Facebook
Twitter
LINE

ประเด็นเรื่องธนาคารแห่งประเทศไทย มีตัวเลขหนี้สินอย่างน้อย 6 ล้านล้านบาท ถูกแชร์ต่อและพูดถึงอย่างร้อนแรงบนโลกออนไลน์

นำมาสู่ความเข้าใจผิดว่า หนี้ของแบงก์ชาตินั้น จะกลายเป็นหนี้ของประเทศ ที่คนไทยผู้เสียภาษีจะต้องแบกรับกันในอนาคต

ข่าวดีก็คือ.. ประเทศไทยไม่ได้มีหนี้สิน 6 ล้านล้านบาท ให้คุณต้องมาแบกรับ อย่างที่กำลังเข้าใจผิด

แต่.. ประเทศไทยกำลังมีหนี้สาธารณะประมาณ 7.1 ล้านล้านบาท ต่างหากล่ะ!?

เชื่อว่าหลายคน อาจจะงงกับตัวเลขและข่าวที่ออกมาอยู่ไม่น้อย เรามาทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันครับ..

อธิบายหนี้สินของแบงค์ชาติ ให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น..

สำหรับคนทั่วไป สินทรัพย์ก็คือการประเมินค่าของที่เรามีอยู่

ส่วนหนี้สิน ก็คือเงินที่เราหยิบยืมมา แล้วจะต้องจ่ายคืนให้กับเจ้าหนี้ ตรงนี้เข้าใจง่ายๆ ไม่ซับซ้อน

 

แต่สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น สินทรัพย์และหนี้สิน จะต่างออกไปเล็กน้อย

สินทรัพย์ของแบงค์ชาติ จะประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่..

– เงินสำรองระหว่างประเทศ

– สินทรัพย์อื่นๆ เช่น ทองคำ เงินที่ให้กู้ พันธบัตร

 

ส่วนหนี้สิน ก็จะประกอบไปด้วยหลายส่วน ยกตัวอย่างเช่น..

– พันธบัตร

– เงินรับฝากของรัฐบาล

– เงินรับฝากของธนาคารในประเทศ

– ธนบัตร

 

อ่าว.. มาถึงตรงนี้ “ธนบัตร” หรือเงินที่เราใช้จ่ายในประเทศ ก็นับเป็นหนี้สินด้วยเหรอ!?

นั่นก็เพราะเมื่อธนาคารกลางพิมพ์เงินออกมา ก็มีหน้าที่จะต้องรักษาระดับสินทรัพย์ เช่น ทองคำ เพื่อหนุนหลังเงินธนบัตรเหล่านั้น

ถ้าไม่มีสินทรัพย์มาหนุนหลัง เงินก็จะไร้ค่า กลายเป็นเพียงกระดาษแผ่นหนึ่ง

เพราะฉะนั้นการพิมพ์เงิน ก็ทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้น แต่ในทางเดียวกัน สินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

 

สุดท้าย.. ถ้าดูจากงบรวม เราจะพบว่าสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย อยู่ที่ประมาณ 8.6 ล้านล้านบาท

เช่นเดียวกับหนี้สินรวม ก็อยู่ที่ประมาณ 8.6 ล้านล้านบาท เช่นกัน

นั่นเพราะหน้าที่ของแบงค์ชาติ ก็คือการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจในประเทศ ให้ดำเนินไปได้อย่างเป็นปกติ ไม่ได้มีหน้าที่แสวงหาผลกำไร

เพราะฉะนั้นในทางสากลแล้ว แต่ละประเทศจะไม่นับหนี้สินของ “ธนาคารกลาง” เป็น “หนี้สาธารณะ” ของประเทศนั้นๆ

โดยเฉพาะหนี้จำนวนกว่า 6 ล้านล้านบาทในข่าว ก็ไม่ใช่ตัวเลขหนี้สาธารณะของไทยแต่อย่างใด..

 

อ่าว.. แล้วแบบนี้ “หนี้สาธารณะของประเทศไทย” มันคืออะไรล่ะ!?

หนี้สาธารณะ พูดง่ายๆ ก็คือหนี้ที่รัฐบาลไปกู้ยืมมา หรือกระทั่งหนี้ของหน่วยงานรัฐ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้คำประกันให้

ปัจจุบันประเทศไทยมีหนี้สาธารณะประมาณ 7.1 ล้านล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็น..

– หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงจากในประเทศ 5 ล้านล้านบาท

– หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงจากต่างประเทศ 88,000 ล้านบาท

– หนี้ชดเชยความเสียหายแก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 748,000 ล้านบาท

– หนี้รัฐวิสาหกิจ ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท

 

ซึ่งถ้าถามว่า ตัวเลขหนี้ 7.1 ล้านล้านบาท นี้มากเกินไปหรือไม่!?

ในกรณีของคนปกติ การจะมองว่ามีหนี้เยอะเกินตัวหรือไม่ ก็ต้องย้อนกลับมามองที่รายได้ของคนนั้น ว่าสร้างรายได้มากแค่ไหน

สำหรับกรณีของหนี้สาธารณะ ก็จะนำหนี้สินไปเทียบสัดส่วนกับ GDP ของประเทศนั้นๆ

ข้อมูลล่าสุดระบุว่า หนี้สาธารณะของไทย ยังเป็นสัดส่วนประมาณ 43% ของ GDP

ซึ่งหากรวมกับหนี้ก้อนใหม่ ที่กำลังจะกู้จากวิกฤติโควิด-19 ก็ยังคงอยู่ในนโยบายที่กำหนดไว้ ว่าไม่เกิน 60% ของ GDP

 

แล้วประเทศอื่นๆ เป็นหนี้กันมากแค่ไหน!?

หลายคนอาจจะไม่เชื่อว่าประเทศอย่าง ญี่ปุ่น จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีหนี้สาธารณะเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในโลก

ญี่ปุ่น มีหนี้สาธารณะประมาณ 360 ล้านล้านบาท คิดเป็น 236% ของ GDP

กรีซ มีหนี้สาธารณะประมาณ 12 ล้านล้านบาท คิดเป็น 181% ของ GDP

หรืออย่าง สหรัฐฯ มีหนี้สาธารณะประมาณ 680 ล้านล้านบาท คิดเป็น 107% ของ GDP

ซึ่งถ้าเรามองรายชื่อของประเทศที่มีสัดส่วนหนี้มากกว่า GDP นั้น ก็มีทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงประเทศกำลังพัฒนา ติดเข้ามาปะปนกันไป

ไม่ว่าจะเป็น อิตาลี โปรตุเกส สิงคโปร์ สเปน เยเมน เลบานอน แกมเบีย หรือกระทั่งซูดาน

 

ซึ่งทำให้เราได้ข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า สถานะทางการเงินของประเทศนั้น จะเอาตัวเลขหรือเปอร์เซ็นต์ของหนี้สาธาระมาวัดเพียงอย่างเดียวไม่ได้

แต่ก็มีปัจจัยอย่างอื่นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น..

ทั้งความสามารถในการหารายได้เข้าประเทศ การบริหารของรัฐบาล หรือความแข็งแกร่งของธุรกิจเอกชนภายในประเทศ

หวังว่าบทความนี้ จะช่วยให้ทุกคนเข้าใจความแตกต่างของหนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย และหนี้สาธารณะ

รวมถึงเข้าใจสถานะทางการเงินของทั้งไทย และประเทศอื่นๆ ทั่วโลกได้มากยิ่งขึ้นครับ..

 

ประเด็นเรื่องธนาคารแห่งประเทศไทย มีตัวเลขหนี้สินอย่างน้อย 6 ล้านล้านบาท…

โพสต์โดย Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน เมื่อ วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน 2020

 

 

ติดตาม Billion Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionmindset.ig/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/Billion_Twit

– ติดตามเพจ Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา:

www.pdmo.go.th/th/public-debt/debt-outstanding

www.pdmo.go.th/th/faq-debt

www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/Activities/Pages/PRNews12Jun2020.aspx

www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/BOTWEBSTAT.aspx?reportID=11&language=TH

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_public_debt

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...