Facebook
Twitter
LINE

ถ้าผมจะเขียนเรื่องราวความสำเร็จของ Netflix บริการสตรีมมิ่งความบันเทิงออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในยุคนี้ หลายคนก็อาจจะรับทราบกันอยู่แล้ว ว่ามีผู้ใช้บริการมากมายมหาศาลเพียงใด

แต่บทความนี้จะพาย้อนเวลากลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน สมัยที่ก่อตั้งแรกๆ และศึกษาแนวคิดของผู้ก่อตั้งที่พอจะทำให้เราเข้าใจได้ว่า…

ถึงจะย้อนเวลากลับไปนาน 2 ทศวรรษ แต่แนวคิดของคนที่มีหัวก้าวหน้าล้ำยุค ก็เป็นตัวขับเคลื่อนชั้นดีที่ทำให้บริษัทนั้นประสบความสำเร็จได้

 

1.กล้าทำสิ่งใหม่ ที่ไม่มีใครทำประสบความสำเร็จในยุคนั้น

ตอนที่ Reed Hastings ชวนเพื่อนเขา Marc Randolph ตั้งบริษัทเมื่อปี 1998 พวกเขาคือผู้ให้บริการเช่า DVD ออนไลน์เจ้าแรกของโลก โดยคงระบบเช่าแบบจ่ายเงินรายเรื่อง-รายครั้ง เหมือนร้านเช่าทั่วไป

แน่นอนว่านั่นคือยุคตั้งต้นของอินเตอร์เน็ต ไม่มีใครเคยประสบความสำเร็จกับการให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์มาก่อน นับเป็นธุรกิจที่ท้าทายอย่างยิ่ง

 

หน้าตาของ Netflix ในยุคก่อน

 

2.กล้าใช้เทคโนโลยีที่ดีกว่า เมื่อเล็งเห็นว่ามันดีกว่าจริงๆ

ตอนนั้นพวกเขามีตัวเลือกคือ ทำเป็นร้านเช่าวิดีโอเทปออนไลน์แบบเดิม ซึ่งข้อเสียก็คือ มีความยุ่งยากในการส่ง เสียหายง่าย และการสต็อคของค่อนข้างแพง

แต่ในเดือนมีนาคม ปี 1997 ชาวอเมริกันได้รู้จักเทคโนโลยีใหม่อย่างแผ่น DVD ซึ่งเก็บรักษาง่าย น้ำหนักเบา และใช้งานสะดวกกว่าวิดีโอเทปแบบ VHS

Netflix ไม่ลังเลที่จะเป็นเจ้าแรกๆ ในการให้บริการเช่าแผ่น DVD อย่างเดียวเลยทันที โดยตอนเปิดตัวบริษัทพวกเขามีหนังกว่า 925 เรื่อง ซึ่งครอบคลุมเกือบทั้งหมดของหนังที่มีการทำลงแผ่น DVD ในยุคนั้น

ตอนนี้พวกเขาก้าวล้ำไป 2 เรื่อง ทั้งการเป็นร้านเช่าออนไลน์เจ้าแรก และกล้านำเสนอเทคโนโลยี DVD โดยที่ไม่แคร์คนมีเครื่องเล่นวิดีโอเทปแบบเดิม

 

ปลายยุค 90 คือยุคแห่งร้านเช่าวิดีโอเทป

 

3.กล้าเปลี่ยนโมเดลหาเงินของธุรกิจ

หลังจากใช้วิธีการเช่าหนังแบบรายครั้งไปได้ไม่นาน ในเดือนกันยายน ปี 1999 พวกเขาก็ลองระบบสมัครสมาชิกรายเดือนแทน และคิดว่ามันน่าจะดีกว่าในระยะยาว

จากนั้นช่วงต้นปี 2000 พวกเขาก็กล้าที่จะเปลี่ยนโมเดลการทำเงินของบริษัท ยกเลิกระบบเช่าแบบรายครั้งทั้งหมด เปลี่ยนมาเป็นระบบสมัครสมาชิกรายเดือนเท่านั้น

ผลปรากฏว่าในปีเดียวกันนั้น ยอดสมาชิกรายเดือนของ Netflix ทะยานขึ้นสูงถึง 300,000 คนเลยทีเดียว

 

หุ้น Netflix ขึ้นมาเป็น 100 เท่า ของราคาหุ้นเมื่อ 10 ปีก่อน

 

4.กล้าที่จะปฏิเสธ

ในช่วงปี 2000 นั้นเองที่ Netflix ประสบปัญหาสภาพคล่อง เนื่องจากการส่งไปรษณีย์ DVD ไปให้ผู้เช่าต่องพึ่งพาไปรษณีย์สหรัฐอเมริกา และหากมีการปรับราคาเพิ่ม พวกเขาก็เหมือนถูกมัดมือชกโดยทันที

ทันใดนั้นเองบริษัทให้เช่าวิดีโอรายใหญ่ของยุคนั้น Blockbuster ยื่นมือเข้ามา พร้อมข้อเสนอราวๆ 1,600 ล้านบาทเพื่อควบรวมกิจการ

ข้อเสนอดังกล่าวนั้นทีมงานของ Netflix เดิมจะดูแลรับผิดชอบส่วนเช่าออนไลน์เหมือนเดิม ส่วนทาง Blockbuster จะดูแลส่วนของหน้าร้านเช่า ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของบริษัท

แต่ข้อแม้สำคัญก็คือ Netflix ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น Blockbuster ด้วย และทำให้ข้อเสนอนี้ถูกปัดทิ้งไปในท้ายที่สุด

 

จากที่จะถูกกลืนกิน กลายมาเป็นยักษ์ใหญ่ที่กลืนกินชาวบ้านแทน…

 

5.กล้าที่จะถอย เพื่อกลับมายิ่งใหญ่

แม้จะมีการเติบโตอย่างสูงในปี 2001 แต่ด้วยวิกฤติต่อเนื่องในช่วงนั้น ตั้งแต่วิกฤติการเงินของบริษัทดอทคอม รวมไปถึงการก่อการร้ายในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ส่งผลให้บริษัทขาดสภาพคล่องอย่างมาก

Netflix ต้องปรับลดพนักงานกว่า 40 คน จากทั้งหมด 120 คน

แต่แล้วโอกาสก็ตามมาหลังวิกฤติ เมื่อผ่านไปเกือบ 5 ปีตั้งแต่ก่อตั้ง ในที่สุดแผ่น DVD ก็ได้รับความนิยมจากชาวอเมริกันเสียที

พวกเขาต่างเห่อในเครื่องเล่น DVD และหาเช่า-ซื้อภาพยนตร์กันอย่างล้นหลามในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นช่วงที่อเมริกันชนจับจ่ายใช้สอยมากที่สุด และทำให้ Netflix กลับมามีกำไรได้

 

 

วันที่ 29 พฤษภาคม ปี 2002 ในที่สุด Netflix ก็ได้เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ กับการเสนอขาย 5.5 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 15 ดอลลาร์

และหลังจากนั้น ทุกอย่างก็ดำเนินไปภายในการเติบโตของอินเตอร์เน็ต และกลายมาเป็นเว็บดูหนังออนไลน์ที่ดังที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน

 

ในปี 2017 นั้น Netflix รายงานผลประกอบการกว่า 11,600 ล้านเหรียญ หรือ 374,000 ล้านบาท

และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มูลค่าของบริษัทก็ทะลุ 3 ล้านล้านบาทไปเรียบร้อย

 

 

ทุกอย่างมีจุดเริ่มต้น และความสำเร็จครั้งนี้ไม่ใช่สิ่งบังเอิญ แต่คือความคิดที่ก้าวล้ำของ Reed Hastings และ Marc Randolph ตั้งแต่แรกเริ่ม

ลองคิดเล่นๆว่า หากพวกเขายังยึดมั่นกับวิดีโอเทป VHS ในสมัยก่อตั้งบริษัท พวกเขาอาจจะได้กำไรสูงมากในตอนแรก เพราะทุกครอบครัวในอเมริกาต่างก็มีเครื่องเล่นวิดีโอเทปกันทั้งนั้น

แต่วันนี้อาจจะไม่มีชื่อของ Netflix ในฐานะบริษัทชั้นนำของโลกแล้วก็เป็นได้…

 

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...