Facebook
Twitter
LINE

เคยได้ยินคำว่า “เครดิตบูโร” กันไหมครับ??

เวลาเราไปยื่นขอสินเชื่อซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือกระทั่งบัตรเครดิต พนักงานก็จะเอาเอกสารให้เซ็น เพื่อขอตรวจข้อมูลเครดิตบูโรของเรา

หรือเวลาที่ชำระหนี้ล่าช้าไปหลายงวด ก็จะมีคำพูดว่า ประวัติไม่ดี ติดเครดิตบูโรนะ

ทำให้เกิดความสงสัยว่าไอ้เจ้า “เครดิตบูโร” นี่มันคืออะไรกันแน่?? เราเลยขอพาคุณไปรู้จักกันให้มากขึ้นครับ…

 

 

ต้นกำเนิดของ “เครดิตบูโร”

เครดิตบูโร หรือ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ถือกำเนิดขึ้นมาจริงๆ จังๆ เมื่อปี พ.ศ. 2541 หลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

เป้าหมายก็เพื่อเป็นองค์กรกลางสำหรับเก็บบันทึกข้อมูลทางการเงิน ของประชาชนและบริษัทต่างๆ

ซึ่งจะทำให้สมาชิกที่เป็นสถาบันการเงินทั้งหลาย สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงในการปล่อยเงินกู้ ความสามารถในการชำระเงินคืน และป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้

 

เครดิตบูโร เก็บข้อมูลอะไรบ้าง??

ข้อมูลที่ถูกเก็บไว้กับเครดิตบูโร จะแบ่งออกเป็น 2 อย่างคือ

1. ข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ อาชีพ ที่อยู่ สถานภาพการสมรส

2. ข้อมูลด้านสินเชื่อทุกรูปแบบ ทั้งสินเชื่อบ้าน รถ การค้ำประกัน รวมถึงประวัติการชำระหนี้อีกด้วย

เครดิตบูโรนั้นเป็นเพียงแหล่งเก็บข้อมูลเท่านั้น ซึ่งข้อมูลต่างๆ ก็มาจากสมาชิกที่เป็นทั้งธนาคาร บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกัน หรือบริษัทบัตรเครดิต

เหล่าสมาชิกก็จะส่งข้อมูลของลูกค้าเข้ามาจัดเก็บเอาไว้รวมในที่เดียวกัน แล้วก็สามารถเรียกดูได้ร่วมกัน

สมมติว่าคุณเป็นหนี้บ้านกับธนาคาร A เป็นหนี้รถยนต์ธนาคาร B และมีหนี้บัตรเครดิตธนาคาร C

แล้วคุณไปขอกู้เงินกับธนาคาร D พอพวกเขาเข้ามาตรวจในเครดิตบูโร ก็จะรู้ว่าคุณมีหนี้ถึง 3 แห่งอยู่นะ

 

การขอดูข้อมูลเครดิตบูโร??

คนที่สามารถดูข้อมูลเครดิตบูโรของคุณได้ จะมีแค่ 2 ฝ่ายเท่านั้น

ฝ่ายแรกคือสถาบันการเงินที่คุณไปขอสินเชื่อ ซึ่งคุณเองก็ต้องทำเอกสารยินยอมให้ดูได้ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงของคุณนั่นเอง

อีกฝ่ายก็คือตัวเราเอง (สามีภรรยาไปขอแอบดูก็ผิดกฎหมายนะ) สำหรับคนที่อยากตรวจสอบประวัติการชำระเงินของตัวเอง หรือเช็คว่ามีใครเอาชื่อเราไปก่อหนี้ที่เราไม่รู้ไว้รึเปล่า

ซึ่งการตรวจก็สามารถทำได้ง่ายๆ ที่เคาน์เตอร์ธนาคารทุกสาขานั่นเอง

 

ข้อมูลถูกต้องแค่ไหน? แล้วถ้ามีประวัติไม่ดีหล่ะ??

ข้อมูลในเครดิตบูโรนั้น มีข้อกำหนดว่าสมาชิกต้องส่งข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันที่สุด

ปกติแล้วการผ่อนชำระหนี้ของคุณ รวมไปถึงการปลดหนี้ จะได้รับการอัพเดททุกเดือน

อาจจะล่าช้าไปนิดหน่อย เพราะสถาบันการเงินเองก็ต้องตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องก่อนนำส่ง

(บันทึกข้อมูลเป็นเท็จ มีค่าปรับรายการละ 300,000 บาท และวันละ 10,000 บาททุกวันจนกว่าจะแก้ไข เพราะฉะนั้นหน่วยงานก็เลยต้องมั่นใจในข้อมูลที่สุด)

 

โดยปกติแล้วข้อมูลของบุคคลทั่วไป จะถูกบันทึกเอาไว้ในเครดิตบูโรให้เรียกดูย้อนหลังได้ 3 ปี

ขณะที่นิติบุคคล หรือบริษัท ห้างร้าน จะถูกบันทึกเอาไว้ในเครดิตบูโร 5 ปี

 

ติด Blacklist เครดิตบูโร คืออะไร??

คือต้องชี้แจงก่อนว่า “แบล็คลิสต์” หรือ “ติดบัญชีดำ” ของเครดิตบูโร ไม่มีอยู่จริง อ่าว งงล่ะสิ…

มันเป็นแค่คำเรียกติดปากของคนที่มีประวัติการเงินไม่ค่อยดี ค้างชำระนานๆ พอไปขอกู้ครั้งหน้าเลยกู้ไม่ได้

หลายคนอาจจะเข้าใจว่าตัวเองติดบัญชีดำ โดนเครดิตบูโรกาชื่อเอาไว้ว่าคนนี้ห้ามปล่อยกู้ คนนี้ปล่อยกู้ได้นะ

จริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น…

เพราะเครดิตบูโร จะแสดงว่าคนนี้มีหนี้สินอะไรอยู่บ้าง แล้วมีประวัติการชำระเงินเป็นอย่างไร

ส่วนการพิจารณาว่าจะให้สินเชื่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินเท่านั้น

 

อธิบายให้เห็นภาพง่ายขึ้น…

คุณ A เคยค้างชำระหนี้ค่าบ้านเกิน 90 วัน แถมยังมีหนี้เป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับรายได้

แต่ตอนนี้เขาผ่อนบ้านหลังเก่าหมดแล้ว เลยไปขอกู้ซื้อบ้านอีกหลัง

ธนาคารเดิมก็ประเมินว่ามันเสี่ยงเกินไปที่จะปล่อยเงินกู้ให้ ก็เลยตัดสินใจไม่อนุมัติเงินกู้

แต่พอไปขอสินเชื่อกับธนาคารอีกแห่ง อาจจะประเมินว่าคุณ A นั้นน่ามีความสามารถผ่อนชำระบ้านหลังใหม่นี้หมดได้

แถมธนาคารมีโอกาสได้ดอกเบี้ยจากคุณ A มากขึ้น เพราะโดนปฏิเสธมาหลายแห่ง

ธนาคารอีกแห่งก็อาจจะปล่อยให้ได้ เป็นดุลยพินิจที่แตกต่างกันไปนั่นเอง

 

เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นหนี้ก็คือ ทำตัวเป็นลูกหนี้ที่ดี ชำระเงินให้ตรงเวลา

นั่นจะทำให้คุณมีเครดิตที่น่าเชื่อถือ สำหรับการยื่นขอสินเชื่อในครั้งต่อๆ ไปได้อย่างไม่มีปัญหานั่นเอง…

 

หวังว่าข้อมูลที่สรุปมา จะช่วยให้หลายคนเข้าใจ “เครดิตบูโร” กันได้มากยิ่งขึ้นนะครับ

ส่วนใครที่ยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติม พิมพ์มาในคอมเม้นต์ ผมเองและลูกเพจคนอื่นๆ อาจจะช่วยกันตอบให้ได้ในบางจุด

แต่ถ้าให้หายข้องใจจริงๆ สามารถติดต่อบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ

แฟนเพจ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร)

เว็บไซต์ https://www.ncb.co.th/faq

หรือโทรสอบถามโดยตรงที่คอลเซ็นเตอร์ 02-643-1250 ได้เลยนะครับ

รับรองว่าข้อมูลเค้าแน่นกว่าเพจนี้แน่ๆ (ฮ่าาาาา)

 

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...