Facebook
Twitter
LINE

ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด และเราต้องกักตัวอยู่ที่บ้านนี้ หลายคนอาจจะสังเกตได้ว่ามีกลุ่มประเภทหนึ่งในเฟซบุ๊กที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

นั่นก็คือ “ตลาดนัดศิษย์เก่า” ซึ่งเปิดพื้นที่ให้ศิษย์เก่าและผู้เกี่ยวข้องกับสถาบันนั้นๆ เข้ามาขายสินค้าและบริการต่างๆ

 

จากข้อมูลพบว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นรายแรกที่เปิดกลุ่ม Facebook ตลาดนัดศิษย์เก่าออนไลน์ ในชื่อ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน” ปัจจุบันมีสมาชิก 160,316 คน ในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน

จากนั้นเทรนด์ของตลาดนัดศิษย์เก่า ก็ขยายไปยังสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศ และได้รับความนิยมไม่แพ้กันอีกด้วย

จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่า ทำไมกลุ่มเหล่านี้ถึงได้รับความนิยมขึ้นมาในช่วงวิกฤติโควิด-19 ซึ่งก็สามารถวิเคราะห์เหตุผลด้านต่างๆ ดังนี้..

 

1. ตลาด e-Commerce ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

จากรายงานผลสำรวจมูลค่า e-Commerce ในประเทศไทย โดย ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและดิจิทัล พบว่า

ตลาด e-Commerce มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ย 8-10% ต่อปี จนกระทั่งในในปี 2561 มูลค่า e-Commerce สูงถึง 3 ล้านล้านบาท

ทำให้คนไทยนั้นคุ้นเคยกับซื้อสินค้าออนไลน์เป็นอย่างดี พวกเขาจึงเป็นลูกค้าที่พร้อมจะตอบสนองกับสินค้าที่พบเจอโลกออนไลน์โดยไม่ลังเล

ประกอบกับการออกมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ของรัฐบาล ทำให้ความต้องการการซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

 

2. การซื้อขายสินค้าในตลาดนัดศิษย์เก่า มีความน่าเชื่อถือและสร้างความผูกพัน

จุดเด่นของตลาดนัดศิษย์เก่าที่แตกต่างจากการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ทั่วไป คือ เป็นแหล่งพบปะของศิษย์เก่า (Alumni Community)

แถมเงื่อนไขของตลาดนัดศิษย์เก่า คือ ผู้ขายต้องเป็นศิษย์เก่าเท่านั้น

โดยเฉพาะในบางกลุ่ม เมื่อผู้ขายประกาศขายสินค้า ต้องแจ้ง รหัสนักศึกษา คณะ หรือปีที่จบการศึกษา เงื่อนไขนี้เป็นการส่งสัญญาณ (Signal) จากผู้ขายไปยังผู้ซื้อ ทำให้ผู้ซื้อเกิดความมั่นใจในการซื้อสินค้า

ขณะเดียวกันผู้ขายมีความรู้สึกว่าผู้ซื้อไม่ใช่ลูกค้า แต่เป็น เพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง ที่อาจจะคุ้นเคยกันมากกว่าลูกค้าทั่วๆ ไป

ทำให้การซื้อขายสินค้าในตลาดนัดศิษย์เก่า นอกจากจะทำให้เกิดอุปสงค์และอุปทานตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว ยังทำให้เกิดความผูกพันระหว่างศิษย์เก่าร่วมสถาบันด้วย

 

กลุ่มต่างๆ ที่เปิดขึ้นมาในหลายสถาบัน

ยกทัพ 15 กรุ๊ปฝากร้าน จากมอดัง ร่วมกันฝ่า COVID-19.ในช่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉินแบบนี้ ร้านค้าหลายที่ต้องปิดให้บริการหน้าร้าน…

โพสต์โดย Infographic Thailand เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน 2020

 

3. ผู้ขายไม่มีค่าใช้จ่ายในการฝากร้าน

การประกาศขายสินค้าในตลาดนัดศิษย์เก่า นอกจากเป็นการช่วยเหลือผู้ขายสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 แล้ว

ข้อดีของตลาดนัดศิษย์เก่า คือ ผู้ขายไม่มีค่าใช้จ่ายในการฝากร้าน เหมือนกับการฝากร้านในธุรกิจ e-Commerce ทั่วไป

นี่จึงเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้กลุ่มได้รับความนิยมจากผู้ขาย มาขายสินค้าจำนวนมาก และทำให้ผู้ซื้อมีสินค้าให้เลือกสรรมากตามไปด้วย

 

4. มีสินค้าและบริการให้เลือกหลากหลาย

การซื้อขายสินค้าในตลาดนัดศิษย์เก่า มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ขนม อาหารทะเลแห้ง เครื่องครัว ของใช้ในบ้านทั่วไป

รวมไปถึง บริการต่างๆ ที่จำเป็นในช่วงนี้ ทั้งตัดผมถึงบ้าน บริการทำความสะอาด หรือกระทั่งบริการแปลภาษา

แต่ที่น่าสนใจก็คือ มีสินค้าราคาแพงมาขาย ทั้งที่อยู่อาศัย อสังหาริมทรัพย์ หรือเฮลิคอปเตอร์ส่วนตัวมีการประกาศขายในกลุ่มนี้เช่นกัน

เรียกได้ว่า มีตั้งแต่ ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ (Everything from soup to nuts)

 

 

5. ปริมาณการใช้อินเตอร์เน็ตของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ Facebook เป็นที่นิยมมากที่สุด

กลุ่มสมาชิกในตลาดนัดศิษย์เก่า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen Y (อายุ 18-37 ปี) และ Gen X ( อายุ 38-53 ปี)

ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตคนไทย ของ ETDA พบว่า ปริมาณการใช้อินเตอร์เน็ตของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

ในปี 2560 คนไทยใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ยประมาณ 6 ชั่วโมง 30 นาที

ในปี 2561 คนไทยใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ย 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นถึงสามชั่วโมงครึ่ง!!

และกลุ่มผู้ใช้อินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ ก็นิยมใช้งานเฟซบุ๊กเป็นหลัก จึงไม่น่าแปลกใจว่ากลุ่มซื้อขายในเฟซบุ๊ก ก็ได้รับความนิยมขึ้นมาอย่างมากเช่นกัน

 

เป็นเรื่องน่าสนใจว่า สำหรับโมเดลธุรกิจ ตลาดนัดศิษย์เก่า เป็นการผสมผสานระหว่าง “สมาคมศิษย์เก่า” ความผูกพันแบบเดิมๆ ในสถาบันที่มีมายาวนาน กับ “ธุรกิจ e-Commerce” แห่งโลกสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว

แม้แต่ในช่วงที่สถานการณ์ของโลกไม่ปกติแบบนี้ ก็ยังมีช่องทางการสร้างคอมมูนิตี้ และรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งนับว่ากรณีศึกษาทางธุรกิจชั้นดีเลยทีเดียว…

 

 

บทความโดย:

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อดุลย์ ศุภนัท

อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

ที่มา:

https://www.etda.or.th/app/webroot/content_files/13/files/20190131_Day3_CEO_V09.02.pdf

https://www.etda.or.th/content/etda-reveals-thailand-internet-user-profile-2018.html

https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9630000036359

บทความ The Relationship between Alumni and University : Toward A Theory of Discretionary Collaborative Behavior (1998) โดย Robert Heckman และ Audrey Guskey

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...