Facebook
Twitter
LINE

สรุปไทม์ไลน์ SpaceX ธุรกิจอวกาศมูลค่า 1 ล้านล้าน จากเด็กที่ฝันอยากไปดาวอังคาร…

 

สรุปไทม์ไลน์ SpaceX ธุรกิจอวกาศมูลค่า 1 ล้านล้าน ของเด็กที่ฝันอยากไปดาวอังคาร…ข้อมูลน่าสนใจ เราสรุปมาให้คร่าวๆ…

โพสต์โดย Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน เมื่อ วันอังคารที่ 2 มิถุนายน 2020

 

 

หลายคนคงได้เห็นข่าว การปล่อยจรวดของ SpaceX กลายเป็นประเด็นที่สื่อให้ความสนใจ ถึงความสำเร็จครั้งสำคัญนี้

แต่ทราบกันหรือไม่ว่า กว่าที่ SpaceX นั้นจะกลายมาเป็นธุรกิจที่มีรายได้ดี ประสบความสำเร็จแบบทุกวันนี้

ที่จริงแล้วมีเรื่องราวที่น่าสนใจซ่อนอยู่มากกว่ามากกว่าที่เราคิด…

ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลที่ Elon Musk ก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา!?

หรือความจริงที่ว่า SpaceX เคยขาดทุนยับ จนเจ้าของเกือบปล่อยให้ล้มละลายแล้ว!?

เราจะพาคุณย้อนกลับไปรู้จักบริษัทจรวดรายนี้ให้มากขึ้นกันสักหน่อยครับ..

 

การปล่อยจรวด Falcon เมื่อปี 2018

 

คนบ้าอวกาศ ที่อยากไปดาวอังคาร

เรื่องราวของบริษัท SpaceX เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 2000 หลังจากที่พ่อหนุ่ม Elon Musk ขายธุรกิจจ่ายเงินออนไลน์ที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ PayPal

ซึ่งทำให้เขาได้เงินเข้ากระเป๋ามาประมาณ 5,200 ล้านบาท

หลายคนอาจจะเลือกเกษียณตัวเอง แล้วใช้เงินก้อนนี้กินๆ นอนๆ ไปได้ตลอดชีวิต…

แต่พ่อหนุ่ม Elon กลับมีความฝันตั้งแต่เด็กว่า สักวันเขาจะต้องไปพิชิตดาวอังคาร และสร้างชุมชนมนุษย์อยู่บนนั้นให้ได้

ความฝันนี้มันเป็นอะไรที่ดูเกินตัวมากๆ ในยุคเมื่อ 20 ปีที่แล้ว..

แถมข้อจำกัดสำคัญก็คือ “งบประมาณ”

 

แผนของ Elon ในตอนนั้นคือ เขาจะซื้อจรวดขีปนาวุธจากรัสเซียมาดัดแปลง เพื่อจะได้ราคาถูกกว่าการจ้างบริษัทสหรัฐฯ

ซึ่งการจ้างธุรกิจอเมริกัน อาจจะต้องใช้เงินถึง 950 ล้านบาท

แต่เขาก็ต้องพบว่าตัวเองคิดอะไรตื้นเกินไป..

เพราะจากที่คิดว่าจะจ่ายเพียง 120 ล้านบาท แต่รัสเซียกลับตั้งราคาจรวดขีปนาวุธไว้สูงถึง 250 ล้านบาท

 

ดังนั้นในระหว่างที่กลับจากเมืองมอสโก พ่อหนุ่ม Elon จึงได้คิดแผนบ้าระห่ำชิ้นใหม่ขึ้นมาได้ว่า…

“ถ้าการซื้อจรวดมันแพงนัก เราก็ทำมันขึ้นมาเองเสียเลยสิ!!”

และนั่นก็เป็นต้นกำเนิดของบริษัทอย่าง SpaceX

 

เส้นทางและขวากหนาม

Elon Musk เริ่มต้นแผนการของเขาด้วยการหาหนังสือเกี่ยวกับขีปนาวุธในช่วงสงครามเย็นมาอ่าน

พร้อมกับนั้น ก็ออกล่าตัวพนักงานของบริษัทใหม่ทันที โดยมีเด็กจบใหม่ที่ทำงานกับ Boeing และ Lockheed Martin บริษัทด้านการบินและอวกาศ เป็นเป้าหมายหลัก

พวกเขาสร้างจรวดขึ้นใหม่ด้วยตัวเองตั้งแต่ เครื่องยนต์ ตัวจรวด หรือรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างชุดวงจร

 

เขารวบรวมคนได้ในช่วงกลางปี 2001 และตั้งเป้าว่าภายใน 18 เดือน จะต้องสร้างจรวดลำใหม่ให้สำเร็จภายในปี 2003

จากคนปกติที่ทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตอนนั้นพนักงาน SpaceX ก็แทบจะต้องทำงานกันสัปดาห์ละ 60 ชั่วโมง

แต่.. มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และเส้นตายนั้นก็เป็นไปไม่ได้

กว่าที่จรวดจะสำเร็จจริงๆ มันก็ในปี 2006 เลย

 

ถึงจะช้ากว่าที่คิด แต่หลังจากเวลาและความยากลำบากผ่านไป พวกเขาก็สร้างจรวด Falcon 1 ขึ้นมาได้สำเร็จ

แล้วจรวดอันแสนภาคภูมิใจของเขา ก็สามารถบินได้ถึง 41 วินาที…

ก่อนที่จะตกมากระแทกพื้น (โถ่วววววววว!!)

 

ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทำให้ Elon ต้องใช้เงินกับโครงการ SpaceX มากกว่าที่เขาคิดไว้

แถมในเวลานั้น เจ้าตัวได้ไปลงทุนใน Tesla ตั้งแต่ปี 2003 อีกหนึ่งบริษัท ก็ยังไม่สามารถผลิตรถออกมาจำหน่ายได้อย่างจริงๆ จังๆ สักเท่าไร

ในเวลานั้น การเหยียบเรือสองแคมของเขา กำลังทำให้ทั้งสองบริษัทอยู่ในภาวะขาดทุนไปเรื่อยๆ

 

ขาดทุนเท่านั้นยังไม่พอ.. เพราะการปล่อยยาน Falcon 1 ครั้งที่สอง ในปี 2007 และครั้งที่สามในปี 2008 ยังจบลงด้วยความล้มเหลว

ทำให้ชะตาของบริษัท ถูกเดิมพันไว้กับการปล่อยจรวดครั้งสุดท้าย ในเดือนกันยายน 2008

 

ปาฏิหาริย์ในวันคริสต์มาส…

ตอนนี้เหมือนกับโชคชะตาจะอยู่ข้าง Elon บ้างแล้ว เพราะการปล่อยยาน Falcon 1 ในครั้งที่สี่นั้น สามารถส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ

SpaceX กลายเป็นบริษัทเอกชนรายแรกที่ปล่อยยานขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ ลบคำครหาที่ว่าบริษัทปล่อยจรวดล้มเหลวไปได้หนึ่งข้อ

 

การปล่อยจรวด Falcon 1 ในครั้งที่สี่

 

แต่อย่างไรก็ตาม งบของบริษัทก็ลดลงเรื่อยๆ จากรายได้ที่ยังไม่มีเข้ามามากพอ

แถมในปี 2008 ก็เกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นมาพอดี จนกระทั่ง Elon Musk ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเสียทั้ง SpaceX และ Tesla ไปอีก

ตอนนั้น เขาเหลือเงินที่จะพอช่วยเหลือบริษัทเดียว ให้รอดจากการล้มละลาย

เพราะฉะนั้นเขาจึงต้องวิ่งหาเงินช่วยเหลือจากคอนเนคชั่นในทุกๆ ทาง

 

ล่วงเลยเข้าสู่เดือนธันวาคม ปี 2008 ยังคงไม่มีอะไรคืบหน้า

การเจรจาของยัง Tesla ไม่สำเร็จดี แถม SpaceX ก็ยังขาดรายได้ ถ้าปล่อยให้ขึ้นปีใหม่ ถึงตอนนั้นบริษัทคงต้องทำเรื่องเข้ากระบวนการล้มละลาย

Elon ต้องเลือกช่วยหนึ่งบริษัท ระหว่างรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังไม่วางขายได้จริงๆ กับบริษัทจรวด ที่ก็ยังมองไม่เห็นอนาคต

จนกระทั่งมาถึงช่วงคริสต์มาส นั่นอาจจะเรียกว่าเป็นจุดพลิกผันอีกจุดในชีวิตเขา

เขาได้รับการติดต่อจากทางนาซ่ามาเพื่อบอกว่า นาซ่าจะขอร่วมงานกับ SpaceX อย่างเต็มตัว

โดยพวกเขาจะว่าจ้างให้ SpaceX รับงานส่งเสบียงไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ด้วยสัญญาจ้างกว่า 50,000 ล้านบาท

ซึ่งแน่นอนว่า Elon รับมันไว้ด้วยรอยยิ้ม

ในวันถัดมา Daimler ค่ายรถยักษ์ใหญ่จากเยอรมนี (บริษัทแม่ของ Mercedes-Benz) ก็ตัดสินใจลงทุนซื้อหุ้นของบริษัท Tesla เพิ่มไปอีกด้วย

เหตุการณ์ในตอนนั้น ทำให้ทั้ง 2 ธุรกิจ มีเงินเข้ามาพอประคับประคองให้อยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้…

 

ปาฏิหาริย์ในวันคริสต์มาส ทำให้ SpaceX ที่ครั้งหนึ่งเกือบต้องล้มละลาย กลายเป็นบริษัทเอกชนผู้นำด้านอวกาศอีกรายหนึ่ง

โดยมีผลงานต่างๆ ตามมาตั้งแต่นั้น ได้แก่…

ในปี 2008 เป็นบริษัทเอกชนรายแรกที่รายแรกที่ปล่อยยานขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ

ในปี 2012 บริษัทเอกชนรายแรก ที่ส่งยานอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ

ในปี 2017 เป็นบริษัทเอกชนรายแรก ที่สำเร็จในการใช้จรวดแบบนำกลับมาใช้ใหม่ได้

ในปี 2018 เป็นบริษัทเอกชนรายแรก ที่ส่งยานอวกาศขึ้นสู่วงโคจรรอบดวงอาทิตย์

และล่าสุดในปี 2020 นี้เอง พวกเขาก็ได้เป็นบริษัทเอกชนรายแรก ที่นำนักบินขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติได้สำเร็จ

 

การปล่อยจรวด Falcon 9 ในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 2020

 

จากการระดมทุนรอบล่าสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการประเมินเอาไว้ว่า SpaceX มีมูลค่าสูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งนั่นเป็นมูลค่าที่พอๆ กับบริษัทใหญ่ที่สุดในไทยอย่าง ปตท.

ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดนี้ ก็อาจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ถ้า 20 ปีก่อน ชายคนหนึ่งเอาเงิน 5,000 ล้าน ไปใช้เสวยสุขให้สบายไปตลอดชีวิต

แต่เขากลับมีความฝัน ที่คนอาจจะมองว่า “บ้า” อย่างการสร้างจรวดไปในอวกาศด้วยตัวเอง

และวันนี้ เขาก็พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าคนบ้าคนนั้น สามารถทำมันให้สำเร็จได้จริงๆ…!!

 

 

ติดตาม Billion Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionmindset.ig/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/Billion_Twit

– ติดตามเพจ Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...