Facebook
Twitter
LINE

ทุกวันนี้ทุ่งดอกทิวลิป กลายเป็นสัญลักษณ์และสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตของเนเธอร์แลนด์

แต่ทราบหรือไม่ว่า 400 ปีก่อน มันคือหายนะทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญของโลกเลยทีเดียว!!

 

ย้อนกลับไปเมื่อยุค 1600 สมัยนั้นยุโรปไม่มีดอกทิวลิป เพราะมันเป็นพืชของแถบตะวันออกกลาง เช่น อิรัก ตุรกี และดินแดนใกล้เคียง

ตามประวัติศาสตร์ คาดว่าสุลต่านแห่งตุรกี ส่งมอบหัวทิวลิปไปยังยุโรปในยุคนั้น จนดอกไม้ชนิดนี้ได้รับความนิยมไปทั่ว โดยเฉพาะในเนเธอร์แลนด์

 

ทุ่งทิวลิปเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตของเนเธอร์แลนด์

 

เนื่องจากดอกทิวลิปเป็นของหายาก คนสมัยนั้นจึงนิยมใช้มันเป็นเครื่องแสดงฐานะ พูดง่ายๆ คือสวนบ้านใครมีดอกทิวลิป คนนั้นคือคนรวย

(คุ้นๆ กับสมัยนี้รึเปล่าครับ แค่เปลี่ยนจาก “ดอกทิวลิป” เป็นสิ่งของอย่างอื่น)

 

พอคนรวยทั่วไปปลูกทิวลิปได้ ทิวลิปสีธรรมดาก็เลยกลายเป็นของทั่วไป คนที่อยากเด่น อยากหรู ก็เริ่มสรรหาของแปลกขึ้นไปอีก

นั่นก็คือ “ทิวลิปสลับสี” เช่น สีเหลืองอมแดง สีขาวอมม่วง ถูกยกระดับให้กลายเป็น “แรร์ไอเท็ม” หรือของหายากที่มีราคาสูง

โดยที่พวกเขาไม่รู้ว่าการเกิดทิวลิปสีแตกเนี่ย เป็นเพราะเชื้อไวรัส ไม่ได้เป็นเพราะมันเป็นของล้ำค่าแต่อย่างใด

 

ทิวลิปสลับสี ซึ่งมีราคาสูงกว่าทิวลิปทั่วไปในยุคนั้น

 

ดอกทิวลิปจะบานในช่วงฤดูร้อน ก็ราวๆ เดือนมิถุนายน-สิงหาคม หลังจากนั้นก็จะมีผลผลิตเป็นหัวทิวลิป ให้คนนำมาปลูกกันต่อ

ซึ่งเจ้าหัวทิวลิปเนี่ยมีความต้องการสูงมาก ชนิดที่ว่าทำแปลงเพาะพันธุ์กันเป็นล่ำเป็นสัน ก็ยังไม่พอต่อความต้องการของคนซื้ออยู่ดี

 

หัวทิวลิปจะมีขายเฉพาะเดือนกันยายน หลังดอกเหี่ยวแห้งแล้ว แต่ความต้องการซื้อมันมีทั้งปี ทีนี้จะทำยังไง!?

มันจึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า “การทำสัญญาซื้อขายหัวทิวลิปล่วงหน้า”

สัญญานี้ก็อธิบายง่ายๆ ประมาณว่า.. ทำสัญญากันไว้ตอนต้นปี พอเดือนกันยายนก็ส่งมอบหัวทิวลิปกัน ไม่มีอะไรซับซ้อน

 

หัวทิวลิป ที่มีการซื้อขายในราคาสูง

 

แต่.. ความโลภของมนุษย์นั้นมีมาตั้งแต่อดีต

จากสัญญาที่ทำกันไว้ระหว่างสองฝ่าย แทนที่จะจบลงแค่นั้น ก็เกิดการซื้อขาย “ใบกระดาษสัญญา” เพื่อทำกำไร บ้างก็ซื้อสัญญาที่ถูกกว่า ไปขายแพงขึ้น เพราะคาดคะเนว่าหัวทิวลิปจะราคาสูงขึ้นเมื่อถึงปลายปี

หรือบางคนก็มีถึงขั้นเอาไปเก็งพนันกันว่าทิวลิปสวนนี้จะเป็นหัวที่มีสีแซม ปลูกเป็นดอกได้ราคาดี หัวที่ถูกเก็งนั้นก็จะมีราคาสูงไปอีก

 

แรกเริ่มเดิมทีนั้น การเก็งกำไรนี้เกิดขึ้นที่เมืองอัมสเตอร์ดัมก่อน…

จากนั้นจึงแพร่ไปยังส่วนอื่นๆ ประเทศ เท่านั้นยังไม่พอ มีการเก็งกำไรแบบนี้ในฝรั่งเศส อังกฤษ ซึ่งตลาดก็ไม่ได้พลุกพล่านและมีราคาสูงเท่าที่เนเธอร์แลนด์

พอมีการเก็งกำไรเยอะขึ้น ตอนนี้มันไม่ได้แค่เพียงกลุ่มนายทุนมาเก็งกำไรเท่านั้น

แต่ชาวบ้านที่ไม่มีกระทั่งหัวทิวลิป หรือมีเงินไม่พอ ก็นำตัวเลขราคาของหัวทิวลิปไปเก็งกำไรกันเฉยๆ ก็มี

(ลักษณะเหมือนหวยใต้ดินหรือหวยหุ้นของบ้านเรานี่แหละ)

 

ปี 1634 ราคาของหัวทิวลิปอยู่ที่ประมาณ 1 กิลเดอร์ (หน่วยเงินดัตช์ เทียบกับเงินไทยประมาณ 18 บาท)

ปี 1635 ราคาหัวทิวลิปพุ่งขึ้นไปถึง 25-40 กิลเดอร์ สูงกว่าเดิม 40 เท่า!!

ยังไม่พอ ราคายังวิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ

ปลายปี 1636 หัวทิวลิปบางหัวอาจจะมีราคาสูงถึง 100-150 กิลเดอร์

ต้นปี 1637 หัวทิวลิปที่ถูกเก็งว่าราคาแพง พุ่งสูงถึง 200 กิลเดอร์

 

 

บางคนเห็นทิวลิปพุ่งขึ้นไปจาก 25 เป็น 40 กิลเดอร์ เขาก็คิดว่าราคาคงจะพุ่งไปอีก ถึงขั้นไปกู้ยืมเงินมาซื้อสัญญาหัวทิวลิป และขายต่อได้กำไรงาม

มีบันทึกว่า บางคนถึงขั้นยอมแลกที่ดิน 30 ไร่ กับหัวดอกทิวลิปหายากหัวหนึ่ง ในช่วงปี 1636 เพราะหวังว่าจะขายมันได้แพงกว่านั้น และมีเงินไปซื้อที่ดินมากขึ้น

 

แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา…

เดือนกุมภาพันธ์ ปี 1637 ได้ถูกบันทึกว่าเป็นจุดสูงสุดของราคาดอกทิวลิปในวิกฤติครั้งนี้

เมื่อนักเก็งกำไรพยายามจะขายสัญญาล่วงหน้าของหัวทิวลิป แต่ราคาไม่พุ่งขึ้นดังเดิม ไม่รู้ว่าเพราะคนซื้อหมดหน้าตัก หรือพวกเขาไม่อยากแบกรับความเสี่ยงมากขึ้น

กลายเป็นความวิตกที่ส่งต่อกันเป็นลูกโซ่ เมื่อสัญญา 1 ฉบับขายไม่ออก ผู้คนต่างกังวล

บางคนเอาสัญญาตัวเองมาขายในราคาที่ถูกลง และนั่นก็คล้ายกับการเทขายในตลาดหุ้นในช่วงวิกฤติ นั่นทำให้ราคาของมันย่ำแย่ไปอีก

เมื่อเห็นว่ามีคนเอาสัญญามาขายถูกลง มันก็จะมีทั้งคนที่รับซื้อเพราะคิดว่าเดี๋ยวคงขึ้นไปอีก กับคนที่พยายามขายเพราะกลัวมันตกลงไปมากๆ

ปรากฏว่าฝ่ายหลังมีมากกว่า และมันก็เหมือนกับวิกฤติการเงินหลายๆ ครั้ง

ราคาดิ่งลงอย่างรวดเร็ว เพราะทุกคนอยากจะขาย แต่ไม่มีใครอยากซื้อ!!

 

ภาพวาดล้อเลียนเหตุการณ์ความคลั่งทิวลิป

 

รัฐบาลของดัตช์ซึ่งไม่เคยเจอวิกฤตินี้ พยายามจะช่วยแก้ไขปัญหา ตอนแรกพวกเขาขึ้นค่าธรรมเนียมสัญญา เพื่อไม่ให้มีการปล่อยสัญญากันได้ง่ายดาย

พวกเขาตัดสินใจปฏิเสธการเข้าไปแทรกแซงราคา ซึ่งนั่นส่งผลให้วิกฤติยิ่งเลวร้ายไปกว่าเดิม

นักเก็งกำไรทั้งอัมสเตอร์ดัม เงินหายวับไปกับตา เพราะพวกเขามีแต่กระดาษที่ไร้ค่า

 

จากราคาบางหัวที่สูงถึง 200 กิลเดอร์ ในช่วงต้นปี 1637

พอถึงเดือนพฤษภาคม ราคาหัวทิวลิปลดลงไปสู่จุดเริ่มแรกที่ 1-2 กิลเดอร์ ภายในเวลาไม่ถึงครึ่งปี

ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าราคาลดลงไปต่ำแค่ไหน!?

แต่ภายหลังมีการค้นพบบันทึกการซื้อขายฉบับหนึ่งในปี 1739 หรืออีกประมาณร้อยปีให้หลัง พบว่าซื้อขายหัวทิวลิปเพียง 0.1 กิลเดอร์เท่านั้น

 

และในปัจจุบัน เงิน 1 กิลเดอร์สามารถซื้อทิวลิปเกรดธรรมดาได้เกือบ 100 หัว ขณะที่ทิวลิปเกรดดีหน่อยก็อาจจะมีราคา 2-5 กิลเดอร์

ที่สำคัญ ราคามันไม่เคยสูงถึงหัวละ 200 กิลเดอร์อีกเลย

 

ปัญหานี้ไม่ได้กระทบเฉพาะเศรษฐกิจของอัมสเตอร์ดัมเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงเมืองเล็กเมืองน้อย ฝรั่งเศส อังกฤษ และระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกันในยุโรป

แต่ไม่มีที่ใดเลวร้ายไปกว่าเนเธอร์แลนด์แล้ว ว่ากันว่านั่นคือจุดเริ่มต้นการเสื่อมสลายของ “ยุคทองแห่งดัตช์” และทำให้เศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์หยุดนิ่งไปนานหลายปี

 

ยุค 1500-1600 คือช่วงแห่งความรุ่งเรืองของชาวดัตช์

 

วิกฤติดอกทิวลิป ถูกบันทึกว่าเป็นวิกฤติการเงินยุคใหม่ครั้งแรกของโลก

และหลังจากนั้น เรามักจะเห็นวิกฤติต่างๆ บนโลก ที่สะท้อนการ “เก็งกำไร” ที่มากเกินควร ทำให้สินทรัพย์บางอย่างมีมูลค่าสูงเกินจะเป็น

จนสุดท้ายพอมันสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง เวลานั้นก็สายเกินกว่าที่จะทำอะไร

ส่วนคนที่ออกจากวงเก็งกำไรไม่ทัน ต่างสิ้นเนื้อประดาตัว เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเชื่อว่าจะยังคงเกิดขึ้นอยู่ต่อไป

ตราบใดที่ “ความโลภ” ยังเป็นของที่อยู่กับ “มนุษย์” นั่นเอง…

 

วันนี้คุณถือครองสินทรัพย์อะไรบ้าง?? คุณคิดว่ามันมีมูลค่ามากแค่ไหน!?

แล้วมูลค่าจริงๆ ของมันคือเท่าไร!?

การศึกษาวิกฤติเก่าๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าจะไม่เกิดวิกฤติครั้งใหม่ เพราะตราบใดที่มนุษย์ยังมีความโลภ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเสมอ

แต่สามารถย้ำเตือน “ตัวคุณเอง” ให้ลงทุนตั้งอยู่บนความ “ไม่ประมาท” เพราะสุดท้ายถึงจะเกิดวิกฤติ คุณก็จะไม่ได้หมดถึงกันสิ้นเนื้อประดาตัวและเป็นหนี้สิน

แต่ยังคงมี “ทุน” ไว้สำหรับการลงทุนรอบใหม่ ใน “โอกาสใหม่ๆ” ที่มักจะเกิดขึ้นหลังวิกฤตินั่นเอง..

 

คุณจะยอมแลกที่ดิน 10 ไร่ กับดอกทิวลิป 1 ดอกรึเปล่า!? แต่ในอดีต.. เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วจริงๆ …

โพสต์โดย Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน เมื่อ วันอังคารที่ 21 เมษายน 2020

 

 

ติดตาม Billion Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionmindset.ig/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/Billion_Twit

– ติดตามเพจ Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

 

ที่มา:

https://th.wikipedia.org

tulipcrisis.wordpress.com/tag/ฟองสบู่ทิวลิป/

https://www.elliottwave.com

https://www.richardcayne.com/

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...