็กซี่” ได้อย่างไร…

 

 

ก่อนอื่น ตามข้อมูลที่รวบรวมมาได้นั้น ในสิงคโปร์มีจำนวนผู้ขับแท็กซี่ที่มีใบอนุญาต 100,411 คน

ทีนี้เรามาพูดถึงบริษัทแท็กซี่ ComfortDelGro ซึ่งเปิดมาตั้งแต่ช่วงยุค 1970 หรือราวๆ 50 ปีก่อน

บริษัทนี้มีจำนวนรถอยู่ประมาณ 12,000 คัน

ถ้าคิดคร่าวๆ นี่ก็คือบริษัทใหญ่พอสมควร เพราะจำนวนรถก็คิดเป็นประมาณ 12% ของจำนวนคนขับที่มีใบอนุญาตทั้งหมด

แต่นั่นยังไม่ใหญ่เท่า Grab แอปที่ทุกคนรู้จักชื่อดี

แม้ Grab จะเปิดตัวในสิงคโปร์เมื่อปี 2013 ผ่านมาไม่ถึงสิบปีเท่านั้น กลับมีรถแท็กซี่ในระบบกว่า 49,302 คัน

ซึ่งนั่นคิดเป็นเกือบ 50% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนแท็กซี่ทั้งประเทศเลยทีเดียว!!

 

ทีนี้ทาง ComfortDelGro มองว่าท่ามกลางความนิยมของการใช้งานแอปที่มากขึ้น จะไปไหนคนก็เรียกรถผ่านแอปกันแทบทั้งหมด

คนเรียกแท็กซี่ด้วยวิธีโบกรถน้อยลง วิธีโทรเรียกนี่แทบจะหายไปเลย แถมยังไม่ค่อยใช้เงินสดกันแล้ว

แทนที่จะปล่อยให้คนขับแท็กซี่ที่ใช้แอปไม่เป็น มาคร่ำครวญ ออกมาประท้วง แล้วกล่าวโทษกว่าแอปคือสาเหตุของรายได้ที่ลดลง

พวกเขาทำสิ่งที่แตกต่างออกไป

พวกเขารู้ว่าไม่ควรอยู่เฉย แท็กซี่ทุกคันของบริษัทต้องปรับตัว  จะต้องเป็นแท็กซี่สมัยใหม่ ด้วยแนวคิดที่ว่า…

“แท็กซี่ทุกคันจะต้องรู้วิธีรับงานผ่านแอป!!”

 

เริ่มจากแนวคิดง่ายๆ แบบนี้แหละครับ พวกเขาจึงประสานขอความร่วมมือไปยังสมาคมแท็กซี่แห่งชาติ (NTA) ในการขอความร่วมมือเรื่องจัดอบรมขึ้น

ยังไม่พอ ยังมีการประสานงานไปยังหน่วยงานด้านแรงงานของประเทศ และหน่วยงานด้านการศึกษา เพื่อทำให้การอบรมครั้งนี้บรรลุผลที่สุด

เป้าหมายครั้งนี้ คือการเปลี่ยนคนขับแท็กซี่ 10,000 คน ให้ใช้งานแอป ComfortDelGro Driver ของทางบริษัท

จากผู้ไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี มาเป็นคนขับแท็กซี่ที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ไม่ว่าจะเป็น การค้นหาผู้โดยสาร การกดรับงาน การรับเงินค่าโดยสาร การจัดการรถตัวเอง หรือกระทั่ง การใช้งานแอปแผนที่เพื่อเลือกเส้นทางที่เหมาะสมขึ้นกว่าเดิม

 

แล้วใครจะมาเรียนบ้าง!?

ความน่าสนใจอยู่ตรงนี้ครับ พวกเขาคิดว่า ถ้าไปบังคับคนขับแท็กซี่ 10,000 คน ให้มาอบรมวิธีการขับแบบใหม่  ใครจะอยากมาเรียน

แท็กซี่หลายคนจะมองว่าเป็นเรื่อง “เสียเวลา” เอาเวลาในการอบรมนั้น ไปวิ่งรับงานหาเงินเข้ากระเป๋าดีกว่าไหม!?

ตามข้อมูลระบุว่า รายได้เฉลี่ยของคนขับแท็กซี่ที่สิงคโปร์ ตกปีละประมาณ 785,748 บาท

ตีกลมๆ เป็นเงินเดือน เดือนละ 65,000 บาท

หรือประมาณวันละ 2,200 บาทเลยทีเดียว

 

สิ่งที่ผู้จัดการอบรมทำก็คือ “การมองไปยังผลประโยชน์ร่วมกัน”

ถ้าบริษัทจัดอบรมเป็นผลสำเร็จ แท็กซี่ในบริษัทจะสามารถหารายได้มากกว่าเดิม แล้วส่วนแบ่งด้านผลประโยชน์ก็จะหมุนกลับมายังบริษัทในอนาคต

เมื่อคิดแบบนี้ พวกเขาก็พร้อมที่จะลงทุนจ้างแท็กซี่มาอบรมในหลักสูตรดังกล่าว

“คุณหยุดวิ่ง คุณเสียรายได้..

ไม่เป็นไร คุณมาอบรม เราจ่ายเงินให้”

แม้ขณะนี้ รายงานข่าวยังไม่ตีตัวเลขออกมาว่า คนขับแท็กซี่จะได้รับเงินมากเพียงใดระหว่างการอบรม

มีการคาดการณ์ว่า จะจ่ายให้ไม่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยขั้นต่ำของแท็กซี่สิงคโปร์ ที่ประมาณชั่วโมงละ 10 ดอลลาร์สิงคโปร์

หรือคิดเป็นเงินไทยตกประมาณ 230 บาท/ชั่วโมง

ถ้าใน 1 วันอบรม 8 ชั่วโมง ก็ได้อยู่ประมาณ 1,840 บาท

ซึ่งแม้มันจะไม่เท่ากับรายได้เฉลี่ยของการขับปกติ แต่ก็เป็นตัวเลขที่ดึงดูดความสนใจของคนขับแท็กซี่ได้ไม่น้อย

เพราะพวกเขาไม่ต้องออกไปเสี่ยงว่าจะได้เงินหรือไม่บนท้องถนน ต้องรับลูกค้า ต้องฝ่ารถติด

ทางบริษัท ComfortDelGro จึงค่อนข้างมั่นใจว่าการจัดอบรมครั้งนี้จะประสบผลสำเร็จ และสุดท้ายพวกเขาจะผลิต “คนขับแท็กซี่ยุคใหม่” ได้ตามเป้าหมาย

 

จากแท็กซี่สิงคโปร์ ย้อนมาดูตัวเราเอง…

เมื่อโลกเปลี่ยนไป เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็เข้ามาเพื่อทำให้ชีวิตของใครหลายคนสะดวกสบายขึ้น

แต่ความเปลี่ยนแปลง ก็มักจะส่งผลกระทบต่อบางคนที่ดื้อดึง และปรับตัวไม่ทันกับสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามา

ในขณะที่บางคน กลับมานั่งคิดว่า “เราจะปรับตัว เอาตัวรอด และหาประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงนั้นได้อย่างไร!?”

ซึ่งแน่นอนว่า ผลลัพธ์ของคน 2 กลุ่ม มันจะเป็นไปในทิศทางตรงข้ามกัน ฝ่ายที่ปรับตัวได้ ก็มักจะได้ประโยชน์ไป

ส่วนฝ่ายที่ปรับตัวไม่ทัน ก็จะหันไปโทษโชคชะตา โทษดวง หรือกระทั่งกล่าวโทษเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ

จึงจะขอปิดบทความนี้ด้วยคำถามที่ว่า คุณคิดว่า… ตัวเราควรจะเป็นคนกลุ่มใดครับ??

 

ที่มา:

https://www.straitstimes.com/singapore/transport/comfortdelgro-and-national-taxi-association-launch-digital-training-scheme-for

https://www.blognone.com/node/110544

https://en.wikipedia.org/wiki/Taxicabs_of_Singapore

https://www.payscale.com/research/SG/Job=Taxi_Driver/Salary

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...