Facebook
Twitter
LINE

ข่าวการพุ่งขึ้นกว่า 100 เท่าของหุ้นบริษัท GameStop และอีกหลายบริษัท จนคำว่า “Short” กลายมาเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงกันมากยิ่งขึ้น

และนั่นก็ส่งผลให้นักลงทุนมือใหม่ รวมถึงอีกหลายๆ คนที่ไม่คุ้นเคยกับการลงทุน จะเกิดความสงสัยว่ามันคืออะไร? ปกติหุ้นขึ้นเราถึงจะได้เงินไม่ใช่เหรอ? แล้วถ้าหุ้นตกเราจะได้กำไรยังไง?

ในคอนเทนต์นี้ เราเลยถือโอกาสหยิบคำว่า Short มาอธิบายให้ได้เข้าใจง่ายๆ ขึ้นครับ..

 

 

ปกติต้องพูดถึงสถานะในตลาดหุ้นกันก่อน มันประกอบไปด้วยฝั่งซื้อ(Long) แล้วก็ฝั่งขาย(Short)

Long คือการซื้อหุ้น เพื่อหวังว่าราคามันจะขึ้น แล้วตอนหลังก็ขายทำกำไร อันนี้เข้าใจง่ายเหมือนซื้อของมาขายแหละครับ

ส่วน Short คือการที่เราขายหุ้นก่อน แล้วหวังว่าราคามันจะลง เพื่อทำกำไรในทางตรงกันข้ามเช่นกัน

อ่าว.. ถึงจุดนี้หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วเราจะขายหุ้นได้ยังไง ในเมื่อเราไม่มีหุ้นอยู่?

ซึ่งก็จะใช้วิธี “ยืมหุ้น” จากคนที่มีหุ้นอยู่ก่อนแล้วครับ โดยปกติในกรณีนี้ จะมีนายหน้าคอยเป็นตัวแทนยืมหุ้นให้

ส่วนคนที่ให้ยืมหุ้น ก็จะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยกี่เปอร์เซนต์ก็ว่าไป หรือต้องให้เอาหุ้นมาคืนตอนไหน ก็แล้วแต่ตกลงกัน

พอยืมหุ้นมาแล้ว ก็เอาไปขายในตลาดหุ้น (เปิดสถานะ Short) สมมติขายได้ตอนนั้นเลย 100 บาท

เวลาผ่านไปถึงกำหนดที่ต้องคืน หรือทำกำไรได้จนพอใจแล้ว ก็ต้องซื้อหุ้นจากตลาดมาคืน (หรือที่เรียกว่าปิดสถานะ Short ครับ)

ถ้าตอนนั้นราคาหุ้นอยู่ที่ 50 บาท คนที่ Short ก็ได้กำไร

ถ้าราคาหุ้นดันพุ่งขึ้นไป 150 บาท คนที่ Short ไว้ก็ขาดทุนนั่นเอง

 

เพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น เรามายกตัวอย่างหน้ากากอนามัย ในช่วงโควิด-19 ระบาดกันดีกว่า

สมมติปกติหน้ากากอนามัยอันละ 5 บาท แล้วมันมีอยู่แค่ 1,000,000 ชิ้นในประเทศ

แต่พอเริ่มมีข่าวการระบาดของโรคใหม่ มีบางคนเก็งเอาไว้ว่าหน้ากากอนามัยราคาจะขึ้นแน่ๆ ก็เลยไปกว้านซื้อ(Long) ผ้าอนามัย

แล้วพอเกิดโรคระบาดจริงๆ ยิ่งมีความต้องการหน้ากากอนามัยมากขึ้น ราคาพุ่งทะยานไปเป็นอันละ 100 บาท คนที่ไปกว้านซื้อกักตุนไว้ก่อน ก็ได้กำไรเพียบ!!

 

ในทางตรงกันข้าม พอโควิด-19 ระบาดไปได้สักพักก็เริ่มควบคุมได้ แต่หน้ากากอนามัยยังคงขายกัน 100 บาท

มีบางคนเริ่มสงสัยตะหงิดว่า.. “เฮ้ย ราคามันสูงเกินไปแล้ว มันควรจะกลับไปขายที่ราคาเดิมได้แล้ว”

คนที่เริ่มเห็นช่องโหว่ดังกล่าว ก็เลยอยากจะทำกำไรจากราคาที่เฟ้อจนเกินไป แต่จะทำยังไงถ้าไม่มีหน้ากากอนามัย?

ก็ไปขอ “ยืม” จากคนที่มีอยู่แล้วนั่นเองครับ

ไปยืมจากคนที่กักตุนหน้ากากอยู่ สมมติว่ามีข้อแลกเปลี่ยนโดยจะจ่ายดอกเบี้ยให้สัก 5% ระหว่างยืม แล้วอีกไม่เกิน 3 เดือนจะเอามาคืน

พอยืมมาแล้ว เขาก็เอาไปขายเลยที่ราคา 100 บาท

แล้วผ่านไปไม่กี่วัน สมมติหน้ากากอนามัยราคาร่วง กลับมาเหลืออันละ 20 บาท ก็ค่อยไปซื้อคืนมา

ลองคำนวณเล่นๆ ดูว่าแบบนั้น เขาก็จะได้กำไรถึง 80 บาท แล้วก็ได้หน้ากากไปคืน หักลบกับดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้เจ้าของตัวจริง ก็ยังคงกำไรอยู่

นี่แหละครับ คือขั้นตอนง่ายๆ ของกระบวนการ Short ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเงิน ในการสร้างกำไรยุคปัจจุบัน

 

ภาพสรุปง่ายๆ ระหว่าง Long และ Short

 

ซึ่งในอดีต การ Short ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ก็อย่างเช่นเงินบาท ซึ่งโดนนักลงทุนต่างชาติโจมตี ก่อนที่จะเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540

รวมไปถึงในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีหลายคนเจ๊งจากการลงทุนซื้อหุ้น แต่ก็มีคนที่ Short ได้กลายเป็นมหาเศรษฐีหลายราย ถึงขั้นมีการเอามาสร้างเป็นภาพยนตร์ The Big Short นั่นเอง

 

แต่การ Short นั้นก็ไม่ใช่ว่าจะทำกำไรได้เสมอไปนะครับ เพราะมีความเสี่ยงที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ..

ถ้าคุณซื้อหุ้น(Long) สมมติว่าราคา 10 บาท โอกาสขาดทุนของเรามากที่สุดก็คือ 10 บาท หรือเงินหายไปเหลือศูนย์เท่านั้น

แต่ถ้าเรา Short หุ้นที่ราคา 10 บาท ถ้าหุ้นตกลงไปเหลือศูนย์ เราก็กำไรมหาศาล แต่ถ้าในทางตรงกันข้าม ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปแทนล่ะ?

นั่นคือโอกาสขาดทุนที่ “ไม่จำกัด” ถ้าหุ้นขึ้นไป 100 เราก็ขาดทุน 90

ถ้าหุ้นขึ้นไป 1,000 เราก็ขาดทุนติดลบไปเลย 990 หรือจนกว่าเราจะเลือกทำการปิดสถานะ Short นั่นเองครับ

(ถึงจุดนั้นถ้าไม่ยอมปิด ก็เป็นหนี้หมดเนื้อหมดตัวได้เลยนะ)

 

หุ้น GameStop ราคาย้อนหัลง 1 ปี

 

ซึ่งสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับ GameStop และอีกหลายๆ บริษัทตอนนี้ก็คือ การที่เหล่านัก Short ทั้งหลายที่หวังจะทำกำไรจากหุ้นในช่วงขาลง

จริงอยู่ที่ธุรกิจอยู่ในช่วงขาลง ราคาหุ้นมันควรจะตก แต่สถานการณ์จู่ๆ ก็พลิกเพราะมีบางคนมองว่าหุ้นโดนยืมไป Short จนเหลือหุ้นจริงๆ น้อยมาก

อีกฝ่ายฝ่ายก็เลยไล่กว้านซื้อหุ้น เพื่อดันราคาให้ขึ้นไปสูง และเพราะจำนวนหุ้นที่มีอยู่น้อยจึงดันราคาได้ง่าย

กลายเป็นว่าพอราคาหุ้นขึ้นฝั่ง Short เริ่มเพลี่ยงพล้ำ โดนกินกำไรไปจนขาดทุน

บางส่วนเห็นว่าขาดทุน ก็รีบปิดสถานะ Short หรือคือการซื้อหุ้นที่ยืมมาไปคืน เพื่อไม่ให้ขาดทุนมากแบบที่ยกตัวอย่างข้างต้น

ทีนี้พอยิ่งซื้อ หุ้นก็ยิ่งขึ้นสิครับ กลายเป็นว่าแบบนั้นมีส่วนช่วยดันให้ราคาสูงไปอีก สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ไม่หยุด แล้วรู้ตัวอีกที ราคาหุ้นก็ขึ้นไปเป็นสิบเท่าร้อยเท่าแล้ว!!

กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “Short Squeeze” หรือการที่ฝ่าย Short ต้องแย่งกันไล่ซื้อหุ้นคืนเพื่อปิดสถานะ ไม่ให้ขาดทุนไปมากกว่านั้น

หรือที่จะเรียกว่า “แย่งกันหนีตาย” ก็ไม่ผิดนักครับ

 

แต่…!! มาถึงจุดนี้ในส่วนของ Short Squeeze มันจะค่อนข้างเป็นหัวข้อที่แตกแยกออกไปจากการ Short ปกติ

เราเลยขอปิดบทความเรื่อง Short เอาไว้เท่านี้ก่อนดีกว่า เดี๋ยวจะหลุดจากคอนเซปต์ “สรุปให้เข้าใจง่ายๆ” กลายเป็นยืดยาวไปซะมากกว่า

(บทความใหม่มาแล้ว!! อ่านได้ที่: รู้จักปรากฏการณ์ Short Squeeze ที่ทำให้หุ้นขึ้น 100 เด้ง ผ่านกรณีศึกษา “แมว 100 ตัว” )

 

และก็หวังว่าบทความนี้ จะช่วยให้หลายๆ คนคลายข้อสงสัยในเรื่องของ Short ได้ไม่มากก็น้อย

แต่ถ้าใครยังสงสัยไหนจุดไหนก็สามารถมาคอมเมนต์พูดคุย แลกเปลี่ยนกันได้เช่นเคยครับ..

 

 

ร่วมแสดงความคิดเห็นที่

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...