Facebook
Twitter
LINE

สรุปเทียบภาพรวมเศรษฐกิจไทย ในวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 vs วิกฤติโควิด 2653

 

มีคนให้คำเปรียบเปรยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนทำให้ต้องปิดสถานที่ ปิดร้านค้า งดเดินทางท่องเที่ยว จะทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก และรุนแรงไม่แพ้วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540

บทความนี้จึงอยากจะขอทำภาพเปรียบเทียบภาพรวมของทั้งเศรษฐกิจไทย และตลาดหลักทรัพย์ของไทย เพื่อให้เห็นภาพรวมคร่าวๆ นะครับ

 

เริ่มจากการเปรียบเทียบด้าน GDP จะพบว่าขนาดเศรษฐกิจของไทยนั้น โตขึ้นจากเมื่อยี่สิบปีก่อนประมาณ 3 เท่า!!

ในขณะที่รายได้เฉลี่ยของคนในประเทศ ก็เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 3 เท่า สอดคล้องกันไปด้วยเช่นเดียวกัน

 

ตัวเลขอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ “การเติบโตทางเศรษฐกิจ”

ก่อนหน้าวิกฤติต้มยำกุ้ง ต้องเรียกว่าประเทศไทยนั้นเติบโตสูงจนน่าตกใจ ในระดับเกือบ 10% ต่อปีติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี

คำพูดที่ว่า “เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย” นั้นอาจจะไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด หากเรามองย้อนกลับไปถึงการเติบโตในตอนนั้น

ขณะที่ในปัจจุบัน การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยอยู่ราวๆ 3.6% ต่อปีในช่วง 10 ปีหลัง

 

มองไปที่ตลาดหุ้น สิ่งนี้คือเครื่องย้ำเตือนได้ชัดว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 นั้นเลวร้ายเพียงใด

ดัชนี้ของตลาดหุ้นไทย พุ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดในเดือนมกราคม 2537 ที่ประมาณ 1,789 จุด ก่อนที่หลังวิกฤตินั้นจะลดลงมาเหลือเพียงประมาณ 210 จุด

เป็นการเสียหายไปเกือบ 90% ภายในเวลาเพียง 3 ปี

หรือพูดง่ายๆ ก็คือเอาเงินไปลงทุน 1 ล้านบาท ผ่านไปไม่นาน เงินของคุณจะเหลือแค่ 100,000 บาทเท่านั้น

 

สำหรับวิกฤติโควิดรอบนี้ ก่อนหน้านั้นในปี 2561 ตลาดหุ้นไทยก็ได้ทำลายสถิติเดิมขึ้นไปทำสถิติที่ 1852 จุด

เพียงแต่เรายังไม่มีคำตอบว่าตอนนี้หุ้นตกลงมาแล้วทำจุดต่ำสุดไปที่ประมาณ 970 จุดนั้น เป็นจุดต่ำสุดหรือยัง หรือยังจะสามารถลงไปได้มากกว่านี้อีกในอนาคต

 

แต่ที่น่าสนใจก็คือ แม้ขนาดเศรษฐกิจเราจะโตขึ้นเพียง 3 เท่า แต่มูลค่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นรวมกัน นั้นเติบโตขึ้นไปเกือบ 7 เท่า!!

สิ่งนี้อาจจะเป็นการแสดงถึงความร่ำรวยของบริษัทในตลาดหุ้น ที่มากขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดเจน

 

อย่างไรก็ตาม วิกฤติต้มยำกุ้ง และวิกฤติโควิด ก็ไม่ได้เหมือนกันสักทีเดียว…

เทียบง่ายๆ ก็คือถ้ามองจากในประเทศ วิกฤติในปี 2540 นั้นเกิดจากการล้มลงของระดับบน แล้วก็ส่งผลกระทบต่อไปยังส่วนอื่นๆ ในประเทศ

แต่วิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้จะต่างกันไป เพราะเกิดจากการขัดสนของคนระดับล่าง ที่ไม่มีเงินมาจับจ่ายใช้สอยได้มากเช่นเดิมแล้ว

ขณะที่มองในภาพรวมทั่วโลก แม้ต้มยำกุ้งจะวิกฤติหนักในไทยและเอเชีย แต่ทางฝั่งตะวันตก กลับไม่ค่อยสะเทือนอะไรมากนัก

ในขณะที่โควิดนั้น เป็นวิกฤติที่ส่งผลกระทบไปยังธุรกิจและเศรษฐกิจทั่วโลก ทั้งประเทศแถบเอเชีย ยุโรป หรือยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ก็นิ่งสนิทไปตามๆ กัน

เพราะฉะนั้น เป็นไปได้ว่าเราจะเห็นได้จากเศรษฐกิจที่ดู “ซึมๆ” เป็นระยะเวลานาน ไม่ได้เป็นการล้มครืนลงทีเดียวแบบตอนประกาศลอยตัวค่าเงินบาทแต่อย่างใด

 

สุดท้ายแล้ว ผมเองมองว่าในปัจจุบันทั้งภาครัฐ ธุรกิจสถาบันการเงิน และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ จะมีความมั่นคงแข็งแรงมาก รวมถึงตัวเลข GDP ในช่วงหลังที่ยังเติบโตขึ้นทุกปี

แต่เมื่อมองลงไปลึกๆ จะพบว่าสัดส่วนของความเหลื่อมล้ำ (คนรวยจำนวนน้อยถือครองทรัพย์สินมากกว่าคนจน) กลับมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น

เพราะฉะนั้นในวิกฤติโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ กลุ่มเจ้าของธุรกิจเล็กๆ ชนชั้นกลาง ไปจนถึงผู้มีรายได้น้อย นั้นถือเป็นกลุ่มสำคัญ ที่ทางภาครัฐอาจจะต้องเร่งหาวิธีช่วยเหลือเพื่อให้ผ่านวิกฤติรอบนี้ไปได้

เพราะคนกลุ่มนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมา หลังจากโรคระบาดจบลงไปแล้ว

ถ้ากลุ่มนี้กลับมามีรายได้เร็ว มาใช้จ่ายได้เร็ว มาช่วยให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้เร็ว เราก็น่าจะเห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีในปี 2564 เป็นต้นไป

แต่หากเขาเหล่านั้นเป็นผู้บอบช้ำอย่างหนักในรอบนี้ ไม่แน่ว่าเราอาจจะเห็นเศรษฐกิจไทย “ซึมๆ” ไปอีกนานพอสมควรก็เป็นได้…

คิดอย่างไรกันบ้างครับ!?

 

สรุปเทียบภาพรวมเศรษฐกิจไทย ในวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 vs วิกฤติโควิด 2653มีคนให้คำเปรียบเปรยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19…

โพสต์โดย Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน เมื่อ วันจันทร์ที่ 6 เมษายน 2020

 

 

ติดตาม Billion Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionmindset.ig/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/Billion_Twit

– ติดตามเพจ Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...