Facebook
Twitter
LINE

 

เฮลซ์บลูบอยขายดีแค่ไหน!? อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้อยู่มาได้60ปี!?

เชื่อว่าคนไทยคงไม่มีใครไม่รู้จัก “น้ำหวานเฮลซ์บลูบอย” สีแดงกลิ่นสละขายในขวดแก้ว

ถ้าเดินไปถามคนบนท้องถนน 100 คน ก็เชื่อเลยว่าเกือบทั้งหมดจะต้องบอกว่าเคยกินมันมาสักครั้งในชีวิตแน่ๆ

เราจะลองย้อนกลับไปดูว่าต้นกำเนิดน้ำหวานแบรนด์นี้มาได้อย่างไร และทำอย่างไรจึงอยู่คู่คนไทยมาแสนนาน

 

เปิดประวัติ “เฮลซ์บลูบอย” ตำนานน้ำหวานไทย

– เรื่องราวเริ่มต้นจากปี พ.ศ.2502 จากเดิมที่ 4 พี่น้องตระกูล “พัฒนะอเนก” ทำร้านโชว์ห่วยขายของทั่วไป มีแนวคิดที่จะทำน้ำหวานใส่ขวดขาย

– ในเวลานั้นเมืองไทยยังไม่มี “น้ำหวานใส่ขวด” ขายกันจริงๆ จังๆ แนวคิดของพวกเขาจึงถือว่าค่อนข้างใหม่มาก

– สูตรน้ำหวานเฮลซ์บลูบอย ถูกคิดค้นโดยคนในครอบครัว ซึ่งแม้แต่ทายาทก็ไม่รู้ว่าขั้นตอนการผลิตสูตรตอนนั้นมีกระบวนการอย่างไรบ้าง แต่ไปๆ มาๆ ก็ออกมาเป็นสูตรน้ำหวานแล้ว

– หลังจากทำออกมาขาย ก็ขายดิบขายดีตั้งแต่แรก ส่งผลมาถึงปัจจุบัน

 

โฆษณาเฮลซ์บลูบอยในยุคเก่า

 

สังเกตไหมครับว่า ถ้าเขียนถึงแบรนด์อื่นจะมีช่วงหวือหวา เติบโตยิ่งใหญ่ ตกต่ำ หรือกลับมาขายดีอีกครั้งเป็นวัฏจักร แต่สำหรับเฮลซ์บลูบอยนั้น เหมือนเส้นชีวิตที่ราบเรียบจริงๆ

ก่อนจะไปศึกษาแนวคิดดีๆ จากผู้บริหาร เราลองมาดูสถานะของเฮลซ์บลูบอยในปัจจุบันกันก่อน

 

ค้นดูงบกำไรขาดทุนของบริษัท เฮลซ์เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่าย

พบว่า 5 ปีหลังมานี้มียอดขายเกิน 2,000 ล้าน และกำไรแตะ 500 ล้านแทบทุกปี

ปี 2556 รายได้ 2,200 ล้าน กำไร 495 ล้านบาท

ปี 2557 รายได้ 2,392 ล้าน กำไร 515 ล้านบาท

ปี 2558 รายได้ 2,700 ล้าน กำไร 605 ล้านบาท

ปี 2559 รายได้ 2,700 ล้าน กำไร 581 ล้านบาท

ปี 2560 รายได้ 2,500 ล้าน กำไร 465 ล้านบาท

 

อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้แบรนด์เฮลซ์บลูบอย เป็นเจ้าแห่งตลาดน้ำหวานครัวเรือน อยู่คู่คนไทยมานานเกือบ 60 ปี เราจะไปศึกษาแนวคิดจากบริษัทนี้ดูครับ…

 

1. ถูกที่ ถูกเวลา มองเห็นโอกาสเป็นเจ้าแรก

ผู้บริหารซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 2 คุณประยุทธ พัฒนะเอนก ยอมรับเองว่าตอนที่ทำเฮลซ์บลูบอยออกขายครั้งแรก อาจจะไม่ใช่เจ้าแรกสุดในตลาด แต่ก็ถือเป็นกลุ่มแรกๆ ในยุคที่เมืองไทยยังขาดแคลนสินค้าแบบนี้

ยุคนั้นถ้าจะถามหาน้ำหวานใส่ขวดขาย มันแทบไม่มี และเฮลซ์บลูบอยก็ออกมาตอบโจทย์ แก้ปัญหาของลูกค้าตอนนั้นพอดี สินค้าจึงสามารถขายได้ทันทีตั้งแต่ทำออกจำหน่าย

 

2. สร้างแบรนด์ตั้งแต่เริ่มทำ

เฮลซ์บลูบอย คือแบรนด์ที่พวกเขาสร้างกันตั้งแต่เริ่มทำ แม้แต่โลโก้คำว่า Hale’s อันเป็นเอกลักษณ์ ก็แกะบล็อกไม้สร้างโลโก้ขึ้นมาเพื่อให้คนจดจำได้

ในเวลานั้นลุงดำ ลุงแดง ก็อาจจะทำน้ำหวานใส่ขวดขาย แต่พวกเขาอาจจะไม่ได้มีแบรนด์ชัดเจน การที่สร้างแบรนด์ก่อนคนอื่นๆ ทำให้ลูกค้าจดจำจนเกิดการซื้อซ้ำ

จนกลายมาเป็นนิสัยของลูกค้าที่เข้าตลาดเจอ 3-4 แบรนด์ตั้งอยู่ พวกเขาก็จะหยิบเฮลซ์บลูบอยก่อน

 

3. ยึดมั่นใจจุดแข็ง เล่นในตลาดที่ตัวเองถนัด

เฮลซ์บลูบอย คือน้ำหวานสำหรับบริโภคในบ้าน ข้อเสียของธุรกิจนี้คือกำไรต่อหน่วยค่อนข้างต่ำ แต่ข้อดีคือมันขายได้เรื่อยๆ ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและประชากร

เคยมีคนชวนผู้ผลิตเฮลซ์บลูบอยให้ทำน้ำหวานส่งโรงงาน ซึ่งกำไรต่อหน่วยจะสูงกว่า แต่พวกเขาเห็นว่าเป็นตลาดที่มีคู่แข่งเยอะมาก ไหนจะต้องเข้าไปฟาดฟันกับเจ้าใหญ่ๆ ซึ่งเป็นตลาดที่พวกเขาไม่ถนัดแต่รก

จึงไม่ได้ลงไปแข่งในตลาดนั้น แม้จะเป็นเรื่องน้ำหวานที่พวกเขาถนัดก็ตาม

 

เฮลซ์บลูบอย สินค้าคู่ร้านขายของชำมา 60 ปี ปัจจุบันก็ไปอยู่ทั้งในห้างและร้านสะดวกซื้อด้วย

ภาพ: ผู้จัดการ

 

4. เข้าถึงลูกค้าให้ได้ทุกกลุ่ม

ถ้าถามว่า ใครกินเฮลซ์บลูบอยบ้าง!? ก็ต้องตอบว่ามีลูกค้าทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นเด็กกลุ่มรากหญ้า ไปจนถึงเด็กไฮโซในเมืองใหญ่ นั่นคือการที่เฮลซ์บลูบอยวางตัวให้เป็นน้ำหวานสำหรับคนทุกชนชั้น

ข้อดีของการสร้างแบรนด์แบบนี้ก็คือ ต่อให้มีคู่แข่งเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นน้ำหวานนำเข้าจากต่างประเทศราคาพรีเมียม หรือน้ำหวานแบรนด์ล่างที่มาแชร์ส่วนแบ่งการตลาด แต่เฮลซ์บลูบอยก็ยังคงขายได้ด้วยแบรนด์ที่ลูกค้าจดจำมากกว่า

 

5. แม้เป็นเจ้าตลาด ก็อย่าหยุดพัฒนาและรักษาคุณภาพ

ลำพังน้ำหวานสีแดงและสีเขียว ก็ทำให้บริษัทสร้างยอดขายได้เป็นกอบเป็นกำแล้ว แต่พวกเขาก็มองว่าควรจะต้องตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการรสชาติอื่นๆ เหมือนกับที่พวกเขาสร้างแบรนด์ให้เป็นของลูกค้าทุกฐานะ

ปัจจุบันเฮลซ์บลูบอยจึงมีถึง 9 รสชาติ ตั้งแต่ดั้งเดิมอย่างสละ ก็มี ครีมโซดา, มะลิ, สตรอเบอร์รี, กุหลาบ, องุ่น, สับปะรด, แคนตาลูป และซาร์ซาพาริลลา

และก่อนหน้านี้ เฮลซ์บลูบอยก็เคยเจอปัญหาน้ำหวานรสชาติผิดเพี้ยน จนทำให้พวกเขาต้องเรียกคืนสินค้าเพื่อปรับปรุง

หรือกระทั่งการกัดฟันไม่ยอมใช้ขวดพลาสติกที่ต้นทุนน้อยกว่า เพราะขวดแก้วจะเก็บรสชาติหวานได้ดีกว่า แถมเก็บได้นานถึง 3-5 ปี ซึ่งขวดพลาสติกจะได้แค่ 1 ปีอีกด้วย

 

6. โตแบบก้าว ไม่กระโดด และไม่เสี่ยงล้มเจ็บ

แต่ด้วยแนวคิดดั้งเดิมที่พวกเขาจะโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำน้ำหวานตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นทีละน้อย ไม่รีบออกผลิตภัณฑ์ใหม่ไปเพื่อขายลูกค้าที่ยังไม่มีตัวตน

แนวคิดของบริษัทจึงค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ไม่ถึงที่ว่าไม่มีหนี้สินเลย แต่ยอมกู้เงินมาเพื่อขยายกิจการทีละเล็กทีละน้อยตามความจำเป็น

เพราะฉะนั้นเมื่อดูงบของบริษัท จะเห็นว่ามีสินทรัพย์ถึง 2,200 ล้าน และมีหนี้แค่ 240 ล้าน หรือราว 10% เท่านั้น

เฮลซ์บลูบอย เป็นไม่กี่บริษัทที่แทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ.2540 แม้ยอดขายตกลงไปตามสภาพเศรษฐกิจก็ตาม พวกเขาก็ไม่ต้องเป็นหนี้ท่วมหัวแต่อย่างใด

 

เฮลซ์บลูบอยยุคใหม่ คือความพยายามก้าวสู่แบรนด์อินเตอร์

 

เฮลซ์บลูบอยวันนี้ มีเป้าหมายที่จะออกไปสร้างชื่อในต่างประเทศ ด้วยการชูว่าเป็น “น้ำหวานเบอร์ 1 ของไทย”

เริ่มตั้งแต่สหรัฐ ยุโรป เมื่อ 2 ปีก่อน ต่อมาที่ตลาดจีนและอาเซียน โดยมีเป้าในปีนี้ไปที่ตลาดอินเดียซึ่งมีประชากรสูงมาก

แม้ผมจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท แต่ก็รู้สึกอยากเอาใจช่วยให้แบรนด์ไทยอันนี้ ไปสร้างชื่อและสร้างยอดขายดีๆ ในต่างแดน เพื่อนำรายได้เข้าประเทศเช่นกัน

 

สรุป.. เราเรียนรู้อะไรจากเฮลซ์บลูบอย

แม้เรื่องราวจะดูราบเรียบ ไม่หวือหวาตื่นเต้นเหมือนอีกหลายๆ บริษัท แต่แนวคิดการโตแบบยั่งยืนของ “เฮลซ์บลูบอย” ก็สามารถอยู่รอดได้ในโลกของธุรกิจเช่นกัน

มันไม่มีถูกไม่มีผิดในการทำธุรกิจ ทั้งแบบค่อยโตทีละน้อย หรือแบบโตรวดเร็ว ขยายสาขาเป็น 1,000 แห่งในปีเดียว เพราะที่สุดแล้วเป้าหมายในความสำเร็จของแต่ละกิจการก็แตกต่างกัน

สุดท้ายแล้วคุณเองเท่านั้นที่จะตัดสินใจได้ว่า การเติบโตแบบไหนเหมาะกับธุรกิจของคุณมากที่สุด

เลือกให้ดี และทำมันให้สำเร็จนะครับ!!

 

ที่มา:

www.halesblueboy.co.th/products/syrup/

www.bangkokbiznews.com/news/detail/726780

mgronline.com/smes/detail/9590000112081

http://datawarehouse.dbd.go.th/

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...