Facebook
Twitter
LINE

ย้อนกลับไปในช่วงปลายยุค 1960 คนเกาหลีใต้และคนไทย มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนพอๆ กันที่ 440 บาท

จนกระทั่งในปัจจุบัน…

ประชากรชาวเกาหลีใต้มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 84,000 บาท

ขณะที่คนไทยมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 20,000 บาท

ถ้ามองโดยผิวเผิน ตัดเรื่องการกระจายรายได้ ความเหลื่อมล้ำ หรือปัจจัยอื่นๆ ตัวเลขนี้ก็ห่างกัน 4 เท่า!!

จากประเทศซึ่งถูกแบ่งแยกเป็นเหนือ-ใต้หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

จากประเทศที่พึ่งพาผลผลิตทางการเกษตรเป็นหลัก

จากประเทศถูกจัดว่ายากจนมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออก

กลายมาเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาระดับชั้นนำของเอเชียได้สำเร็จ… พวกเขาทำได้อย่างไร??

 

 

1. พัฒนาทักษะแรงงาน จากประเทศเพาะปลูก สู่อุตสาหกรรม

แต่เดิมแล้วคนทั่วไปในชนบท ก็จะทำการเกษตรเลี้ยงตัวเองตามมีตามเกิด

การเกษตรแม้จะเป็นพื้นฐานเดิมของประเทศ และทุกชีวิตต้องกินอาหาร

แต่ข้อเสียสำคัญก็คือ.. เกษตรกรรมในยุคนั้นใช้แรงงานเยอะ แรงงานคุณภาพต่ำ ใช้เวลาและทรัพยากรสูง แต่ผลผลิตที่ได้กลับไม่ได้สูงตามไปด้วย

ในยุค 1950 เกาหลีใต้จึงวางแผนจะเปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรม ไปสู่ประเทศอุตสาหกรรม ตามเทรนด์ประเทศพัฒนาอื่นๆ

แต่การจะทำแบบนั้น ต้องทำให้คนในประเทศมีการศึกษาเสียก่อน

พอคนมีความรู้ ก็มาทำงานในระบบ ผลิตสินค้าออกสู่ตลาดภายในประเทศได้

และเนื่องจากแรงงานเกาหลีในยุคนั้น ไม่ได้มีค่าจ้างที่สูงนักเมื่อเทียบกับประเทศเอเชีย ที่มีความพร้อมทางพื้นฐานใกล้เคียงกัน (ยกตัวอย่างไทย)

เกาหลีใต้เลยเป็นอีกหนึ่งฐานการผลิตที่น่าสนใจสำหรับบริษัทต่างชาติ ให้มาลงทุนตั้งโรงงาน

ภาคอุตสาหกรรมนั้นยังช่วยทำให้ทรัพยากรที่มีจำกัด สามารถเกิดเป็นผลผลิตที่มีมูลค่ามากขึ้นกว่าเดิม

ซึ่งลองคิดเล่นๆ ว่าข้อดีจะตกไปตรงไหนอีก..!?

ความรู้ด้านอุตสาหกรรม จะได้ประโยชน์กับภาคการเกษตร นำไปสู่การแปรรูปและส่งออกสินค้าเกษตรที่มากขึ้น ส่งผลให้อีกฝั่งหนึ่งเติบโตตามไปด้วย

 

เกาหลีใต้ในครั้งอดีต

 

2. พัฒนาการค้าขายกับต่างประเทศ

ภายในช่วงปี 1970 การเติบโตของยอดการส่งออกขยับขึ้นจาก 18% เป็น 35%

พูดง่ายๆ ว่า ในช่วง 10 ปีหลังจากการปรับเปลี่ยนนโยบายประเทศตอนนั้น การส่งออกโตขึ้นเกือบ 2 เท่า!!

 

ซึ่งการพัฒนาด้านการค้าระหว่างประเทศ ยิ่งเห็นผลอย่างมากในช่วงหลัง เมื่อบริษัทเกาหลีใต้สามารถเติบโตสร้างแบรนด์ได้อย่างแข็งแกร่ง

โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 1995 ซึ่งเกาหลีใต้พึ่งพาการส่งออก 25% ของจีดีพี

ขยับขึ้นมาเป็น 56% ของจีดีพีในปี 2012 เท่ากับว่าเกินกว่าครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ เป็นรายได้จากการส่งออกแล้ว

ซึ่งมูลค่าการส่งออกยุคปัจจุบัน จะไม่สามารถสูงได้ขนาดนี้ หากขาดเหตุผลในข้อถัดไป

นั่นก็คือ…

 

3. ส่งเสริมงานวิจัย และสร้างภายในประเทศให้แข็งแกร่ง

ในยุค 1960 เกิดการเติบโตของธุรกิจ “แชโบล” ซึ่งใช้เรียกกลุ่มธุรกิจใหญ่ยักษ์ของเกาหลีใต้ เช่น Samsung Hyundai

นอกจากจะมีอิทธิพลต่อคนในประเทศ ยังมีอิทธิพลต่อด้านการเมือง และอำนาจในหลายทาง

จนถึงขั้นบางครั้งยังมีข้อถกเถียงในทางลบว่า กลุ่มธุรกิจนี้ผูกขาด และมีอำนาจแทรกแซงภาครัฐมากเกินไปในบางครั้ง

แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มบริษัทเหล่านี้ มีส่วนช่วยขับเคลื่อนประเทศเกาหลีใต้ด้วยเช่นกัน

 

ทางด้านรัฐบาลเกาหลีใต้ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ทุ่มงบให้การวิจัยสูงมากตั้งแต่อดีต

ควบคู่กับการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ จากนั้นใช้วิธีศึกษา(ลอกเลียน) เทคโนโลยีเหล่านั้น

จนเปลี่ยนจากประเทศนำเข้า กลายเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าทางด้านเทคโนโลยีได้เอง

ไม่ว่าจะเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์โรงงาน รถยนต์ ชิ้นส่วนเรือ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ หรือกระทั่งโทรศัพท์มือถือ

 

ปัจจุบัน ประเทศเกาหลีใต้มีสัดส่วนเงินลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็น 4% ของจีดีพี เลยทีเดียว

 

ภายในโรงงานฮุนได

 

4. ต่อยอดเทคโนโลยีสู่โลกอนาคต

ภาคอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำมาหลายสิบปี กำลังสั่นสะเทือนจากการเติบโตของ “จีน”

มีการวิเคราะห์ว่าจีนนั้นใช้โมเดลเดียวกับเกาหลีใต้ นั่นคือการรับจ้างผลิต วิจัยและพัฒนา จนในปัจจุบัน จีนสามารถสร้างแบรนด์ได้เอง

แต่จีนมีทรัพยากรมากกว่า กำลังคนมากกว่า ที่สำคัญคือจีนเป็นลูกค้าใหญ่ของเกาหลีเช่นกัน

ถ้าจีนทำได้เองทุกอย่าง จนเลิกนำเข้าจากเกาหลีใต้ รายได้ของเกาหลีก็หดหายแน่ๆ

 

ทางแก้ปัญหาของเกาหลีใต้ จึงดำเนินไปใน 2 ทาง

ด้านแรก คือการส่งเสริมวัฒนธรรม ขายความเป็นเกาหลีออกไปยังชาวโลกตั้งแต่หลังปี 2000 เป็นต้นมา ให้แบรนด์ของเกาหลีใต้ติดตลาดมากยิ่งขึ้น

เพราะหากสินค้ามีประสิทธิภาพพอๆ กัน สินค้าที่แบรนด์ดีกว่า ย่อมได้รับผลตอบรับมากกว่า

 

อีกด้านก็คือ พัฒนาไปทางด้านอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีอย่างมากในช่วงหลังจากปี 2010

ด้วยการสร้างศูนย์กลางไอทีภายในประเทศ สร้างเมืองอัจฉริยะเป็นต้นแบบ ก่อนที่จะกระจายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป

ด้านนี้ พวกเขาหวังจะเป็นอีกหนึ่งผู้นำในยุคอนาคต ที่พึ่งพาระบบเครือข่ายพื้นฐาน 5G ซึ่งระบบ AI และหุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนเรา

 

ย้อนกลับมามองประเทศไทย

เกาหลีใต้และไทย ค่อนข้างมีความคล้ายคลึงกันในฐานะประเทศเกษตรกรรมเมื่อ 40-50 ปีก่อน

และหลังจากนั้น ทั้งสองชาติก็เป็นประเทศที่พึ่งพาภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการรับจ้างผลิตเช่นกัน

แต่สิ่งที่จะต่างไปอย่างเห็นได้ชัดก็คือ “การศึกษาวิจัย” มาต่อยอดกับบริษัทในประเทศ

การเปลี่ยนจากผู้รับจ้าง กลายเป็นผู้ผลิต สร้าง “แบรนด์” ของตัวเอง แล้วส่งออกไปแทน

ทุกวันนี้เกาหลีใต้มีแบรนด์ทีวี LG รถยนต์ Hyundai หรือสมาร์ทโฟน Samsung ไปตีตลาดในต่างแดนหลายๆ ประเทศ

 

ในยุค 2020 นี้ ยังสายเกินไปไหม ที่ไทยจะเริ่มพัฒนาแบรนด์ของตนเอง??

เพราะในยุคนี้ ประเทศอย่างเกาหลีใต้กำลังเปลี่ยนจากอุตสาหกรรม ไปสู่ประเทศนวัตกรรม

เกิดเป็นคำถามที่ว่า เราควรเดินตามแนวทางที่เกาหลีใต้ทำไว้เมื่อ 30-40 ปีก่อนหรือไม่??

หรือเราควรจะเดินหน้าไปอีกทาง พัฒนาไทยสู่ประเทศนวัตกรรมและด้านไอที เพื่อแข่งกันอีกด้านไปเลย

พร้อมกับนำนวัตกรรมเหล่านั้น มาส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออก ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศในตอนนี้

คำถามดังกล่าว คงเป็นการตัดสินใจสำคัญทั้งของภาครัฐและบริษัทเอกชน ที่ไทยต้องนำมาขบคิดอย่างหนัก…

แล้วคุณเองล่ะครับ คิดว่าเราควรจะพัฒนาไปในทิศทางไหนดี??

 

 

 

ที่มา:

www.stlouisfed.org/on-the-economy/2018/march/how-south-korea-economy-develop-quickly

www.dw.com/en/why-innovation-is-king-in-south-korea/a-19038625

https://kellogg.nd.edu

https://data.worldbank.org/indicator/NV.AGR.TOTL.ZS?locations=KR-TH

https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.PCAP.CD?end=2017&locations=KR-TH&start=1960&view=chart

www.worldatlas.com/articles/the-top-20-exports-of-south-korea.html

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...