Facebook
Twitter
LINE

ย้อนกลับไปในช่วงปลายยุค 1960 คนเกาหลีใต้และคนไทย มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนพอๆ กันที่ 440 บาท

จนกระทั่งในปัจจุบัน…

ประชากรชาวเกาหลีใต้มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 81,000 บาท

ขณะที่คนไทยมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 17,000 บาท

ต่างกันเกือบ 5 เท่า!!

จากประเทศซึ่งถูกแบ่งแยกเป็นเหนือ-ใต้หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ประเทศที่พึ่งพาผลผลิตทางการเกษตรเป็นหลัก

ถูกจัดว่ายากจนมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออก

กลายมาเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาระดับชั้นนำของเอเชียได้สำเร็จ

พวกเขาทำได้อย่างไร??

 

 

1. วางรากฐานการศึกษา พัฒนาทักษะแรงงาน

แต่เดิมแล้วคนทั่วไปในชนบท ก็จะทำการเกษตรเลี้ยงตัวเองตามมีตามเกิด

แม้จะใช้แรงงานเยอะ ใช้เวลาและทรัพยากรสูง แต่ผลผลิตที่ได้กลับไม่ได้สูงตามไปด้วย

ในยุค 1950 เกาหลีใต้จึงวางแผนจะเปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรม ไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมตามเทรนด์ประเทศพัฒนาอื่นๆ

แต่การจะทำแบบนั้น ต้องทำให้คนในประเทศมีการศึกษาเสียก่อน

พอคนมีความรู้ ก็มาทำงานในระบบ ผลิตสินค้าออกสู่ตลาดภายในประเทศได้

แถมตั้งตัวเองเป็นฐานการผลิตให้ต่างชาติ เพราะแรงงานเกาหลียุคนั้นก็ค่าจ้างไม่ได้แพงแต่อย่างใด

ภาคอุตสาหกรรมยังช่วยทำให้ทรัพยากรที่มีจำกัด สามารถเกิดเป็นผลผลิตที่มีมูลค่ามากขึ้นกว่าเดิม

นำไปสู่การแปรรูปและส่งออกสินค้าเกษตรที่มากขึ้น เป็นผลพลอยได้ที่ภาคเกษตรกรรมได้รับผลดีตามไปด้วย

 

เกาหลีใต้ในครั้งอดีต

 

2. พัฒนาการค้าขายกับต่างประเทศ

ภายในช่วงปี 1970 การเติบโตของยอดการส่งออกขยับขึ้นจาก 18% เป็น 35%

การส่งออกโตขึ้นเกือบ 2 เท่า!!

 

ซึ่งการพัฒนาด้านการค้าระหว่างประเทศ ยิ่งเห็นผลอย่างมากในช่วงหลัง

โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 1995 ซึ่งเกาหลีใต้พึ่งพาการส่งออก 25% ของจีดีพี

ขยับขึ้นมาเป็น 56% ของจีดีพีในปี 2012

เท่ากับว่าเกินกว่าครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ เป็นรายได้จากการส่งออกแทบทั้งสิ้น

ซึ่งมูลค่าการส่งออกยุคปัจจุบันจะไม่สามารถสูงได้ขนาดนี้ หากขาดเหตุผลในข้อถัดไป

นั่นก็คือ…

 

3. ส่งเสริมงานวิจัย และสร้างภายในประเทศให้แข็งแกร่ง

ในยุค 1960 เกิดการเติบโตของธุรกิจ “แชโบล” ซึ่งใช้เรียกกลุ่มธุรกิจใหญ่ยักษ์ของเกาหลีใต้ เช่น ซัมซุง ฮุนได

นอกจากจะมีอิทธิพลต่อคนในประเทศ ยังมีอิทธิพลต่อด้านการเมือง และอำนาจในหลายทาง

แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มบริษัทเหล่านี้ มีส่วนช่วยขับเคลื่อนประเทศเกาหลีใต้ด้วยเช่นกัน

 

ทางด้านรัฐบาลเกาหลีใต้ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ทุ่มงบให้การวิจัยสูงมากตั้งแต่อดีต

ควบคู่กับการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ จากนั้นใช้วิธีศึกษา(ลอกเลียน) เทคโนโลยีเหล่านั้น

จนเปลี่ยนจากประเทศนำเข้า กลายเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าทางด้านเทคโนโลยีได้เอง

ไม่ว่าจะเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์โรงงาน รถยนต์ ชิ้นส่วนเรือ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ หรือกระทั่งโทรศัพท์มือถือ

 

ปัจจุบัน ประเทศเกาหลีใต้มีสัดส่วนเงินลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็น 4% ของจีดีพีเลยทีเดียว

 

ภายในโรงงานฮุนได

 

4. ต่อยอดเทคโนโลยีสู่โลกอนาคต

ภาคอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำมาหลายสิบปี กำลังสั่นสะเทือนจากการเติบโตของ “จีน”

มีการวิเคราะห์ว่าจีนนั้นใช้โมเดลเดียวกับเกาหลีใต้ นั่นคือการรับจ้างผลิต วิจัยและพัฒนา จนสามารถสร้างแบรนด์ได้เอง

แต่จีนมีทรัพยากรมากกว่า กำลังคนมากกว่า ที่สำคัญคือจีนเป็นลูกค้าใหญ่ของเกาหลีเช่นกัน

ถ้าจีนทำได้เอง เลิกนำเข้าจากเกาหลีใต้ รายได้ของเกาหลีก็หดหายแน่ๆ

 

ทางแก้ปัญหาของเกาหลีใต้ จึงดำเนินไปใน 2 ทาง

ทั้งการส่งเสริมวัฒนธรรม ขายความเป็นเกาหลีออกไปยังชาวโลกตั้งแต่หลังปี 2000 เป็นต้นมา

ปรับประเทศให้พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการมากยิ่งขึ้น ซึ่งดูเหมือนจะได้ผลพอสมควร

 

อีกด้านก็คือ พัฒนาไปทางด้านอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีอย่างมากในช่วงหลังจากปี 2010

ด้วยการสร้างศูนย์กลางไอทีภายในประเทศ สร้างเมืองอัจฉริยะเป็นต้นแบบ ก่อนที่จะกระจายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป

เพื่อหวังจะเป็นอีกหนึ่งผู้นำในยุคอนาคต ที่ระบบ AI และหุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนเรา

 

 

ย้อนกลับมามองประเทศไทย

เกาหลีใต้และไทย ค่อนข้างมีความคล้ายคลึงกันในฐานะประเทศเกษตรกรรมเมื่อ 40-50 ปีก่อน

และหลังจากนั้น ก็เป็นประเทศที่พึ่งพาภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการรับจ้างผลิตเช่นกัน

แต่สิ่งที่จะต่างไปอย่างเห็นได้ชัดก็คือ “การศึกษาวิจัย” มาต่อยอดกับบริษัทในประเทศ

เปลี่ยนจากผู้รับจ้าง กลายเป็นผู้ผลิต สร้าง “แบรนด์” ของตัวเอง แล้วส่งออกไปแทน

ทุกวันนี้เกาหลีใต้มีแบรนด์ทีวีแอลจี รถยนต์ฮุนได หรือสมาร์ทโฟนซัมซุง ไปตีตลาดในต่างแดนหลายๆ ประเทศ

 

สายเกินไปไหมที่ไทยจะเริ่มพัฒนาแบรนด์ของตนเอง??

ในวันที่ประเทศอย่างเกาหลีใต้กำลังเปลี่ยนจากอุตสาหกรรม ไปสู่ประเทศนวัตกรรม

เราควรเดินตามแนวทางที่เกาหลีใต้ทำไว้เมื่อ 30-40 ปีก่อนหรือไม่??

หรือเราควรจะเดินหน้าไปอีกทาง พัฒนาไทยสู่ประเทศนวัตกรรมและด้านไอที

พร้อมกับนำนวัตกรรมเหล่านั้น มาส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศให้เกิดการพัฒนาไปพร้อมๆ กัน

 

คงเป็นคำถามที่ไทยต้องนำมาขบคิดอย่างหนัก… แล้วคุณเองล่ะครับ คิดว่าเราควรจะพัฒนาไปในทิศทางไหนดี??

 

 

ที่มา:

www.stlouisfed.org/on-the-economy/2018/march/how-south-korea-economy-develop-quickly

www.dw.com/en/why-innovation-is-king-in-south-korea/a-19038625

https://kellogg.nd.edu

https://data.worldbank.org/indicator/NV.AGR.TOTL.ZS?locations=KR-TH

https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.PCAP.CD?end=2017&locations=KR-TH&start=1960&view=chart

www.worldatlas.com/articles/the-top-20-exports-of-south-korea.html

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...