Facebook
Twitter
LINE

เงินในธนาคารหายไปแสนล้าน ธนาคารล้มละลาย 9,000 แห่ง

คนจนลงทันทีทั่วประเทศ รายได้ลดลงจากเดิมไปครึ่งต่อครึ่ง

เศรษฐกิจหยุดชะงัก และถดถอยหลังจากนั้นไปอีกหลายปี

บทความนี้จะสรุปให้เข้าใจว่า “ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงที่สุด The Great Depression” คืออะไร!? และเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงนั้น!?

 

วันอังคารที่ 29 ตุลาคม 1929 กลายเป็นฝันร้ายของใครหลายคน

เมื่อดัชนีหุ้นดาวโจนส์ ปรับตัวลดลงไป -12% ภายในวันเดียว

คิดเล่นๆ ว่าจากหุ้นมูลค่า 1 ล้านบาทที่คุณมีอยู่เมื่อเช้า ตอนนี้เหลือมูลค่าเพียง 700,000 บาทแล้ว

ตัวเลขนี้อาจจะฟังดูไม่ร้ายแรง แต่มันคือจุดเริ่มต้นของวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของโลก

และทำให้ผู้คนตั้งชื่อมันว่า Black Tuesday วันอังคารแห่งความมืดมิด..

 

ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นเกือบ 10 ปี ก่อนที่จะตกอย่างรุนแรง

 

1. ความฟุ้งเฟ้อ ที่นำไปสู่วิกฤติครั้งใหญ่..

ย้อนกลับไปในตอนที่แล้ว สงครามโลกครั้งที่ 1 จบลงในปี 1918 ซึ่งมันก็สร้างความบอบช้ำให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาไม่น้อย

ประเทศนี้ต้องใช้เวลา 3 ปี ถึงจะเริ่มฟื้นฟูและเดินหน้าเศรษฐกิจได้ใหม่อีกครั้ง มันก็คือจุดเริ่มต้นของความรุ่งเรืองครั้งใหม่

ประชาชนชาวอเมริกัน เริ่มนิยมการซื้อของแบบ “เงินกู้” ซื้อก่อน ผ่อนทีหลัง นั่นทำให้เกิดปริมาณการบริโภคที่สูงขึ้นในทุกด้าน

ทั้งที่อยู่อาศัย รถยนต์ เงิน อาหาร ความสะดวกสบาย ประชาชนล้วนต้องการทุกอย่างเพิ่มมากขึ้น

ในยุคสมัยนั้นไม่มีใครเข้าใจความหมายของคำว่า “ผ่อนเกินกำลัง”

ถ้าเรามีเงินเดือน 20,000 บาท การจะต้องผ่อนค่าใช้จ่ายต่างๆ เดือนละ 20,000 บาท ก็ไม่เห็นผิดอะไร เพราะมันไม่ได้เกินกว่าเงินเดือนของเรานี่!?

โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ กลับมาเปิดอีกครั้ง มีการจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อมาตอบสนองความต้องการสินค้าของภาคประชาชนที่สูงขึ้น

 

ความรุ่งเรืองครั้งนี้ แสดงออกมาผ่านทางตลาดหุ้นของสหรัฐฯ ได้อย่างชัดเจน

ตั้งแต่ปี 1921 จนถึง 1929 ดัชนีดาวน์โจนส์เพิ่มขึ้นจาก 63 จุด ไปจำจุดสูงสุดที่ 381 จุด

เป็นการเพิ่มขึ้นของดัชนีตลาดหุ้น 6 เท่า ภายในเวลาเพียง 8 ปี นั่นคือเรื่องที่มหัศจรรย์มาก

แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง นั่นก็คือ “ฟองสบู่” ก้อนโตที่กำลังรอวันระเบิด…

 

ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ และมีสิ่งอำนวยความสะดวก คือชีวิตที่ดีของชาวอเมริกันในยุค 1920

 

2. วันอังคารอันแสนเศร้า

ไม่ใช่เพียงบ้านหรือรถ ที่ผู้คนนิยมซื้อด้วยการกู้ แต่รวมไปถึง “หุ้น” ด้วยเช่นกัน

ระบบ Margin ได้รับความนิยมอย่างมาก แทนที่เราจะซื้อหุ้นด้วยเงินทั้งหมดที่มี ผู้คนสามารถใช้เงินเพียง 10% เพื่อครอบครองหุ้น

พอหุ้นขึ้นก็ขาย ได้กำไร นำมาจ่ายดอกเบี้ยให้กับโบรกเกอร์ แล้วก็หมุนไปซื้อหุ้นตัวอื่นๆ ต่อไป เพราะยังไงตลาดหุ้นมันก็ไม่ปรับตัวลงหรอก มันขึ้นมาตั้งหลายปีแล้วนี่

(คุ้นๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ของบ้านเรารึเปล่าครับ!?)

วันพฤหัสที่ 24 ตุลาคม 1929 ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง 11% หลายคนขาดทุนและต้องออกจากตลาดไป ขณะที่หลายคนยังมองว่ามันเป็นการปรับตัวลดลงปกติ

วันหยุดเสาร์อาทิตย์ ในช่วงสุดสัปดาห์นั้น นักเล่นหุ้นทั้งหลายต่างติดตามข่าวด้วยความกังวลว่า ตลาดหุ้นจะแย่ไปกว่านี้หรือไม่!?

จนกระทั่งเปิดตลาดวันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม 1929 ดัชนีดาวโจน์ปรับตัวลดลงไปอีก 13% ตอนนี้คนแพนิครีบเทขายตามไปเพื่อเอาตัวรอดมีมากยิ่งขึ้น

เมื่อวันอังคารที่มืดมิดมาถึง ตลาดหุ้นยังปรับตัวลดลงไป 12% ภายในวันเดียว ฟองสบู่ที่สะสมอัดอั้นมานานหลายปี ก็แตกออก

 

ภาพของ “ห้องค้าหุ้น” ในช่วงกลางปี 1929 ก่อนเกิดวิกฤติ

 

และนั่นคือการระเบิดครั้งใหญ่ ที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปทุกสถาบันการเงิน ซึ่งจะสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้…

– ช่วงตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น ทั้งธนาคารและโบรกเกอร์ต่างปล่อยให้ลูกค้าหยิบยืมเงินไปเล่นหุ้น โดยไม่มีการตรวจสอบคัดกรองอย่างเข้มงวด

– เมื่อตลาดหุ้นตกอย่างรวดเร็ว คนก็ถูกบังคับให้ขายหุ้น เสียเงินตรงนั้นไม่พอ ยังต้องกลายเป็นหนี้ หาเงินมาชำระคืนอีก

– พอหาเงินคืนไม่ได้ ก็เกิดการเบี้ยวหนี้ กลายเป็นหนี้เสียจำนวนมหาศาล กระทบมาถึงสถาบันการเงินที่เป็นคนปล่อยกู้ในทีแรก

– มีข่าวลือว่าธนาคารขาดสภาพคล่อง พอเกิดข่าวแบบนี้ คนก็แห่มาถอนเงินที่ตัวเองฝากไว้ เพราะกลัวว่าจะไม่ได้เงินคืน ซึ่งนั่นยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้วิกฤติเลวร้ายลงกว่าเดิม

– พอธนาคารโดนแห่ตอนเงินออก ก็กลายเป็นว่าขาดสภาพคล่องจริงๆ ทำให้เฉพาะในปี 1930 นั้น มีธนาคารกว่า 800 แห่งล้มละลาย

ซ้ำร้ายไปอีกก็คือ ในช่วง 10 ปีหลังจากนั้น มีธนาคารทั้งเล็กและใหญ่ที่ล้มละลายไปถึง 9,000 แห่ง

 

ภาพผู้คนแห่มาถอนเงิน เพราะกลัวว่าธนาคารจะล้ม

 

3. ผลกระทบจาก The Great Depression

การที่ธนาคารล้มลงไปนั้น ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคเศรษฐกิจของประเทศในทันที

– ผู้คนสูญเสียเงินฝากอย่างน้อย 200 ล้านเหรียญ ซึ่งถ้าคิดตามอัตราเงินเฟ้อ ในยุคนี้จะเท่ากับเงิน 3,700 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 120,000 ล้านบาท ที่หายวับไปในอากาศ!!

– คนไม่กล้าใช้เงิน ไม่มีการจับจ่ายใช้สอย ส่งผลให้สินค้าขายไม่ได้เหมือนเคย ภาคการผลิตต้องเลิกจ้าง โรงงานทยอยปิดตัวลง

– ในช่วงเวลา 4 ปี ตั้งแต่ 1929-1932 รายได้ประชาชาติของชาวอเมริกัน ลดลงจากปีละ 850 เหรียญ เหลือเพียง 450 เหรียญ

(พูดง่ายๆ ว่ารายได้เฉลี่ยของประชากรทั้งประเทศลดลงไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งแม้แต่ประเทศไทยก็ยังไม่เคยเผชิญภาวะแบบนี้มาก่อน)

– ช่วงเวลาเดียวกับข้อด้านบน ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนติดลบ 4 ปีติดต่อกัน 17%, -34%, -53% และ 23% ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และก็ยังไม่เคยเกิดขึ้นอีกมาจนถึงปัจจุบัน

– จากประชากร 120 ล้านคน มีคนว่างงานถึง 20 ล้านคน ซึ่งสูงถึง 16% ของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มคนผิวสี ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งไม่สามารถหางานทำได้ กลายเป็นปัญหาทางสังคมตามมา

– ไม่ใช่เฉพาะในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ชาวอเมริกันเองก็เป็นลูกค้ารายใหญ่ของชาติยุโรป เมื่อคนอเมริกันบริโภคน้อยลง ผลผลิตและสินค้าในยุโรปก็ไม่มีที่ระบาย เกิดปัญหาสินค้าราคาตกต่ำ และนำไปสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในยุโรปตามมา

– โดยเฉพาะในเยอรมนี ซึ่งนอกจากจะต้องจ่ายค่าหนี้สงครามแล้ว ยังมีหนี้เงินกู้ทั่วไปอีกด้วย และเมื่อรัฐบาลไม่สามารถจัดการกับปัญหาหนี้สินได้

จึงเป็นการเปิดทางให้เปลี่ยนขั้วอำนาจไปยัง พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน หรือที่รู้จักกันในชื่อพรรคนาซี ซึ่งมี Adolf Hitler เป็นผู้นำในท้ายที่สุด

 

ว่ากันว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในสหรัฐฯ มีส่วนช่วยทางอ้อมให้พรรคนาซีขึ้นมามีอำนาจ

 

4. การฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจ

หลายคนมองว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ค่อยฟื้นตัวขึ้นมาได้ ก็คือการก้าวขึ้นมารับตำแหน่งของประธานาธิบดี Franklin Roosevelt ในปี 1933

Roosevelt มาพร้อมกับนโยบายโปรยเงินลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการต่างๆ ที่มีมากถึง 1 ล้านโครงการทั่วประเทศ

นโยบายโปรยเงินลงไปนี้ มีทั้งการก่อสร้างโครงการใหญ่ การแจกเงินชนชั้นล่าง การเสริมทักษะให้แรงงาน การรับซื้อพืชผลการเกษตร การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าอีกครั้ง

ที่สำคัญก็คือ การปรับโครงสร้างธนาคาร เยียวยาธนาคารขนาดใหญ่ที่มีมาตรฐาน พร้อมกับยุบธนาคารขนาดเล็ก เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้คนเชื่อมั่นใน “ระบบธนาคาร” อีกครั้ง

เมื่อมีความเชื่อมั่น ระบบการเงินก็เริ่มกลับมาทำงานได้ และเศรษฐกิจก็จะเริ่มเดินหน้าได้อีกครั้ง

ซึ่งกระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาถึง 8 ปี กว่าที่เศรษฐกิจสหรัฐจะค่อยๆ ฟื้น จนเริ่มตั้งตัวได้ในปี 1941 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เกิดสงครามครั้งใหม่พอดี

 

Franklin D. Roosevelt ชายผู้โปรยเงินแก้วิกฤติเศรษฐกิจ

 

อันที่จริง แม้จะบอกว่าเศรษฐกิจกำลังเริ่มตั้งตัวได้ แต่ความจริงทางประวัติศาสตร์ ก็ยืนยันอย่างชัดเจนว่า..

กว่า “เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา” กลับมาฟื้นโดยสมบูรณ์อีกครั้ง ก็ต้องรอหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทำให้พญาอินทรีรายนี้ ก้าวมาเป็นมหาอำนาจของโลกอย่างเต็มตัว

เกิดอะไรขึ้นบ้างในวิกฤติสงครามโลกครั้งที่ 2!? และการฟื้นตัวหลังจากนั้นเป็นอย่างไร!?

คอยติดตามอ่านกันได้ในตอนที่สาม ของซีรีส์ “วิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯ 100 ปี” สัปดาห์หน้านะครับ..

 

สำหรับบทความที่อ่านจบไปนี้ เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ “วิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯ 100 ปี” ซึ่งจะเล่าเรื่องราววิกฤติที่น่าสนใจ 7 ครั้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 1900 มาจนถึงยุคปัจจุบัน

ใครที่สนใจ ก็สามารถติดตามอ่านทาง Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน ได้ทุกสัปดาห์นะครับ ซึ่งจะทยอยลงจนครบทั้งหมด 7 ตอน

เพื่อไม่ให้พลาดคอนเทนต์ใหม่ อย่าลืม กด Like 👍 และตั้งค่าติดดาว See First 🌟 ด้วยนะครับ

 

ธนาคารล้มละลาย 9,000 แห่ง เงินฝากประชาชนหายไปนับแสนล้านรายได้ผู้คนลดลงจากเดิมไปครึ่งต่อครึ่ง…

โพสต์โดย Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน 2020

 

 

ติดตาม Billion Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionmindset.ig/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/Billion_Twit

– ติดตามเพจ Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา:

https://www.history.com/topics/great-depression/bank-run

https://livinghistoryfarm.org/farminginthe30s/money_08.html

https://jobs.lovetoknow.com/Unemployment_During_the_Great_Depression

https://www.thebalance.com/black-tuesday-definition-cause-kickoff-to-depression-3305819

https://en.wikipedia.org/wiki/Wall_Street_Crash_of_1929

http://www.satit.up.ac.th/BBC07/AroundTheWorld/hist/40.htm

https://medium.com/@Trader4.0/

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...