Facebook
Twitter
LINE

Wake me up when September ends…

คุณอาจจะไม่รู้ว่า วิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา มีลูกหนี้เข้าโครงการขอความช่วยเหลือจากธนาคารต่างๆ มากแค่ไหน!?

ตามข้อมูลจากสมาคมธนาคารไทย ระบุว่ามาตรการดังกล่าว มีผู้เข้ารับการช่วยเหลือถึง 15 ล้านราย

คิดเป็นยอดหนี้รวมกันสูงถึง 6.68 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 40% ของ GDP ประเทศไทย

โดยจะแบ่งออกได้เป็น..

ลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่ ประมาณ 0.73 ล้านล้านบาท

ลูกหนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ประมาณ 2.13 ล้านล้านบาท

ลูกหนี้รายย่อย ซึ่งมีปริมาณมากที่สุด 3.80 ล้านล้านบาท

นอกจากมีปริมาณมากที่สุด ยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่น่าเป็นห่วงที่สุดอีกด้วย!!

 

จะเห็นได้ว่ามาตรการที่ออกมาทั้ง พักจ่ายเงินต้น พักจ่ายดอกเบี้ย หรือพักจ่ายทั้งต้นและดอก จะมีระยะเวลาสูงสุด 6 เดือน

ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนเมษายน จะไปสิ้นสุดในงวดเดือนกันยายน

 

แม้ตอนนี้จะเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ลงไป หลายธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินกิจการได้เกือบปกติ หลายคนเริ่มกลับมาได้ทำงาน มีรายได้อีกครั้ง

แต่!! ก็ยังคงเกิดปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น..

– ธุรกิจยังเปิดบริการไม่ได้ 100% เช่น ร้านอาหาร หรือสายการบินต้องเว้นที่นั่ง ทำให้รายได้ลดลง

– ธุรกิจเปิดบริการได้แล้ว แต่ลูกค้าไม่มีกำลังซื้อ ไม่กลับมาใช้บริการตามปกติ

– รัฐบาลให้เปิดได้ แต่นายจ้างยังไม่ให้กลับมาทำงาน เพราะลูกค้าหายไป

หรือเลวร้ายที่สุดก็คือในบางธุรกิจ ยังคงไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดทำการ ซึ่งนั่นหมายถึงรายได้ยังคงเป็น 0 เช่นเดิม

และแม้กลับมาเปิดได้ตอนนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะมีรายได้พอมาจ่ายหนี้ทั้งหมดที่ถูกพักมาตลอดหลายเดือน

นั่นทำให้ “เดือนกันยายน” ที่มาตรการพักชำระหนี้เหล่านี้สิ้นสุดลง อาจจะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญอีกครั้งของเศรษฐกิจไทย!!

 

จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะทำให้ปริมาณของหนี้เสีย (NPL) มีจำนวนมากขึ้นอย่างมหาศาล

จากก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ไทยมีหนี้เสียประมาณ 490,000 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 3% ของหนี้รวมทั้งหมด

ซึ่งทั้งแบงค์ชาติ และธนาคารพาณิชย์ ก็ดูจะกังวลกับเรื่องนี้พอสมควร และเข้าใจดีว่า “เดือนกันยายน” มีความสำคัญอย่างไร

จึงนำมาซึ่งมาตรการ 2 อย่าง ที่ออกมาติดๆ กันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็น “การให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายปันผลระหว่างกาล งดซื้อหุ้นคืน” เพื่อรักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็ง

รวมถึง “มาตรการลดเพดานดอกเบี้ย ขยายเวลาพักชำระหนี้ออกไปอีก” รวมถึงการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ของคนที่จ่ายไม่ไหว

ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็เพื่อลดการเกิดหนี้เสียในระบบ ให้น้อยลงที่สุด และเตรียมตัวให้ไทยกลับมาฟื้นตัวได้อย่างเร็ว ในไตรมาสสุดท้ายของปี

เพราะกรณีที่เลวร้าย มันจะไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะลูกหนี้เท่านั้น

แต่มันอาจจะกลายเป็นระเบิดก้อนใหญ่ ที่กระทบไปถึงเจ้าหนี้สถาบันการเงินทั้งหลาย และกระทบไปถึงเศรษฐกิจประเทศเป็นลูกโซ่อีกด้วย

 

แล้วเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ จะกลับมาดี หรือแย่ลงกว่าเดิม!?

เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ถูกประเมินว่าขยายตัวติดลบ -1.80%

ในขณะที่ IMF ประเมินว่าตลอดทั้งปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะหดตัว -6.7% ก่อนที่ปีหน้าจะกลับมาขยายตัวได้สูงถึง 6.7% อีกครั้ง

สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นอย่างหนึ่งที่ว่า วิกฤติโควิด-19 กระทบหนักมากต่อไทย ที่มีรายได้หลักจากส่งออก และการท่องเที่ยว

ซึ่งแม้วิกฤตินี้จะส่งผลรุนแรง แต่พื้นฐานของหลายธุรกิจที่ยังคงดี ก็จะทำให้ฟื้นตัวกลับมาได้ดีพอสมควร

อย่างที่ตอนนี้ เราเริ่มคลายล็อกดาวน์ สถานที่หลายแห่งเริ่มเปิด หลายธุรกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวกันอีกครั้ง

แต่ทั้งหมดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับตัวแปรสำคัญอย่าง “การระบาดระลอก 2” รวมถึงการล็อกดาวน์ ปิดเมือง จะต้องไม่เกิดขึ้นอีกครั้ง

ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด แล้วเราต้องกลับไปปิดเมือง ปิดประเทศ หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกรอบหนึ่ง

ถึงตอนนั้นก็ไม่สามารถบอกได้เลยว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้า จะเลวร้ายลงได้อีกมากเพียงใด…

 

Wake me up when September ends…คุณอาจจะไม่รู้ว่า วิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา…

โพสต์โดย Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน เมื่อ วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน 2020

 

ติดตาม Billion Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionmindset.ig/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/Billion_Twit

– ติดตามเพจ Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา

www.imf.org/external/datamapper/

www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/ReportPage.aspx?reportID=794

mgronline.com/stockmarket/detail/9630000059835

www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=5176&filename=QGDP_report

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...