Facebook
Twitter
LINE

คุณรู้หรือไม่ว่า.. แบรนด์สินค้าใดมีมูลค่าสูงที่สุดในโลก!?

คำตอบก็คือ ตำแหน่งดังกล่าวเป็นของ Apple ผู้ผลิตสินค้าไอทีระดับพรีเมียม

ซึ่งถ้าเราไม่ได้รวมรายได้ของบริษัท ไม่รวมมูลค่าหุ้น แต่นับเฉพาะมูลค่าของแบรนด์ Apple เพียวๆ แบรนด์นี้มีมูลค่าสูงถึง 6 ล้านล้านบาท

หรือเทียบง่ายๆ ว่ามูลค่าแบรนด์นี้ สามารถนำมาเป็นรายจ่ายบริหารประเทศไทยทั้งประเทศได้เป็นเวลา 2 ปีเต็ม

ฟังดูมหาศาลจนเราเองก็อาจจะคาดไม่ถึง…

 

 

นอกจาก Apple แล้ว แบรนด์ที่มูลค่าสูงอันดับต้นๆ โลก ต่างก็เป็นบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Google, Microsoft, Facebook หรือกระทั่ง Coca-Cola ก็ติดมาในท็อปเทน

แม้จะบางแบรนด์จะมูลค่าสูงมาก แต่หลายคนก็อาจจะงงว่า การบริโภคสินค้าเหล่านั้น ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกพรีเมียมเลยแต่อย่างใด

หรือพูดง่ายๆ ว่า เล่นเฟซบุ๊ก ดื่มน้ำโค้ก ใช้เมาส์ของไมโครซอฟท์ ก็ไม่ได้ดูรวยกว่าชาวบ้านแต่อย่างใด

 

เพราะหากเราพูดถึงคำว่า “สินค้าแบรนด์เนม” เรามักจะนึกถึงสินค้าแฟชั่นหรูหรา ซึ่งแบรนด์ในกลุ่มนี้อาทิเช่น.. Louis Vuitton, Gucci และ Hermès เป็นต้น

ไม่เพียงแต่วงการแฟชั่นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวงการอื่นๆ ที่การใช้แบรนด์พรีเมียม จะทำให้เรารู้สึกภูมิใจอย่างบอกไม่ถูก

ยกตัวอย่างเช่น ดื่มกาแฟ Starbucks  ขับรถยนต์ BMW หรือกระทั่งการซื้อรองเท้ากีฬา Nike

ทำไมมนุษย์จึงคลั่งไคล้แบรนด์เนม มีคำอธิบายบางอย่างจากนักจิตวิทยา ที่เชื่อมโยงกับทฤษฎีพื้นฐานหนึ่งได้อย่างน่าสนใจ…

 

ทฤษฎีดังกล่าวชื่อว่า “ลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์”

หลายคนอาจจะไม่รู้จัก บางคนคุ้นชื่อ บางคนรู้จักดี เพราะเราต่างก็น่าจะเคยเรียนมาสมัยมัธยมหรือมหาวิทยาลัยกันแล้ว

นักจิตวิทยา Abraham Maslow มีชื่อเสียงโด่งดังจากการนำเสนอทฤษฎีดังกล่าวเมื่อราวๆ 70 ปีก่อน และยังคงถูกยอมรับกันมาในยุคปัจจุบัน

อธิบายง่ายๆ ก็คือ ทฤษฎีนี้ระบุความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน โดยแบ่งเอาไว้เป็น 5 ขั้น

ขั้นแรกคือคนเรามีความต้องการที่จะอยู่รอด ซึ่งสิ่งที่จะขาดไม่ได้ก็คืออากาศ อาหาร น้ำ เสื้อผ้า รวมไปถึงที่อยู่อาศัย

พอเราได้ขั้นแรกแล้ว คนเราก็อยากจะมีขั้นต่อไป นั่นก็คือการรักษาสิ่งเหล่านั้นให้คงอยู่ ต้องการให้มีอาหารกินสม่ำเสมอ ต้องการให้บ้านเราปลอดภัย ต้องการให้การงานเรามั่นคง

แล้วมนุษย์เราก็ยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น

ขั้นที่สาม เรายังคงต้องการความรักจากคนรอบตัว จากครอบครัว จากเพื่อน จากคนที่ทำงาน

ขั้นที่สี่ เราต้องการมีตัวตน ต้องการให้คนอื่นๆ มาเคารพนับถือ และไม่อยากให้ใครมองว่าด้อยค่า

จนไปถึงขั้นสุดท้าย ที่เมื่อมนุษย์ซึ่งได้สิ่งต่างๆ ครบแล้ว แต่ละคนก็จะต้องการ “ความสำเร็จสูงสุด” แตกต่างกันออกไป และไม่มีความต้องการสูงกว่านั้นแล้ว

 

Abraham Maslow

.

ลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์

 

ทำไมทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ของมาสโลว์ จึงถูกโยงเข้ากับแบรนด์เนม

มีคำอธิบายว่า การได้ใช้งานสินค้าแบรนด์เนมพรีเมียมนั้น สามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้ แถมตอบสนองได้หลายขั้นด้วย

ยกตัวอย่าง…

เราทุกคนย่อมมีสินค้าแบรนด์ประจำ ต่อให้พรีเมียมหรือไม่ก็ตาม เช่น น้ำอัดลม ผงซักฟอก หรือรองเท้ายี่ห้อประจำ

เพราะเรามั่นใจว่า การซื้อแบรนด์นี้อีกครั้ง ก็การันตีถึงคุณภาพ รสชาติ หรือประสิทธิภาพของสินค้าได้ระดับหนึ่ง

เราจะเห็นการไปต่อแถวซื้อสินค้าตัวใหม่ที่วางขาย เพราะการได้ใช้สินค้าก่อนใครเพื่อน ทำให้มนุษย์รู้สึกว่าตนเองเป็นคนพิเศษขึ้นมา

เราจะเห็นการใช้กระเป๋าหรูราคาหลายหมื่น เพราะศิลปินที่ชื่นชอบใช้งานแบรนด์นั้น และสบายที่ได้เป็นลูกค้าของแบรนด์ตามศิลปินคนโปรด

หรือกระทั่งการใช้ของแบรนด์เนมตามกลุ่มเพื่อน ตามกลุ่มคนที่เราไปเข้าหาด้วย เพื่อให้ตนเองได้เป็นที่ยอมรับในสังคมนั้นๆ ก็มีเช่นกัน

 

แม้จะมีความต้องการของขั้นที่ 1 และ 2 รวมอยู่ในด้วยการเลือกใช้แบรนด์ให้แบรนด์หนึ่ง

แต่ส่วนใหญ่แล้ว ในการที่มนุษย์ติดแบรนด์พรีเมียม มักจะเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นที่ 3 และ 4 ตามลำดับเสียมากกว่า

 

จะเห็นได้ว่าเมื่อ “แบรนด์” ผูกพันกับ “ความเป็นมนุษย์”

การใช้สินค้าแบรนด์เนมบ้าง ไม่แบรนด์บ้าง หรือถึงขั้นว่า “เสพติดแบรนด์” นั้นก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร

เพราะมองอีกมุมหนึ่ง แบรนด์สินค้าต่างๆ ก็ต้องใช้ทั้งความสามารถของพนักงาน ต้องรักษาคุณภาพสินค้า และใช้ระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร

กว่าจะเติบโตจากแบรนด์ที่ไม่มีคนรู้จัก จนกลายเป็นแบรนด์ระดับโลกได้สำเร็จ

และการที่ลูกค้าติดแบรนด์ของเรา กลับมาซื้อเป็นประจำ แถมยังบอกต่อให้คนรอบตัวใช้ตาม หรือกระทั่งคอยช่วยปกป้องแบรนด์ของเรา เวลาที่มีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์

นั่นก็คือสิ่งที่หลายๆ ธุรกิจต่างก็ต้องการ และใฝ่ฝันอยากจะให้แบรนด์ไปถึงจุดนั้นให้ได้เช่นกัน

 

แต่เราก็รู้กันดีว่า..

แม้ทฤษฏีของมาสโลว์ จะสามารถนำมาเขียนบนกระดาษ ใช้อธิบายความต้องการของมนุษย์กับสินค้าแบรนด์เนมได้อย่างเข้าใจไม่ยากนัก

แต่ในทางปฏิบัติจริง การสร้างแบรนด์ ทำให้ลูกค้าติดแบรนด์ และผลักดันแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวาง เป็นเรื่องที่ยากเหนื่อยจนเลือดตาแทบกระเด็น

แต่ถ้าทำได้ล่ะก็ มันก็นับเป็นความสำเร็จอันน่าภาคภูมิใจมากด้วยเช่นกัน… คุณคิดว่าอย่างไรครับ!?

 

เรียบเรียง: ประณิธิ วงศ์คำจันทร์

 

 

ติดตาม Billionaire Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionmindset.ig/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/Billion_Twit

– ติดตามเพจ Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา:

https://www.selfgrowth.com/articles/brands-why-are-some-people-obsessed-with-brands

https://smallbusiness.chron.com/people-buy-brand-names-69654.html

https://www.forbes.com/powerful-brands

https://en.wikipedia.org/wiki/Abraham_Maslow

https://www.forbes.com/sites/work-in-progress/2014/03/05/the-psychology-and-philosophy-of-branding-marketing-needs-and-actions/

www.brandingstrategyinsider.com/2018/03/maslows-hierarchy-and-brand-development.html#.XVk5regzaUk

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...