Facebook
Twitter
LINE

ข่าวการถูกสหรัฐฯ แบนของ Xiaomi กลายเป็นเรื่องที่สร้างความตื่นตระหนกอย่างชัดเจน

ถึงขั้นที่ว่าหุ้นของบริษัท ตกลงประมาณ 10% หรือคิดเป็นมูลค่าของบริษัทที่หายไปถึง 300,000 ล้านบาทในวันเดียว!!

เพราะฉะนั้นในคอนเทนต์นี้ เราเลยอยากจะสรุปประวัติคร่าวๆ ของธุรกิจเทคโนโลยีของจีนรายนี้ ซึ่งน่าจะเป็นธุรกิจที่โตเร็วที่สุดรายหนึ่งในช่วงราวๆ 5 ปีที่ผ่านมา

และอนาคตอันใกล้อีก 3-5 ปีข้างหน้า นี่ก็อาจจะเป็นธุรกิจจีนที่น่าจับตามองที่สุดแห่งหนึ่งด้วยเช่นกันครับ..

 

ข่าวการถูกสั่งแบนจากทางสหรัฐฯ

 

ย้อนกลับไปในเดือนเมษายน ปี 2010

Lei Jun ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารของบริษัทซอฟต์แวร์แห่งหนึ่งในจีน คิดอยากจะมีธุรกิจเทคโนโลยีเป็นของตนเอง

โดยเขาตั้งเป้าว่าจะต้องไม่ใช่แค่บริษัททำโปรแกรมหรือแอปมือถือเท่านั้น แต่จะต้องสามารถสร้างอุปกรณ์ไอทีที่น่าสนใจ และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนให้ได้

ในตอนที่ก่อตั้ง Lei ยังชวนพาร์ทเนอร์อีก 7 คน ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นระดับหัวกะทิในแต่ละสายงาน

ยกตัวอย่างเช่น อดีตวิศวกร Microsoft, อดีตพนักงาน Google, หัวหน้าทีมวิจัย Motorola, คณบดีมหาวิทยาลัยปักกิ่ง หรือพนักงานในบริษัทเก่า ที่เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซ

 

กลุ่มผู้ก่อตั้ง Xiaomi โดยมี Lei Jun อยู่ตรงกลาง

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะตั้งเป้าไว้ไกล แต่ผลิตภัณฑ์แรกๆ ของบริษัทก็ยังเป็นรอมของสมาร์ทโฟน Android ที่ชื่อว่า MIUI (ซึ่งกลายมาเป็นระบบของสมาร์ทโฟนของพวกเขาในภายหลัง)

แล้วก็ต้องรออีกกว่า 1 ปี จนกระทั่งในเดือนสิงหาคม ปี 2011 ค่าย Xiaomi เปิดตัวสมาร์ทโฟนแบรนด์ตัวเอง

จุดขายของโทรศัพท์มือถือพวกเขาก็คือ สเปคเครื่องที่ให้มาแบบจัดเต็ม ในราคาที่คนสามารถเอื้อมถึงง่ายกว่าตัวท็อปของค่ายคู่แข่งอย่าง Apple หรือ Samsung

และเราจะพูดว่ามันประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม เพราะเป้าที่ตั้งไว้ในหลักแสนเครื่อง แต่เจ้า Mi 1 กลับขายได้มากถึง 7 ล้านเครื่อง!!

 

แต่ความสำเร็จ จะต้องไม่หยุดอยู่แค่นั้น..

Xiaomi ตัดสินใจปล่อยสมาร์ทโฟนตัวท็อปออกมาอีกในปีถัดมา แล้วก็ยังขยายตลาดไปจับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อน้อยกว่า ด้วยแบรนด์ลูกอย่าง Redmi

จุดเด่นก็ยังคงเป็นสเปคที่ใช้งานได้ดี ในราคาย่อมเยากว่าสินค้าแบรนด์ Mi ราว 2-3 เท่า

ซึ่งนั่นเรียกว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีมาก เพราะมีตลาด 2 แห่งที่ลูกค้ามีรายได้น้อย แต่มีความต้องการสมาร์ทโฟนสูงเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก

นั่นก็คือ.. ตลาดจีน และตลาดอินเดีย

ซึ่งภายหลัง Xiaomi ก็ล้มแชมป์เก่า Samsung ในตลาดอินเดียลงได้เมื่อปี 2018 และกลายเป็นอีกหนึ่งแหล่งรายได้สำคัญของธุรกิจในที่สุด

 

Xiaomi เติบโตในตลาดอินเดียได้อย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นแชมป์ในปัจจุบัน

 

ในขณะเดียวกัน ทาง Xiaomi ก็เริ่มขยายไปยังกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ด้วยการเปิดตัว Mi TV

มันคือสมาร์ททีวีที่การันตีความมั่นใจให้กับลูกค้าว่า ผลิตในโรงงานระดับเดียวกับทีวีของ Sony ค่ายยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น

แต่ที่ยังคงคอนเซปต์อย่างชัดเจนก็คือ.. สินค้าพวกเขามีราคาถูกกว่าแบรนด์คู่แข่งอย่างมาก

 

สิ่งที่ทำให้ Xiaomi ได้รับความนิยม นอกจากรูปลักษณ์แบบเรียบง่ายแต่ทันสมัย คุณภาพพอใช้งานได้ดี ในระดับราคาที่เข้าถึงได้ทุกคน

ก็การที่มีสินค้าเทคโนโลยีให้เลือกซื้อทุกอย่าง จนโดนแซวว่าขายตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ

นั่นเพราะว่านอกจาก Xiaomi จะผลิตสินค้าเองส่วนหนึ่งแล้ว ยังมีสินค้าอีกส่วนที่พวกเขาเน้นการลงทุนในบริษัทอื่นๆ

ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าอยู่แล้ว แต่แบรนด์เหล่านั้นยังไม่ได้รับความนิยม

หรือเป็นบริษัทเล็กๆ ที่มีไอเดียแต่ไม่มีทุน ถ้าไอเดียนั้นเข้าตาทาง Xiaomi ก็จะร่วมลงทุนด้วย

กลายเป็นว่าแทนที่จะแค่จ้างผลิตแบรนด์อื่น มาแปะตรา Xiaomi แล้วก็ขายเฉยๆ พวกเขาไปเป็นส่วนหนึ่งในบริษัทผลิตสินค้าที่น่าสนใจ

จากนั้นก็ควบคุมทั้งดีไซน์ คุณภาพ และการผลิตให้ได้มาตรฐาน Xiaomi และที่สำคัญคือต้องมาเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันของตัวเองได้

กลยุทธ์ดังกล่าวทำให้ในปัจจุบัน Xiaomi กลายเป็นบริษัทที่ลงทุนในสตาร์ทอัปนับร้อยแห่ง และมีขายสินค้าแทบทุกอย่าง ทั้งที่บางชิ้นก็ฟังดูแปลก แต่สามารถใช้งานได้จริงๆ

อย่างเช่น เครื่องช่วยปลูกต้นไม้อัจฉริยะ ไม้แคะหูอัจฉริยะ หรือตู้เลี้ยงปลาอัจฉริยะ นั่นเองครับ

 

อีกไม่นานเราอาจจะเห็นเรือรบ แปะตรา Xiaomi รึเปล่านะ!??

 

ปัจจุบัน Xiaomi สามารถสร้างยอดขายทั่วโลกได้ในปีล่าสุด 950,000 ล้านบาท ทำกำไร 46,000 ล้านบาท

โดยพวกเขามีรายได้จากสมาร์ทโฟนเป็นหลักที่ 60%

รายได้จากแก็ดเจ็ตและเครื่องใช้ภายในบ้าน 30%

รายได้จากบริการทางอินเตอร์เน็ตอีกราว 10%

และการเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ ในช่วงสิบปีหลังนั้น ส่งผลให้กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงราว 3 ล้านล้านบาท เป็นอันดับ 15 ของบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น

 

แต่การที่ล่าสุด Xiaomi โดนสหรัฐฯ ประกาศแบนอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับ Huawei ไปแล้ว ก็กลายเป็นอีกบทพิสูจน์ครั้งสำคัญของพวกเขา

Xiaomi ทำธุรกิจด้วยไอเดียที่ว่า จะไม่ทำแค่อะไรเดิมๆ เสาะแสวงหาไอเดียและทางเลือกใหม่ๆ ในธุรกิจอยู่เสมอ

และหากพวกเขาสามารถมองทางเลือกใหม่ๆ เพื่อผ่านพ้นวิกฤติไปได้อย่างสำเร็จจริงๆ ล่ะก็..

เชื่อว่าแบรนด์ รวมถึงธุรกิจของ Xiaomi ก็จะยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้นอีกหลังจากนี้

จนอดคิดไม่ได้ว่าหากในอนาคต ที่ Xiaomi สามารถเติบโตจนสินค้ารอบตัวในหลายๆ บ้าน กลายเป็นแบรนด์ดังกล่าวแทบทั้งหมด

ถึงตอนนั้นมูลค่าของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้ จะสูงขึ้นกว่า 3 ล้านล้านบาท ไปได้อีกมากเพียงใด…!?

 

 

ร่วมแสดงความคิดเห็นที่

 

ที่มา:

https://populartimelines.com/timeline/Xiaomi

https://www.blognone.com/node/68222

https://en.wikipedia.org/wiki/Xiaomi

https://gadgets.ndtv.com/mobiles/features/xiaomi-mi-10-anniversary-india-timeline-redmi-launch-2207866

https://th.investing.com/equities/xiaomi-financial-summary

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...