Facebook
Twitter
LINE

ทำไมเดี๋ยวนี้มี “งานวิ่ง” เยอะจัง??

คุณไม่ได้คิดไปเองหรอกครับ

ย้อนกลับไปในช่วง 8 ปีก่อนหน้านี้ มีการจัดงานวิ่งเฉลี่ยปีละ 500 งานทั่วประเทศ

แต่ในปี 2561 มีจำนวนงานที่จัดสูงถึง 1,200 งาน

กระแสงานวิ่งเกิดขึ้นได้อย่างไร?? และมีมูลค่าสูงแค่ไหน ติดตามกันผ่านบทความนี้ครับ…

 

ใครคือผู้จุดกระแสงานวิ่ง!?

ถ้าจะถามว่าใครคือคนจุดกระแสงานวิ่ง ผมอยากจะให้แยกออกเป็น 3 ประเด็น

เรื่องแรกคือ “เทรนด์รักสุขภาพ” ซึ่งมาแรงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ประเด็นดังกล่าวรวมไปถึงเรื่องการกินที่มีประโยชน์ ใช้ชีวิตพอดี พักผ่อนเพียงพอ และการออกกำลังกายอีกด้วย

แล้วอะไรคือการออกกำลังกายที่ง่ายที่สุด นั่นก็คือการวิ่ง

เพราะแค่มีรองเท้าผ้าใบคู่เดียว คุณสามารถทำได้ไม่ว่าจะเป็นวิ่งแถวบ้าน วิ่งที่ฟิตเนส หรือวิ่งตามสวนสาธารณะ

จะเห็นได้ว่าเทรนด์สุขภาพนั้นนอกจากการวิ่งแล้ว

ยังมีการเติบโตของกลุ่มกีฬาอื่นๆ ทั้งนักปั่น คนรักฟิตเนส

กลุ่มเซเลบออนไลน์ผู้เป็นแบบอย่างด้านสุขภาพ

และธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่มด้านสุขภาพอีกมากมาย

 

กรุงเทพมาราธอน งานวิ่งที่จัดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531

 

ประเด็นต่อมา ยกความดีความชอบให้ “กลุ่มนักวิ่ง” เอง

การจัดงานวิ่งนั้นเกิดขึ้นมาอย่างสม่ำเสมอ เพราะวงการวิ่งนั้น เป็นอะไรที่เข้ามาได้ง่าย และหลายคนที่เข้ามา ก็จะอยู่ต่อไปไม่ออกไปไหน

ถึงแม้พวกเขาอาจจะไม่ใช่คนที่วิ่งทุกวัน แต่พวกเขาสามารถไปร่วมงานวิ่งได้ทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน

จึงทำให้การจัดงานวิ่ง ได้รับการตอบรับที่โอเค คนจัดไม่ได้ขาดทุนมาก จนถึงบางงานมีกำไรได้

คนวิ่งรู้สึกคุ้มค่า ได้เจอเพื่อนในวงการอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงได้พบปะผู้คนและประสบการณ์ใหม่ๆ

จึงทำให้สังคมของนักวิ่งและงานวิ่ง ยังคงอยู่ได้ ไม่ล้มหายตายจากไปไหน

 

ประเด็นที่สาม การวิ่ง วิ่ง วิ่ง กับพี่ตูน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “ตูน บอดี้สแลม” คืออีกหนึ่งคนที่ทำให้วงการวิ่งเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง

ตัวเลขของงานวิ่งในปี 2559 นั้น พุ่งขึ้นเป็น 600-700 งาน คิดเป็นสัดสัวน 20-40% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ตรงกับกระแสข่าวการวิ่งของคุณตูน เพื่อหาเงินบริจาคเข้าโรงพยาบาลบางสะพานในปีนั้น

ถัดมาในปี 2560 กระแสงานวิ่งยังเติบโตต่อเนื่อง พุ่งขึ้นเป็นระดับ 800 งาน

ยิ่งมาบวกกับกับกระแสการวิ่งจากเบตงถึงแม่สายของคุณตูนในช่วงปลายปี ยิ่งทำให้คนทั่วไปรู้จักการวิ่งมาราธอน และสนใจในการวิ่งมากยิ่งขึ้น

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ตูน บอดี้สแลม” คืออีกหนึ่งผู้ช่วยจุดกระแสงานวิ่ง

 

มูลค่าของงานวิ่งในประเทศไทย…

ปัจจุบันในปี 2561 จากข้อมูลในเว็บไซต์รวมข้อมูลงานวิ่ง มีงานที่จัดในปีนี้มากถึง 1,200 งาน

เฉลี่ยแล้ววันละ 3.2 งานทั่วประเทศ

ในส่วนของตัวเลขผู้เข้าร่วมงาน และค่าสมัครในแต่ละงานก็จะแตกต่างกันไป

งานวิ่งท้องถิ่น อาจจะมีคนเข้าร่วมไม่ถึงหลัก 1,000 และมีค่าสมัครเพียง 200 บาท

แต่งานใหญ่หน่อย ก็อาจจะมีคนเข้าร่วมถึง 5,000 คน พร้อมค่าสมัคร 500-1,000 บาทเช่นกัน

 

เพราะฉะนั้นถ้าลองคิดคร่าวๆ ด้วยตัวเลขที่ไม่สูงมากนัก

แต่ละงานวิ่งจะมีคนเข้าร่วม 3,000 คน ด้วยค่าสมัคร 350 บาท

เท่ากับงานหนึ่งมีรายได้เข้ามา 1,050,000 บาท

ในหนึ่งปี จะมีเงินรายได้งานวิ่ง 1,050,000 x 1,200 = 1,260 ล้านบาท

 

นอกจากเงินค่าสมัครที่ลองประเมินขั้นต่ำแล้ว ยังมีเงินหมุนเวียนอื่นๆ ทั้งค่าอุปกรณ์การวิ่ง อุปกรณ์เข้าร่วมงาน

ค่าจ้างทีมงาน ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าของกินของใช้ ที่จะลงไปสู่บริเวณสถานที่จัดงานนั้นๆ

มีการประเมินว่ามูลค่าการใช้จ่ายที่เกิดขึ้น น่าจะเกินกว่า 7,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นตัวเลขไม่น้อยทีเดียว!!

 

เมื่อ Demand ยังมีมากกว่า Supply

แม้งานวิ่งจะมีการจัดสูงถึงหลักพันต่อปี

แต่จากหลายๆ งาน โดยเฉพาะงานที่มีชื่อเสียงจัดกันมานับสิบปี จะเห็นได้ว่าต้องสมัครล่วงหน้า และมักจะเต็มก่อนกำหนดจัดงาน 2-3 เดือน

แม้ในบางงานที่เป็นงานใหม่ ยังไม่มีชื่อเสียงมาก ก็มีผู้สนใจเข้าร่วมจนเต็มจำนวนเช่นกัน

แสดงให้เห็นว่ายังมีความต้องการวิ่งอยู่อีกมาก และไม่ได้มีเฉพาะกรุงเทพมหานคร แต่กระจายอยู่ทั่วประเทศอีกด้วย

 

บางแสนมาราธอน งานที่มีคนเข้าร่วมถึง 7,000 คน!!

 

ปริมาณที่เพิ่มขึ้น ก็ต้องรักษาคุณภาพด้วย

แม้จะยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาควบคุมมาตรฐานของงานวิ่ง ว่าจะต้องมีอะไรเป็นข้อๆ แบบไหนบ้าง…

แต่ในบรรดากลุ่มคนวิ่ง ก็จะมีมาตรฐานที่ “เข้าใจตรงกัน” และน่าแปลกใจว่าการให้ควบคุมกันเองนี้ ก็ยังคงทำได้ดีเยี่ยม

อย่างเช่น การจัดเส้นทางวิ่ง ผ่านสถานที่สำคัญอะไรบ้าง มีใครมาดูแลเรื่องการจราจรหรือไม่ กระทบกับคนใช้ถนนคนอื่นๆ ไหม??

การจัดการป้ายต่างๆ ทั้งในบริเวณจัดงาน ป้ายบอกเส้นทางวิ่ง และป้ายสปอนเซอร์

รวมถึงด้านสุขภาพนักกีฬา จุดบริการน้ำอย่างเหมาะสม มีจุดรักษาพยาบาลเพียงพอ และพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉิน

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้จัดงานก็ต้องคำนึง และทำให้ตรงกับมาตรฐานที่ทำกันมา โดยไม่หวังกำไรเพียงอย่างเดียว

เพราะหากงานได้ทำได้ต่ำกว่ามาตรฐาน ผู้จัดงานก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมของนักวิ่งเอง จนถึงขั้นแบนการจัดงานนั้นไปเลยทีเดียว

 

การจัดงานวิ่ง ก็เหมือนกับการทำธุรกิจในรูปแบบหนึ่ง

แต่แทนจะขายสินค้าที่จับต้องได้ กลายเป็นเราขายคุณภาพของงานโดยรวม ให้กับลูกค้าซึ่งเป็นเหล่าผู้สมัคร

ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่ากระแสของการวิ่งและงานวิ่ง จะยังคงอยู่ไปนานแค่ไหน

นี่จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ของความนิยมที่มากขึ้นกว่านี้?? ปีหน้าอาจจะมีอีก 1,500 งาน

หรือนี่คือจุดสูงสุด แล้วจะค่อยๆ กลับไปสู่มาตรฐานปีละ 500 งาน ก็ยังไม่มีใครบอกได้

แต่ตราบใดที่ยังมี “ความต้องการวิ่ง” ก็จะมี “งานวิ่ง” เกิดขึ้นเรื่อยๆ และเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีเงินหมุนเวียนไม่น้อยเลยทีเดียว…

 

 

ติดตาม Billionaire Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionairethai/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/BillionaireThai

– ถ้าเล่นแต่ไลน์ ก็ส่งบทความให้คุณทุกวันที่ @BillionaireMindset

– ติดตามเพจ Billionaire Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา:

brandinside.asia/running-for-health-and-business/

mgronline.com/daily/detail/9610000104431

marketeeronline.co/archives/41651

www.bltbangkok.com

www.patrunning.com/

www.wingnaidee.com/ranking/allevents2017/

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...