Facebook
Twitter
LINE

ท่ามกลางโรคระบาดโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้น หลายประเทศกำลังยุ่งอยู่กับการป้องกันควบคุมโรคในประเทศตัวเอง

แต่คุณก็อาจจะได้เห็นข่าวของประเทศมหาอำนาจ ลุกขึ้นมาปะทะคารม จนกลายเป็นดราม่าใหญ่โต

เชื่อว่ามีหลายคน ที่ยังไม่ค่อยจะเข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น ในเหตุการณ์ครั้งนี้?

ทำไมจู่ๆ “องค์การอนามัยโลก” กับ “สหรัฐอเมริกา” ถึงได้มีปัญหากัน?

อ่าว.. แล้วจีนมาเกี่ยวอะไรอีก!?

ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้สรุปเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้แบบเข้าใจง่ายๆ มาให้ได้ติดตามกันครับ..

 

ย้อนไปจุดเริ่มต้นของปัญหา

เรื่องราวของข้อพิพาทในครั้งนี้ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2020 ที่ผ่านมา

เมื่อ “โดนัล ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กล่าวโจมตีองค์การอนามัยโลก ว่าเป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้โควิด-19 แพร่กระจายไปในวงกว้างอย่างที่ไม่ควรเป็น

ตัวอย่างเหตุผลที่เขายกขึ้นมา ก็เช่น…

– องค์การอนามัยโลกมีความหย่อนยานจากที่เคยเป็น

– เข้าข้างประเทศจีนมากเกินไป

– เชื่อในคำโกหกของรัฐบาลจีน โดยไม่มีการไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทรัมป์จึงได้ขู่ว่า สหรัฐฯ จะตัดเงินสนับสนุนต่อองค์การอนามัยโลก

ซึ่งนั่นจะกระทบต่อองค์การ เพราะเงินจากสหรัฐฯ ก็มากถึง 14,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 15% ของเงินสนับสนุนทั้งหมด

 

ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ในการตอบคำถามสื่อเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2020

 

เสียงที่แตกออกเป็นสองฝั่ง

ในตอนแรกสำนักข่าวต่างประเทศ วิเคราะห์ว่าที่การระบาดโรคโควิด-19 ในสหรัฐฯ รุนแรงกว่าที่ควรนั้น

ส่วนหนึ่งเกิดจากความล่าช้าในการตอบสนองของรัฐบาล มากกว่าที่จะเป็นความผิดขององค์การอนามัยโลก

แต่เมื่อข่าวเริ่มแพร่ออกไปมากขึ้น ผู้คนก็เริ่มรู้สึกว่าองค์การอนามัยโลกเอง ก็มีการจัดการกับโรคโควิด-19 ที่ “น่าสงสัย”

ยกตัวอย่างเช่น…

–  WHO ออกมาบอกว่าคนที่สุขภาพดีไม่ควรใส่หน้ากากป้องกันโรค ซึ่งคำแนะนำในจุดนี้ ถูกแย้งโดยนักวิทยาศาสตร์ และองค์กรสาธารณสุขในหลายประเทศ

– ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์การอนามัยโลกเคยออกมาชมประเทศจีนว่ามีการรับมือกับโรคที่ “ดีและโปร่งใส” ทั้งที่มีหลายฝ่ายออกมาบอกว่ารัฐบาลจีนมีการปิดข่าวตัวเลขที่แท้จริงของผู้ป่วย

 

กระแสที่เกิดขึ้น ทำให้คำวิจารณ์ของทรัมป์ ว่าองค์การอนามัยโลกหย่อนยานและเข้าข้างจีน ได้รับการสนับสนุนมากขึ้น

ดังนั้น ในวันที่ 14 เมษายน 2020 สหรัฐอเมริกาจึงได้ตัดสินใจที่จะถอนงบช่วยเหลือองค์การอนามัยโลก เฉพาะของเดือนนั้นไป

และปัญหาที่เกิดขึ้นก็ดูเหมือนว่า จะแยกย้ายเลิกตีกันเพียงเท่านี้.. แต่ที่จริงยังไม่จบ!!

 

นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่แห่งองค์การอนามัยโลก

 

เกิดปัญหาระลอกสอง

ล่าสุด 19 พฤษภาคม 2020 ทรัมป์ได้ส่งจดหมายไปหาองค์การอนามัยโลก

(แต่แค่ส่งไม่พอนะ เอามาลงทวิตเตอร์ตัวเองด้วย สมกับเป็นนักทวิตเตอร์จริงๆ)

โดยระบุในจดหมายว่า…

– องค์การอนามัยโลกทำงานไม่เป็นเป็นอิสระจากจีน แถมเพิกเฉยต่อ “รายงานที่เชื่อถือได้หลายฉบับ” เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสพันธุ์ใหม่ ที่เกิดในจีนตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน

– องค์การอนามัยโลกประกาศภาวะฉุกเฉินล่าช้า เพราะถูกกดดันจากจีน

– องค์การอนามัยโลกชมประเทศจีน ทั้งที่มีขาดการประสานงานกับนานาชาติ และปิดบังข้อมูล

– องค์การอนามัยโลกทำผิดซ้ำๆ กับที่เคยเป็นในตอนเกิดโรคซาร์ส ทั้งที่พวกเขาอาจช่วยคนได้เป็นจำนวนมาก

โดยทรัมป์ ได้ขู่ในจดหมายไว้ด้วยว่า องค์การอนามัยโลกควรจะหลุดจากการเป็นหุ่นเชิดให้จีน และปรับปรุงการทำงานให้ได้ใน 30 วัน

ไม่เช่นนั้น สหรัฐอเมริกาจะถอนงบช่วยเหลือองค์การแบบถาวร และอาจจะออกจากการเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลกเลยด้วย

 

การตอบโต้ของประเทศจีน

เรื่องราวที่เกิดขึ้นทำให้โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน ต้องออกมาตอบโต้กลับทางสหรัฐฯ

สรุปง่ายๆ ทางจีนตอบโต้กลับมาว่า..

– จดหมายของทรัมป์มีแต่การคาดเดา ไม่มีหลักฐาน

– ทรัมป์พยายามดึงความสนใจจากปัญหาการทำงานของรัฐบาลตัวเอง ด้วยการป้ายสีจีนเท่านั้น

– ย้อนไปวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของประเทศจีน ก็ยอมรับที่จะให้องค์การอนามัยโลกสามารถเข้าตรวจสอบการแพร่กระจายของไวรัสในจีนแล้ว

(แม้ว่า พวกเขาจะยอมให้ตรวจสอบ “หลังจาก” การแพร่ระบาดโควิด-19 จบลงก็ตาม)

 

ส่วนในเรื่องเกี่ยวกับเงินช่วยเหลือที่อาจจะหายไป ทางจีนก็บอกว่ามันเป็นการตัดสินใจร่วมกันของทุกประเทศสมาชิกแล้ว

ดังนั้น มันจึงเป็นหน้าที่ของสหรัฐฯ ที่จะต้องจ่ายด้วย เพราะหากขาดเงินในจุดนี้ไป มันก็อาจจะเกิดความล่าช้าในการรักษาโรคร้ายโรคนี้ได้

ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องส่งผลกระทบแม้แต่ในสหรัฐฯ เองด้วยเช่นกัน

 

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของประเทศจีน ในระหว่างการประกาศข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม

 

สุดท้าย.. สรุปผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ด้วยความที่องค์การอนามัยโลกไม่ใช่ธุรกิจแสวงหาผลกำไร จึงต้องอาศัยการระดมทุน จากทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นแหล่งเงินทุนหลัก

ในปีงบประมาณที่ผ่านมา กว่า 15% ของเงินทุนในองค์การจึงล้วนแต่จะมาจากสหรัฐอเมริกา

ซึ่งหากตีเป็นค่าเงินแล้ว เท่ากับว่าสหรัฐฯ ให้เงินแก่องค์การอนามัยโลกถึงราวๆ 14,000 ล้านบาทต่อปี

ในขณะที่คู่ขัดแย้งอย่างจีนให้เงินสนับสนุนแก่องค์การอนามัยโลกราวๆ 1,600 ล้านบาท

ดังนั้น หากสหรัฐฯ ถอนตัวออกไปจากองค์การอนามัยโลกจริงๆ ก็อาจจะเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่นๆ ถอนตัวตามไปด้วย

และนั่นอาจจะลดประสิทธิภาพขององค์การอนามัยโลก ในการจัดการป้องกันโรคระบาดทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

 

ส่วนคนที่กำลังกังวลในเรื่องของ “วัคซีน” ก็ขอให้สบายใจขึ้นเล็กน้อย

เพราะถึงแต่ละประเทศจะถอนตัว แต่เงินทุนการวิจัยวัคซีนโรคโควิด-19 ของทั้งสหรัฐฯ และจีน  ล้วนแต่จะมาจากการสนับสนุนโดยรัฐบาลโดยตรง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับองค์การอนามัยโลก

แถมทั้งคู่ก็กำลังแข่งขันกันพัฒนาวัคซีนอย่างเร่งด่วน

จีนอาจจะได้เปรียบเพราะเกิดการระบาดก่อน มีข้อมูลมากกว่า.. แต่เทคโนโลยีและเงินทุนของสหรัฐฯ ก็ไม่เป็นสองรองใคร

และเชื่อว่าทั้งสองประเทศ คงแข่งกันพัฒนาให้สำเร็จแบบไม่ยอมกันเป็นแน่!!

 

ท่ามกลางโรคระบาดโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้น…

โพสต์โดย Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน เมื่อ วันพุธที่ 20 พฤษภาคม 2020

 

 

ติดตาม Billion Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionmindset.ig/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/Billion_Twit

– ติดตามเพจ Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา

www.businessinsider.com/trump-says-us-will-reconsider-world-health-organization-membership-2020-5

www.foxnews.com/world/trump-attacks-who-letter-member-states-remain-loyal-coronavirus-response

edition.cnn.com/2020/04/07/politics/fact-check-trump-coronavirus-briefing-april-7/index.html

www.bbc.com/news/world-us-canada-52213439

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...