Facebook
Twitter
LINE

“ประเทศไทย” คือประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวย แต่กลับเจอปัญหาเดียวกับประเทศที่รวยแล้ว

นี่คือคำนิยามที่สื่อยักษ์ใหญ่อย่างบลูมเบิร์ก มอบให้กับเมืองไทย

ปัญหาที่ว่านั้นก็คือแนวโน้มของ “จำนวนประชากรไทย” กำลังลดลงในอัตราที่น่าใจหาย

ซึ่งเรื่องดังกล่าว มักจะเกิดขึ้นกับประเทศที่พัฒนาแล้ว รายได้เฉลี่ยของผู้คนสูง ยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น ฟินแลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์

แต่ในกรณีของประเทศไทย ที่ได้รับการวิเคราะห์ว่า อัตราการเกิดต่ำ และประชากรรายได้ต่ำ ยิ่งทำให้ปัญหานี้ทวีความรุนแรงไปอีก

เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยกันแน่!? และจะส่งผลอย่างไรในอนาคต เรามาสรุปไปพร้อมๆ กันทีละหัวข้อนะครับ..

 

 

ประชากรไทย รายได้ต่ำจริงหรือ!?

อ้างอิงจากข้อมูลของธนาคารโลก คนไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อคนที่เดือนละ 18,185 บาท เป็นอันดับที่ 77 ของโลกจากทั้งหมด 181 ประเทศ

แต่หากเรามองให้ลึกกว่านั้น จะพบว่า ค่าเฉลี่ยรายได้ของประชากรโลก อยู่ที่เดือนละ 28,240 บาท

หรือพูดง่ายๆ ว่ารายได้ของคนไทยยังน้อยกว่ามาตรฐานของโลกอยู่ราวๆ 35%

ซึ่งถ้าสื่อต่างชาติจะเรียกว่า “ประเทศรายได้น้อย” ก็คงไม่ผิดอะไรนัก

การจะทำให้คนในประเทศมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น นั่นหมายถึง การจะต้องมีแหล่งรายได้เพิ่มเติม มีการผลิต มีการค้าขาย มีการจ้างงาน

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาด “ประชากร” ในการทำงาน

และนั่นทำให้ปัญหาอัตราการเกิดของประชากรไทยที่ต่ำ ดูรุนแรงขึ้นทันที

 

จากข้อมูลที่ผ่านมา นำไปสู่การคาดการณ์ว่าไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว

ประมาณ 10 ปีข้างหน้าหรือปี 2030 นั้นประชากร 1 ใน 4 ของประเทศไทยจะเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป

และพวกเขาเหล่านั้นส่วนใหญ่จะยังเป็นคนยากจน ที่ยังคงต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง หรือไม่ก็ต้องการเงินสนับสนุนจากทางภาครัฐ

 

นอกจากนี้ หากอัตราการเกิดของประชากรยังไม่เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ภายในปี ค.ศ. 2100 นั้น ประชากรไทยจะยิ่งลดฮวบฮาบไปถึง 1 ใน 3 ของปัจจุบัน

พูดง่ายๆ ก็คือตอนนี้มีประชากรไทยประมาณ 69 ล้านคน

อีกประมาณ 80 ปีข้างหน้า คนไทยจะลดลงไป 23 ล้านคน เหลือเพียงราวๆ 49 ล้านคนเท่านั้น

ตัวเลขดังกล่าวแม้จะยังไม่น่ากลัวเท่าประเทศอย่างญี่ปุ่น ที่ถูกคาดการณ์ว่าประชากรจะลดลงไปเกือบครึ่งหนึ่ง

แต่ความน่ากลัวก็คือ.. การเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และสังคมที่ประชากรลดน้อยลงไปนั้น ไทยเรายังถูกมองว่า “ไม่พร้อมรับมือ”

 

อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า “กำลังคน” ถือเป็นกลไกสำคัญในระบบเศรษฐกิจ

แล้วถ้าคนมีจำนวนลดน้อยลงไป เราจะทำอย่างไรให้ระบบการผลิต การค้าขาย และการบริโภคยังคงดำเนินต่อไปได้…??

ลองนึกถึงสิ่งที่กำลังเกิดอยู่ในเมืองไทยขณะนี้ เมื่อขาดคนไทยมาทำงานในหลายๆ กิจการ แล้วธุรกิจต่างๆ พากันแก้ปัญหาอย่างไร!?

หนึ่งในวิธีก็คือ “การนำเข้าแรงงานต่างชาติ” เพื่อมาทำงานทดแทน

 

แล้วถ้าคนยิ่งน้อยลงไปอีก จนไม่มีคนมาทำงานเลยล่ะ!?

มาถึงจุดนี้หลายคนอาจจะได้คำตอบที่คาดเดาไม่ยากว่า..  ก็ต้องใช้เทคโนโลยี เข้ามาทดแทนมนุษย์ที่ขาดหายไป

จึงไม่แปลกใจที่ประเทศพัฒนาแล้ว จะทุ่มความสำคัญไปที่การพัฒนาระบบเครื่องจักร หุ่นยนต์ รวมถึงระบบประมวลผลอัจฉริยะหรือ AI เพื่อมาทำงานแทนมนุษย์

 

แต่!! มันก็จะนำไปสู่ปัญหาอีกข้อหนึ่งก็คือ…

การเปลี่ยนผ่านจากแรงงานมนุษย์ ไปสู่ยุคของเทคโนโลยีและ AI นั้น

สิ่งจำเป็นนอกจากความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีแล้ว เรื่องของ “เงิน” ก็สำคัญไม่แพ้กัน

จะต้องมีการลงทุนมหาศาล ของทั้งภาครัฐ และภาคธุรกิจ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีดำเนินไปอย่างราบลื่น

ทีนี้เราจะลองมาเทียบเล่นๆ ทั้งในด้านขนาดเศรษฐกิจ และรายได้เฉลี่ยของประชากร กับประเทศที่ถูกวิเคราะห์ว่ามีปัญหาประชากรลดลงอย่างฮวบฮาบ ซึ่งได้แก่

 

 

ญี่ปุ่น ขนาดเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลก ประชากรรายได้เฉลี่ย 98,217 บาท/เดือน

อิตาลี ขนาดเศรษฐกิจอันดับ 8 ของโลก ประชากรรายได้เฉลี่ย 99,542 บาท/เดือน

สเปน ขนาดเศรษฐกิจอันดับ 14 ของโลก ประชากรรายได้เฉลี่ย 76,310 บาท/เดือน

จีน ขนาดเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก ประชากรรายได้เฉลี่ย 24,427 บาท/เดือน

และไทย ขนาดเศรษฐกิจอันดับ 25 ของโลก ประชากรรายได้เฉลี่ย 18,185 บาท/เดือน

 

 

ทั้ง 4 ประเทศที่เป็นตัวเต็งในการลดลงของประชากรวัยทำงานนี้ (ไม่รวมไทย) หากเราเทียบในด้านของรายได้แล้วพูดว่าเป็น “ประเทศพัฒนาแล้ว” ก็คงไม่ผิดนัก

อาจจะมีจีน ซึ่งรายได้เฉลี่ยของประชากรยังไม่ถึงค่าเฉลี่ยโลก

แต่ถึงยุคนี้ถ้าจะถามว่าจีน พร้อมกับการรับมือโลกแห่งเทคโนโลยีในอนาคตหรือยัง!?

สิ่งที่พวกเขาแสดงออกมา ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หลายคนคงมั่นใจว่าพวกเขาพร้อมอย่างแน่นอน

 

จนมาถึงกรณีของไทย ที่ถูกวิเคราะห์ว่ากำลัง “ตกที่นั่งลำบาก”

ปัญหาเรื่องรายได้ต่ำ ที่ต้องแก้ไขด้วยการสร้างรายได้เพิ่มให้มากขึ้น

แต่ปัญหาเรื่องประชากรลดลง ก็ยิ่งส่งผลให้การสร้างรายได้ใหม่ๆ นั้น เป็นไปได้ยาก

ครั้นจะแก้ไขด้วยเทคโนโลยี ก็ยังขาดทั้งความรู้และเงินลงทุน

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ดูเหมือนปัญหาที่แก้ไขได้ยาก และมีหลายปมที่ผูกติดกัน จนมองไม่ออกว่าจะต้องแก้ที่ปมไหนก่อน

คุณเองล่ะครับ หลังจากที่ได้อ่านบทความนี้แล้ว ลองคิดกันเล่นๆ ว่า ถ้าตัวเองมีหน้าที่ต้องจัดการกับปัญหานี้

คุณหาทางออกเจอหรือไม่?? คิดว่าควรจะต้องเริ่มจากจุดไหน?? และจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร!?

ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันในคอมเมนต์ได้เลยครับ…

 

 

เรียบเรียง ประณิธิ วงศ์คำจันทร์

ที่มา:

https://www.bloomberg.com/graphics/2019-thailand-baby-bust/

http://data.un.org/Data.aspx?d=PopDiv&f=variableID%3A54

http://statisticstimes.com/economy/projected-world-gdp-capita-ranking.php

https://data.worldbank.org/indicator/ny.gdp.pcap.cd

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(nominal)_per_capita

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(PPP)_per_capita

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...