Facebook
Twitter
LINE

เมื่อ 350 ปีก่อน สวีเดนเป็นชาติแรกของยุโรปที่ใช้เงินกระดาษ

ปัจจุบัน พวกเขากำลังจะเป็นชาติแรกของโลกที่ “เลิกใช้ธนบัตร”

ร้านค้าทั่วไป ต่างก็ขึ้นป้ายว่า “ไม่รับเงินสด” กันเพียบ

แม้กระทั่งธนาคารบางสาขา ก็ถึงขั้นไม่รับเงินสดด้วยอีก เอากับเขาสิ!!

 

 

พวกเขาทำได้อย่างไรกันนะ??

แนวคิดสังคมไร้เงินสด เริ่มต้นตั้งแต่ 8 ปีก่อน

พวกเขารู้ว่านั่นจะนำมาซึ่งข้อดี เมื่อเงินเปลี่ยนจากกระดาษ มาเป็นเงินอิเล็กทรอกนิกส์ที่เป็นตัวเลขอยู่ในระบบ

นอกจากประชาชนทุกคนจะได้ใช้จ่ายสะดวกขึ้น ไม่ต้องนับ ไม่ต้องรอทอนให้เสียเวลา

เงินอิเล็กทรอนิกส์ยังตรวจสอบได้ มีที่มาที่ไป มีเส้นทางการเงินที่ชัดเจน

ไม่เหมือนเงินกระดาษซึ่งมักจะถูกใช้ในการทุจริต จ่ายสินบน รวมถึงการค้าขายของผิดกฎหมายด้วย

 

ในปี 2010 รัฐบาลและธนาคารใหญ่ 6 แห่งในประเทศ เริ่มดำเนินนโยบายเพื่อให้คนหันมาใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น

ถัดมาปี 2011 รัฐบาลออกแอพพลิเคชั่นทางการที่ชื่อว่า Swish Payment เพื่อใช้เป็นสื่อหลักในการรับและจ่ายเงิน

ร้านค้าต่างๆ เห็นถึงความสะดวก ก็เริ่มนำระบบนี้มาใช้ ผู้คนก็ติดใจเพราะสะดวกกว่าเดิม

กระทั่งปี 2012 (ผ่านไปแค่ 2 ปีเท่านั้น) ธนาคารเองปรับตัวอย่างชัดเจน

ธนาคารกว่า 500 สาขา ก็ปรับระบบให้กลายเป็นธนาคารที่ไม่ใช้เงินสดเช่นกัน

มีการถอดตู้ ATM มาถึง 900 แห่ง เพราะคนไม่ต้องกดเงินแล้ว

ตู้เซฟที่เคยใช้เก็บเงิน ก็ถูกปรับเป็นออฟฟิศสำนักงานแทน รวมถึงให้ธุรกิจอื่นๆ มาเช่าพื้นที่ในธนาคารที่ว่างลงด้วย

 

กระทั่งปัจจุบัน ในปี 2018 การจ่ายเงินด้วยโทรศัพท์มือถือ กลายเป็นเรื่องที่พบเห็นได้อย่างชินตา

ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ขึ้นลงรถโดยสาร แผงขายของริมถนน หรือเงินบริจาคก็รับกันผ่านแอพแล้ว

ขณะที่การจับจ่ายใช้สอยด้วยเงินสด ลดลงเหลือเพียง 1.7%

ประมาณว่าซื้อของกัน 100 ครั้ง คุณมีโอกาสเห็นการจ่ายด้วยเงินสดแค่ 1 ครั้งเท่านั้น!!

 

รัฐบาลเคยตั้งเป้าว่าจะทำให้ประเทศสวีเดน กลายเป็นสังคมไร้เงินสดภายในปี 2030

แต่ปัจจุบัน พวกเขาคิดว่าแค่ปี 2023 ประเทศก็จะกลายเป็นสังคมไร้เงินสดได้ 100% แล้ว

 

ป้ายไม่รับเงินสด ที่ติดอยู่หน้าร้านกาแฟ

 

ข้อเสียของการเปลี่ยนเป็นสังคมไร้เงินสด??

ในช่วงต้นนั้น ผมได้ยกตัวอย่างข้อดีในเรื่องของการปราบปรามเงินนอกระบบ การทุจริต และการก่อการร้าย

แต่การทำให้เป็นสังคมไร้เงินสด รัฐบาลก็พบว่ามีข้อเสียเล็กๆ อยู่ 2 อย่างด้วยกัน

 

อย่างแรกคือความไม่สะดวกของคนที่ไม่คุ้นเคยกับโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะผู้สูงอายุตามชนบท

แรกๆ พวกเขาเดือดร้อน และมีปัญหากับการต้องใช้แอพในการจ่ายเงินเป็นอย่างมาก

แต่รัฐบาลก็ไม่ทอดทิ้ง จัดโครงการให้ความรู้แก่คนเหล่านั้น

จนพวกเขาค่อยๆ ปรับตัวเข้ากับชีวิตที่ไร้เงินสดได้มากขึ้น

 

ข้อเสียอีกอย่างก็คือ แม้จะไม่มีการปล้นธนาคาร หรือปล้นเอาเงินจากร้านค้า

แต่อาชญากรบนโลกไซเบอร์กลับเพิ่มขึ้น มีตัวเลขการพยายามเจาะระบบของธนาคารที่มากกว่าเดิม

แม้เรื่องนั้นจะไม่ค่อยน่ากังวล เพราะธนาคารเองก็เสริมระบบความปลอดภัยด้วยทีมงานมืออาชีพ

ปัญหาความปลอดภัยตกไปอยู่กับผู้ใช้ ทั้งการถูกโจมตีคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน

รัฐบาลก็ประสานกับธนาคาร ให้ความรู้ด้านความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์กับผู้ใช้เพื่อระวังตัวมากยิ่งขึ้น

 

ถ้าคุณคิดว่าการจ่ายเงินผ่านสมาร์ทโฟนได้ทุกแห่งนั้นน่าทึ่งแล้ว

ตอนนี้มีเรื่องน่าทึ่งและดูล้ำไปอีกขั้น…

คนสวีเดนประมาณ 4,000 คน ได้รับการทดลองติดตั้งชิปข้อมูล ซึ่งทำจากวัสดุที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายเอาไว้ในข้อมือ

ชิปดังกล่าวมีข้อมูลที่ระบุตัวตน ข้อมูลส่วนตัว รวมถึงข้อมูลด้านการเงิน

เท่ากับว่า มีชิปนี้ก็ใช้แทนบัตรประชาชน แทนใบขับขี่ แทนบัตรเครดิตได้

หรือเรียกว่า “ไม่จำเป็นต้องพกกระเป๋าสตางค์อีกแล้ว”

เมื่อไปติดต่อราชการ คุณก็ให้สแกนข้อมือเพื่อระบุตัวตน

ขึ้นรถไฟ ก็สแกนข้อมือเพื่อจ่ายเงิน

หรือตอนไปฟิตเนส ก็สแกนชิปดังกล่าว ซึ่งใช้แทนบัตรสมาชิกของฟิตเนสได้

แม้การฝังชิปจะยังอยู่ในขั้นทดลอง แต่มันอาจจะถูกใช้อย่างแพร่หลายในอนาคตอันใกล้นี้ก็เป็นได้…

 

เราได้เรียนรู้อะไรจากสวีเดน??

เราได้เห็นการวางแผนงานของหน่วยงานภาครัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อ “สังคมไร้เงินสด”

จากนั้นก็เห็นความร่วมมือของรัฐ ธนาคาร และธุรกิจรายย่อย เพื่อค่อยๆ ปรับสังคมใช้ธนบัตร ให้ไร้เงินสดได้อย่างแท้จริง

จนกระทั่งปัจจุบัน เมื่อสังคมไร้เงินสด กำลังจะสำเร็จเร็วกว่าที่คิด

พวกเขาก็คิดว่าจะพัฒนาต่อไปอย่างไรได้บ้าง หาทางพัฒนาต่อแบบไม่หยุดอยู่กับที่

นั่นก็คือที่มาของการทดลองฝังชิปนั่นเอง

 

ย้อนมาที่ “ประเทศไทย” เราก็ตั้งเป้าที่จะมุ่งสู่สังคมไร้เงินสดเช่นกัน

การประสบความสำเร็จของประเทศสวีเดน จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

คุณเองล่ะครับ คิดว่าประเทศไทยของเราพร้อมที่จะก้าวสู่ “สังคมไร้เงินสด” แล้วหรือยัง…

คิดว่าถ้าใช้ในไทยแบบเต็มที่มันจะมีข้อดี มีข้อเสียอะไรบ้าง?? แล้วสุดท้ายเราจะทำได้สำเร็จหรือไม่??

ลองมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้เลยครับ…

 

 

ที่มา:

www.credit-suisse.com/corporate/en/articles/news-and-expertise/sweden-we-dont-accept-cash-201503.html

www.theatlantic.com/technology/archive/2018/09/how-i-learned-to-stop-worrying-and-love-the-microchip/570946/

www.posttoday.com/world/565098

www.thairath.co.th/content/536808

www.citi.io/2016/03/04/in-sweden-a-cash-free-future-nears/

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...