Facebook
Twitter
LINE

สำหรับใครหลายๆ คน ชื่อของ Warren Buffett คือต้นแบบแห่งนักลงทุนระยะยาว ลงทุนแบบไปมีส่วนร่วมกับธุรกิจที่น่าสนใจจริงๆ

ซึ่งนั่นจะดูไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับการ Short หุ้น เพื่อทำกำไรในระยะสั้นๆ เลย

แต่คุณอาจจะไม่รู้ว่า กองทุนของ Warren Buffett ก็เคยใช้กลยุทธ์การ Short หุ้น ซึ่งเขายอมรับว่าใช้บ่อยครั้ง และพูดถึงสาเหตุที่เลิกทำมันในที่สุด..

 

ย้อนกลับไปในปี 2001 ในตอนนั้นเกิดวิกฤติฟองสบู่ “dot-com” ในสหรัฐฯ ถึงขั้นที่ดัชนีหุ้น Nasdaq ติดลบลงไปถึง 70%

ในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท Berkshire Hathaway ก็เลยมีคนถามเรื่องนี้กับ Buffett ว่าเขาได้ทำการ Short หุ้นเพื่อทำกำไรในตลาดขาลงไว้บ้างหรือไม่

Buffett ถึงขั้นเอ่ยปากยอมรับว่า “มันเป็นการลงทุนอันแสนเจ็บปวด”

เขาระบุว่ากลยุทธ์ Short หุ้นในสภาวะตลาดขาลงนั้น เป็นสิ่งที่เขาทำอยู่บ่อยครั้งในช่วงที่เริ่มต้นเปิดกองทุนใหม่ๆ

แต่ไม่ใช่การ Short เพื่อทำกำไร เพราะเขาก็ยังคงถือหุ้นที่ตัวเองลงทุนเอาไว้อยู่ตลอด ต่อให้จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจก็ตาม

ที่เขาทำเพราะเชื่อว่าการ Short จะช่วยปกป้องความเสี่ยงในการลงทุน เพราะหากตลาดลงไปหนักจริงๆ เขาก็จะได้เงินส่วนนี้มาชดเชยกับราคาหุ้นที่ลดลงนั่นเอง

แต่ในความเป็นจริง อะไรๆ มันก็ไม่ได้ง่ายแบบนั้น!!

 

การประชุมผู้ถือหุ้น Berkshire Hathaway ในปี 2001

 

เหตุผลแรก เพราะเราไม่สามารถทำนายอนาคตได้ เราจึงไม่รู้ว่าตลาดหุ้นจะตกลงไปถึงเมื่อไร? หุ้นของเราจะตกลงไปตามสภาวะตลาดหรือไม่?

ซึ่งนั่นทำให้เราไม่สามารถระบุได้ชัดเจนเลยว่าจะเริ่ม Short ตอนไหน แล้วจะหยุด Short ตอนไหน?

 

นำมาสู่เหตุผลข้อสองที่ว่า การ Short นั้นเปิดโอกาสให้เราขาดทุนแบบไม่จำกัด

เพราะการซื้อหุ้นสักบริษัท โอกาสขาดทุนมากที่สุดของเราก็คือ การที่หุ้นนั้นมูลค่าลดลงเหลือ 0 เราก็จะเสียเงินทั้งก้อนไป

ขณะที่การ Short นั้น เขามองว่ามันโอกาสได้กำไรมากที่สุดก็คือ 100% จากมูลค่าหุ้นปัจจุบัน แต่หากหุ้นขึ้นเมื่อไร นั่นคือโอกาสขาดทุนแบบไม่จำกัด

 

ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าเราเอาเงิน 100 บาทไปซื้อหุ้นตัวหนึ่ง ราคา 100 บาท

ถ้าบริษัทถึงขั้นล้มละลาย มูลค่าหุ้นเป็น 0 เราก็แค่เสียเงิน 100 บาทไป

ตรงกันข้าม หากเราเลือกจะ Short หุ้นนั้น ที่ราคาหุ้น 100 บาท โอกาสที่เราจะได้กำไรมากที่สุดก็คือ หุ้นตกเหลือ 0 เราก็ได้กำไรมา 100 บาท

แต่ถ้าหุ้นขึ้น เป็น 150 เป็น 200 หรือกระทั่ง 1,000 บาทในอนาคต ย่อมนำมาสู่ความเสียหายแบบประเมินไม่ได้

นั่นยังไม่รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่ชวนปวดหัวตามมา ทั้งดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย หรือกำหนดส่งคืนหุ้นที่ยืมมา Short

 

ซึ่งในจุดนี้ Charlie Munger มือขวาของ Buffett ถึงกลับเสริมว่าการที่ต้องมาคอยกังวลเรื่องต่างๆ ของการ Short นั้นไม่คุ้มกับเวลาในชีวิตเอามากๆ

และควรจะใช้เวลานั้น ในการค้นหาโอกาสในการลงทุนในธุรกิจหรือหุ้นตัวอื่นๆ ซะมากกว่า..

 

มาถึงจุดนี้ หลายคนอาจจะคิดว่ากองทุนของ Warren Buffett ใช้วิธีซื้อหุ้นที่ราคาเหมาะสม แล้วถือไว้โดยไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอะไร

ซึ่งการซื้อหุ้นทิ้งไว้เฉยๆ ความเสี่ยงที่จะเกิดก็คือ “ความไม่แน่นอนของตลาดหุ้น”

ที่ต่อให้เป็นธุรกิจที่ดีแค่ไหน ถ้าตลาดหุ้นตกลง มูลค่าหุ้นก็อาจจะตกลงเหลือแค่ 50% ของที่ซื้อไว้ก็เป็นได้

ในความเป็นจริง กองทุนของ Buffett จึงมีการใช้เครื่องมือประกันในตลาดหุ้น ทั้งการซื้อและขาย Options เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงในช่วงตลาดขาลงแทน

(ในส่วนของ Buffett กับการใช้งาน Options หากมีคนสนใจเยอะ  จะขอเขียนแยกในบทความถัดไปนะครับ เพราะต้องลงลึกไปอีกนิดครับ)

 

ปิดท้าย..

บทความนี้ไม่ได้ตั้งใจจะสื่อว่า การ Short หุ้น คือกลยุทธ์ในการลงทุนที่แย่และไม่ควรทำ

เพราะหลายครั้ง การ Short หุ้นนั้น เป็นกลยุทธ์ที่สร้างกำไรให้กับนักลงทุนได้อย่างดี

แต่อย่างที่เราได้เห็นจากบทเรียนของ GameStop ว่าพอมีการ Short มากเกินไปจนเปิดช่องโหว่ให้เกิดการโจมตีโต้กลับ

และทำให้เหล่านักลงทุนรายย่อย สามารถระดมทุนกันไล่ราคาหุ้นขึ้นไป จนกลายเป็นหุ้นที่พุ่งขึ้นสิบๆ เท่าในเวลาไม่กี่วัน กลายเป็นหุ้นร้อยเด้งในเวลาไม่กี่เดือนได้อย่างไม่น่าเชื่อ

 

เพราะอะไรที่มากเกินไปจนเสียสมดุล ไม่ว่าจะทางบวกหรือทางลบ มันย่อมนำมาซึ่งความเสียหายที่รุนแรง จนอาจจะประเมินไม่ได้เลยเช่นกัน…

 

 

ร่วมแสดงความคิดเห็นที่

 

 

ที่มา:

https://finance.yahoo.com/news/warren-buffett-explains-why-no-204005627.html

https://seekingalpha.com/article/4401299-gamestop-stock-example-of-why-buffett-stopped-short-selling

Warren Buffett And Charlie Munger On Short Selling

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...