Facebook
Twitter
LINE

คนไทยในกลุ่มของผู้มีรายได้น้อย มีจำนวนประมาณ 7,000,000 คน

ในส่วนนั้น 1,330,000 คนติดหนี้นอกระบบ คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 19%

เงินกู้นอกระบบ ขึ้นชื่อว่าดอกเบี้ยโหด แล้วทำไมคนจึงยังนิยมใช้กัน??

 

 

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันว่าดอกเบี้ยของ “เงินกู้นอกระบบ” นั้นโหดร้ายขนาดไหน…

ถึงแม้จะมีกฎหมายห้ามบุคคลธรรมดา คิดดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างกันมากกว่า 15% ต่อปี

แต่ในทางปฏิบัติจริง เงินกู้นอกระบบหลายเจ้าไม่ได้เป็นไปแบบนั้น

มีการคิดดอกเบี้ยหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่เดือนละ 20% บ้างก็วันละ 1%  บางก็คิดเป็นสัปดาห์ละ 10% เลยทีเดียว

ยกตัวอย่างเป็นกรณีศึกษา…

ชาวบ้านคนหนึ่งที่เดือดร้อน ต้องการเงินด่วน 10,000 บาท

แล้วเจอกับคนปล่อยเงินกู้ในท้องถิ่น ที่คิดดอกเบี้ยวันละ 1% (หรือเดือนละ 30%) กำหนดคืนเงินภายใน 1 เดือน

เท่ากับว่าเขาจะต้องเสียดอกเบี้ยวันละ 100 บาทไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหาเงินมาคืนตามกำหนดได้สำเร็จ

 

พอผ่านไป 1 เดือน หากเขาไม่สามารถหาเงินมาคืนได้ เท่ากับว่าเขาติดหนี้อยู่ 13,000 บาทแล้ว

ทีนี้เจ้าหนี้ก็ใช้อำนาจมาปรับยอดเงินใหม่ คราวนี้คิดดอกเบี้ยวันละ 1% เหมือนเดิม

แต่แทนที่จะคิดดอกเบี้ยวันละ 100 บาท จากเงินต้นทีแรก กลับคิดดอกเบี้ยวันละ 130 บาท

ยิ่งทำให้โอกาสที่คนหนึ่งคนจะหาเงินมาคืนได้มีน้อยลง

ซึ่งถ้าปล่อยให้หนี้หมักหมม แล้วเหล่าเจ้านี้ใช้อำนาจ (ที่อาจจะไม่ถูกกฎหมาย) คิดดอกเบี้ยทบต้นไปเรื่อยๆ

ยอดเงินกู้ตอนแรก 10,000 บาท บวกกับดอกเบี้ยเดือนละ 30%

เพียงแค่ 1 ปี ลูกหนี้ก็จะเป็นหนี้ถึง 232,980 บาท… กลุ่มคนรายได้น้อย คงจะไม่สามารถชำระเงินตรงนี้ได้แน่ๆ

 

เหล่าลูกหนี้ก็จะก้าวไปสู่หนี้อีกหนึ่งระดับ นั่นคือการไปกู้เจ้าใหม่ มาโปะเจ้าเดิม วนเวียนกันไปมาอยู่แบบนั้น

กลายเป็นวงจรเงินกู้นอกระบบ ที่ติดอยู่กับชีวิตของประชาชนผู้มีรายได้น้อย

แล้วทำให้เกิดปัญหาหลายๆ อย่างตามมาอย่างที่เห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง

 

อ่าว.. แล้วถ้ารู้ว่าหนี้นอกระบบดอกเบี้ยโหดขนาดนี้ ยังจะไปกู้กันทำไม??

เนื่องจากทั้งสภาวะเศรษฐกิจ สภาพสังคม ความรู้ด้านการศึกษา ที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน

ทำให้โอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือความจำเป็นในการใช้เงินเร่งด่วน ของแต่ละคนต่างกันไปด้วย

โดยเฉพาะเหล่าคนมีรายได้น้อย และประชาชนรากหญ้า ซึ่งกลุ่มนี้มักจะมีเครดิตน้อยหรือไม่มีเครดิตเลย

ครั้นจะไปกู้เงินจากสถาบันการเงิน หรือแหล่งเงินที่ถูกกฎหมายก็แทบเป็นไปไม่ได้

ยิ่งบางคนเจอกับสถานการณ์ที่ต้องใช้เงินด่วน

เช่น รถที่ต้องใช้ทำมาหากินนั้นเสีย ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ฉับพลัน

หรือหาเงินไปหมุนในธุรกิจ จ่ายค่าวัตถุดิบ หรือจ่ายเงินเดือนพนักงานอย่างเร่งด่วน เป็นต้น

เมื่อหันหน้าไปพึ่งช่องทางปกติไม่ได้ เหล่าเงินกู้นอกระบบก็กลายมาเป็นทางเลือกในตอนนั้น

และพอได้เผลอก้าวเท้าเข้าไปในวงจรดังกล่าว กว่าจะไหวตัวทันแล้วดึงเท้ากลับมา ก็พบว่าถูก “กับดัก” ล็อคเอาไว้อย่างเจ็บปวดแล้ว….

 

สินเชื่อทะเบียนรถ อีกหนึ่งทางเลือกที่ได้รับความนิยม

ย้อนกลับไปในช่วง พ.ศ.2520 สมัยนั้นคนต่างจังหวัดยังเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก

ได้มีการเริ่มเปิดบริการสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ มาเป็นแหล่งเงินกู้ทางเลือกใหม่

ปรากฏว่าได้รับความนิยม เพราะลูกหนี้ที่ไม่มีเครดิต ก็สามารถหาเงินด่วนได้ด้วยรถของพวกเขาเอง

เลือกกำหนดผ่อนชำระได้ยาวกว่าเงินกู้นอกระบบหลายแห่ง รวมถึงดอกเบี้ยที่อาจจะถูกกว่ากันถึง 10 เท่า!!

 

ผ่านไป 40 ปี จนถึงปัจจุบันมีบริการสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ยังคงได้รับความนิยม และเปิดบริการกันหลากหลายเจ้า

ซึ่งแต่ละเจ้าก็มีข้อกำหนด ดอกเบี้ย และระยะเวลาการผ่อนชำระที่แตกต่างกันออกไป

นั่นทำให้ “สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ (VTLA)” ได้ถือกำเนิดขึ้น

สมาคมดังกล่าวเกิดจากการจับมือกันของผู้ประกอบการสินเชื่อทะเบียนรถยนต์หลายๆ ราย

เพื่อสร้างมาตรฐานให้ธุรกิจประเภทนี้ ได้ดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน สร้างมาตรฐานด้านการปล่อยสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ย

รวมถึงควบคุมดูแลให้ทุกกิจการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบลูกค้า ซึ่งเป็นลูกหนี้จนเกินไป

 

ทางสมาคมตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า จะสามารถสร้างมาตรฐานใหม่ของธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถให้เกิดขึ้นได้

ซึ่งแน่นอนว่าพันธกิจดังกล่าวจะบรรลุผลได้หรือไม่ เวลาจะเป็นผู้ให้คำตอบแก่เราได้ดีที่สุด…

 

สำหรับใครที่สนใจเกี่ยวกับ “สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ” และความพยายามที่จะช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบของคนไทย

สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่… https://www.vtlathailand.com  นะครับ!!

#VTLAthailand

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...