Facebook
Twitter
LINE

คุณอาจจะเคยได้ยินชื่อธนาคาร JP Morgan กันอยู่บ่อยครั้ง

เพราะนี่คือธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลก…

ถ้าคิดภาพง่ายๆ ก็คือธนาคารที่ใหญ่กว่า SCB ธนาคารใหญ่สุดของไทยประมาณ 36 เท่า

หรือมีรายได้ต่อปีประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท เท่ากับงบบริหารประเทศไทยตลอดทั้งปี!!

 

แต่การเป็นเจ้าของธนาคารยักษ์ใหญ่ นั้นยังเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ในชีวิตของชายคนนี้เท่านั้น

เพราะเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีทรงอิทธิพลที่สุด

ทั้งการช่วยประเทศจากการล้มละลาย รวมถึงมีส่วนก่อตั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่มีอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน

เราจะพาคุณไปย้อนประวัติของ J.P. Morgan ชายผู้ขับเคลื่อนสหรัฐอเมริกาคนนี้ ให้มากยิ่งขึ้นครับ..

 

ชายผู้เกิดมา เพื่อเป็นนักการเงิน…

J.P. Morgan หรือในชื่อเต็มๆ ว่า John Pierpont Morgan เกิดในปี 1837

ครอบครัวเขาเรียกว่าฐานะค่อนข้างดี ปู่เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทประกันภัย พ่อทำธุรกิจค้าอาหารแห้งและธนาคารเล็กๆ

ทำให้เด็กน้อย John สามารถให้ชีวิตวัยเด็ก ไปกับการเรียนรู้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการไปเรียนต่อในยุโรป เรียนรู้ทั้งภาษาฝรั่งเศส และเยอรมัน

ก่อนที่จะกลับมาเริ่มต้นอาชีพการเงินอย่างจริงจังในปี 1857

เขาเริ่มจากการทำงานเป็นนักบัญชีในธนาคารของพ่อตัวเอง ก่อนที่จะเลื่อนตำแหน่งสู่หนึ่งในผู้บริหาร

 

จุดเด่นอย่างหนึ่งของเด็กหนุ่ม John ในตอนนั้นก็คือ เขาเป็นคนที่มองการณ์ไกล และคาดเดากระแสการตลาดได้ดีอย่างหาตัวจับได้ยาก

หลังจบสงครามกลางเมืองในปี 1869 หนุ่มวัย 32 ปี มองว่าอุตสาหกรรมรถไฟจะกลายเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนประเทศในอนาคต

เขาจึงตัดสินใจซื้อหุ้นของบริษัทรถไฟหลายแห่ง มาอยู่ในมือเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ที่มันยังราคาถูก

และเมื่อยุคของรถไฟมาถึงจริงๆ เขาก็กลายเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ของธุรกิจรถไฟมากเกือบ 20% ของเส้นทางรถไฟทั้งประเทศ

เรียกว่าเขาดูเป็นคนมีแวว ที่จะสามารถต่อยอดความมั่งคั่งของครอบครัว ให้ร่ำรวยขึ้นไปอีกขั้นได้

 

สู่เจ้าของธนาคารที่ร่ำรวยที่สุด

หลังจากพ่อของเขาเสียชีวิตในปี 1890 ทำให้ J.P. Morgan รับช่วงบริหารธนาคารต่อได้อย่างเต็มที่

เขาเปลี่ยนชื่อธนาคารเป็น J.P. Morgan & Co. และเดินหน้าขยายกิจการ จนกลายเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่ที่สุดของประเทศตอนนั้น

พร้อมกับการเข้าซื้อกิจการต่างๆ ที่เป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาทางอุตสาหกรรมของประเทศในตอนนั้น ไม่ว่าจะเป็น..

– การเป็นเจ้าของบริษัทรถไฟ 24 แห่ง ครอบครองเส้นทางเกือบ 20% ของเส้นทางรถไฟทั้งหมด

– การซื้อธุรกิจเหล็กที่ใหญ่ที่สุด U.S. Steel ต่อจาก Andrew Carnagie

– การสนับสนุนเงินทุนให้ Thomas Edison ภายหลังก็เข้าครอบครองกิจการ Edison Electric ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น General Electric บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่อยู่มาถึงปัจจุบัน

– การจัดตั้ง Morgan Trust เพื่อลงทุนในบริษัทโครงสร้างพื้นฐาน ในด้านทางรถไฟ อุตสาหกรรม ไฟฟ้า โทรคมนาคม

 

ช่วยประเทศจากการล้มละลาย

แต่ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คือการช่วยเหลือสหรัฐอเมริกา ให้พ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจตอนปี 1895

ในตอนนั้นประเทศเกิดภาวะฟองสบู่แตก โชคดีที่ J.P. Morgan คาดการณ์มันไว้คร่าวๆ เขาเองก็ได้รับผลกระทบหนัก แต่ไม่ถึงกับสาหัสเท่ากับอีกหลายธุรกิจ

ส่วนทางรัฐบาล ซึ่งในตอนนั้นขายทองคำออกไปจนหมด เมื่อไม่มีทองคำมาค้ำประกัน ก็จะไม่มีใครเชื่อมั่นในฐานะทางการเงิน

พูดง่ายๆ ว่า.. รัฐบาลกำลังถังแตก

ตอนแรก J.P. Morgan เสนอให้รัฐบาลซื้อทองคำจากเขาและยุโรปเข้าไปเป็นทุนสำรอง

แต่ทางรัฐบาลปฏิเสธ และยืนยันที่จะขายพันธบัตรให้ประชาชน เพื่อหาเงินมาหมุนแทน

 

ในตอนนั้น J.P. Morgan มองว่าการขายพันธบัตรของรัฐบาล ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ดี และกว่าจะได้เงินตามที่ต้องการ มันช้าเกินไป

เขาเลยพยายามทำทุกวิถีทางให้เกิดการแลกเปลี่ยนทองคำเกิดขึ้นให้ได้

ทั้งประชุมกับเศรษฐีระดับแนวหน้า เดินทางไปคุยกับธนาคารในยุโรป รวมถึงขุดกฎหมายเก่าสมัยสงครามกลางเมือง มายื่นข้อเสนอแกมบังคับกับรัฐบาล

ข้อเสนอก็คือ รัฐบาลจะซื้อทองคำจาก J.P. Morgan รวมถึงทองคำจากตระกูล Rothschild ที่อยู่ในยุโรป แลกกับการออกพันธบัตรรัฐบาล 30 ปี

หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เขายอมซื้อพันธบัตรรัฐบาล 30 ปี โดยการจ่ายเป็นทองคำแทนนั่นเอง

 

ก่อตั้งธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกา

หลายคนน่าจะรู้จักกับ FED หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอัดฉีดเงิน QE บ่อยๆ ในช่วงหลัง

ย้อนกลับไปหลังจากที่ประเทศเกือบล้มละลาย คุณ J.P. Morgan ก็สนับสนุนให้มีการจัดตั้งธนาคารกลางมาตลอด อย่างที่บางประเทศในยุโรปทำ

แต่รัฐบาลอเมริกาก็ยังไม่ค่อยเห็นด้วยกับความคิดนั้นมากนัก

จนกระทั่งเกิดวิกฤติตลาดหุ้นอีกครั้งในปี 1907 ทำให้ในตอนนั้นนักลงทุนแห่หนีตาย ออกจากตลาดหุ้นจนแทบไม่มีสภาพคล่อง

กลายเป็นว่า นอกจากรัฐบาลจะต้องทุ่มเงินกว่า 1,000 ล้านบาท (ในยุคนั้น) มาอัดฉีดกระตุ้นแล้ว

ทั้ง J.P Morgan และ John D. Rockefeller และเศรษฐีคนอื่นๆ ยังต้องจัดประชุมพิเศษเพื่อเอาเงินไปทุ่มลงไปในตลาดหุ้น ช่วยพยุงตลาดและเสริมสภาพคล่อง จนนักลงทุนกลับมาอีกครั้ง

 

บทเรียนในครั้งนั้น J.P. Morgan จึงบีบบังคับให้รัฐบาลตัดสินใจที่จะจัดตั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นอย่างจริงๆ จังๆ

โดยการส่งผู้เชี่ยวชาญไปศึกษาดูงาน และเรียนรู้ระบบจากธนาคารกลางในยุโรป เป็นเวลากว่า 6 ปี ตั้งแต่ 1907 – 1913

จนกระทั่งวันที่ 23 ธันวาคม 1913 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ

 

น่าเสียดายที่คุณ J.P. Morgan นั้น เสียชีวิตลงตั้งแต่เดือนมีนาคม ตอนที่เขามีอายุ 75 ปี

เขาจึงไม่มีโอกาสได้เห็นหนึ่งในผลงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดของตัวเอง อย่างการจัดตั้งธนาคารกลาง ที่มีอิทธิพลต่อแวดวงการเงินมาจนถึงปัจจุบัน

แต่เนื่องจากอิทธิพลในแวดวงการเงินและการธนาคาร ที่มีตลอดชีวิตของเขา

ทำให้ในวันจัดงานศพนั้น ตลาดหุ้นนิวยอร์กถึงกับตัดสินใจปิดการซื้อขายกันชั่วคราว เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ชายคนนี้

และแม้ว่าเขาจะเสียชีวิตไปนานมากกว่า 100 ปีแล้วก็ตาม แต่หลายๆ ธุรกิจของเขาก็ยังคงอยู่มาจนถึงยุคนี้

โดยเฉพาะธนาคาร JPMorgan Chase ของเขา นอกจากจะอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ยังเป็นสถาบันการเงินที่มูลค่าสูงสุดของโลกอีกด้วย..

 

 

ติดตาม Billion Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionmindset.ig/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/Billion_Twit

– ติดตามเพจ Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา

www.history.com/topics/19th-century/john-pierpont-morgan

www.britannica.com/biography/J-P-Morgan

www.biography.com/business-figure/jp-morgan

www.investopedia.com/articles/economics/08/federal-reserve.asp

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...