Facebook
Twitter
LINE

ย้อนกลับไปตอนต้นปี 2021 เงินบาทนั้นมีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ระดับ 29.xx หรือเกือบๆ 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์

ตอนนี้เงินต้องใช้เงิน 33 บาท เพื่อแลกกับเงิน 1 ดอลลาร์ หรือพูดง่ายๆ กว่าเงินบาทอ่อนค่าไปแล้วมากกว่า 10% ภายในไม่ถึงปี ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่น่าจับตามองไม่น้อย

เพราะว่าครั้งล่าสุดที่เงินบาทไทยอ่อนค่าอยู่ในระดับนี้ ก็คือในปี 2018 หรือต้องย้อนกลับไปราวๆ 3 ปีก่อนเลยทีเดียว

สำหรับสาเหตุที่เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี ถึงแม้เราจะไม่สามารถอธิบายได้อย่างถูกต้อง 100% แต่เท่าที่รวบรวมและพอจะสรุปได้คร่าวๆ มีดังนี้…

 

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ที่ล่าช้ากว่าที่คิด

ย้อนกลับไปในปี 2020 ทั้งหน่วยงานของไทยอย่างแบงค์ชาติ หรือ IMF ก็เคยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยที่เจอปัญหาหนักในปีที่แล้ว จะฟื้นตัวได้ดีระดับ +4.0-5.0% ในปีนี้

นั่นเป็นเพราะนโยบายการล็อกดาวน์อย่างจริงจังและปิดประเทศ ยอมเสียหายทางเศรษฐกิจ เพื่อรักษาชีวิตผู้คนจนมีตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยมากในตอนนั้น

แต่ทางเลือกดังกล่าว ก็เป็นการได้อย่างเสียอย่าง และต้องแลกกับการที่ GDP ติดลบไป -6.0% เป็นอย่างน้อย

อย่างไรก็ตาม อย่างที่เรารู้กันว่าตอนนี้วิกฤติโควิด-19 เกิดการระบาดตามมาอีกหลายระลอก จากที่คิดว่าจะสามารถฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ในปีนี้ กลับต้องมาเผชิญกับปัญหาเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า

จนกระทรวงการคลังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตเพียง +1.3% เท่านั้น

 

เงินลงทุนจากต่างชาติ ไหลออกจากไทยอย่างต่อเนื่อง

เงินลงทุนของต่างชาตินั้นส่งผลต่อค่าเงินของไทย และยังส่งผลต่อการขึ้นลงของตลาดหุ้นไทยอย่างชัดเจนด้วยเช่นกัน

ทราบกันหรือไม่ว่าในปี 2021 นี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออกต่อเนื่องถึง 7 เดือนติดต่อกัน รวมเป็นมูลค่าขายมากกว่าซื้อถึง 100,000 ล้านบาท

ซึ่งเหตุผลนั้นจะเป็นเพราะการโยกย้ายเงินทุนไปตลาดที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า ย้ายเงินกลับไปยังตลาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ หรือไม่เชื่อมั่นในอนาคตของธุรกิจไทย ก็เป็นไปได้เช่นกัน

 

เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังฟื้นตัวอย่างชัดเจน

อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญก็คือ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ประเทศที่มี GDP สูงอันดับหนึ่งของโลก กำลังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจน

จากทั้งการจัดการโควิด-19 จนสามารถเปิดประเทศได้ จากทั้งเงินอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายประธานาธิบดีคนใหม่ รวมไปถึงตลาดหุ้นที่กำลังร้อนแรง

เหตุผลดังกล่าวรวมๆ กัน ช่วยดูดเม็ดเงินจากตลาดเกิดใหม่ทั้งหลาย โดยเฉพาะกลุ่มตลาดหุ้นเล็กๆ ในเอเชีย ให้โยกย้ายกลับไปยังสหรัฐมากยิ่งขึ้น

พอความต้องการถือเงินดอลลาร์สูงมากขึ้น ก็ยิ่งกดดันให้สกุลเงินอื่น โดยเฉพาะเงินบาทไทยที่กำลังเผชิญปัญหาอยู่แล้วปรับตัวตามไปด้วย

 

ถึงเงินบาทอ่อน จะมีข้อดี แต่ก็ยังมีปัญหาให้ขบคิด…!!

ข้อดีที่พอจะเห็นอยู่ของการที่เงินบาทอ่อนค่า ก็คือรายได้จากการส่งออกของไทย ซึ่งปีล่าสุดอยู่ที่ประมาณเกือบ 8 ล้านล้านบาท

ถ้านับเฉพาะต้นปี 2021 เป็นต้นมา เงินบาทปรับตัวจาก 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ มาเป็น 33 บาทแล้ว

หากค่าเงินโดยเฉลี่ยอ่อนค่าลง 10% เท่ากับว่ารายได้ในส่วนนี้จะเข้าไทยมากขึ้นถึง 800,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยดีขึ้น

นอกจากนี้ รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เคยทำได้ปีละเกือบ 2 ล้านล้านบาทนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะได้ประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่าลง

แต่ก็ต้องอย่าลืมว่า การท่องเที่ยวนั้นก็จะทำได้เมื่อสามารถจัดการปัญหาโรคระบาด เปิดเมืองอย่างเต็มที่ และเรียกความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวโดยเร็ว

ซึ่งก็น่าเสียดายตรงที่ว่า ไทยอาจจะไม่สามารถไปถึงจุดนั้นได้ภายในปี 2021 นี้ด้วยเช่นกัน…

 

อ้างอิง:

www.imf.org/external/datamapper/index.php

https://th.investing.com/currencies/usd-thb-chart

www2.ops3.moc.go.th/

www.prachachat.net/finance/news-732514

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...