Facebook
Twitter
LINE

คุณเคยคิดรึเปล่าครับ ว่าทำธุรกิจอะไรถึงจะมีรายได้ปีละเป็นพันๆ ล้าน!?

อาจจะต้องเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด?? หรือต้องเป็นสินค้าหายากราคาแพงงั้นหรือ!?

แต่รู้หรือไม่ว่า บางที อาหารใกล้ๆ ตัวเรา อย่างหมูหยอง หมูยอ กุนเชียง นี่แหละ ถ้าใส่ใจและทำธุรกิจให้ดี ก็สร้างยอดขายระดับพันล้านได้ด้วย

เราจะพาคุณไปรู้จักกับเรื่องราวของ ส. ขอนแก่น ธุรกิจที่ทำอาหารธรรมดาๆ ให้ไม่ธรรมดาขึ้นมาได้สำเร็จ..

 

 

ส. ขอนแก่น ที่ไม่ได้มาจากขอนแก่น!??

คุณอาจจะไม่รู้ว่า ส. ขอนแก่น ไม่ได้เป็นบริษัทที่มีต้นกำเนิด จากจังหวัดขอนแก่นหรอกนะ

เรื่องราวนั้นเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2527

เมื่อคุณเจริญ รุจิราโสภณ สังเกตว่าคนกรุงเทพนั้น เวลาไปเที่ยวขอนแก่น ก็ชอบซื้อสินค้าพื้นเมืองอย่าง หมูหยอง หมูยอ กุนเชียง กลับมาฝาก หรือมาขายกัน

ทำให้คุณเจริญ มองเห็นช่องทางการค้า และเกิดไอเดียทำอาหารแปรรูปขาย ด้วยเงินลงทุน 300,000 บาทในตอนนั้น

ซึ่งแบรนด์ “ส. ขอนแก่น” เป็นคำที่ย่อมาจาก “สินค้าจากจังหวัดขอนแก่น” แถมยังให้ความรู้สึกเหมือนของฝากจากขอนแก่นจริงๆ

ในที่สุดผลิตภัณฑ์ของ ส. ขอนแก่น ก็ได้วางตลาดครั้งแรกในปี 2529

 

ก้าวสู่บริษัทระดับประเทศ

ไม่น่าเชื่อว่าเพียงแค่ 8 ปีหลังจากก่อตั้งธุรกิจ ก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างดี

จนกระทั่งในปี 2537 คุณเจริญก็สามารถนำบริษัท ส. ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นไทยได้

บริษัทสามารถผ่านพ้นวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 มาได้

จากนั้นก็ขยายช่องทางตลาด ส่งสินค้าพื้นเมืองของไทย ไปขายทั้งในฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น

รวมถึงการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ ให้ครอบคลุมสินค้าอื่นๆ นอกจากสินค้าเนื้อหมูแปรรูป ไม่ว่าจะเป็น..

เพิ่มสินค้าอย่างอาหารทะเลแปรรูป ลูกชิ้นปลา ตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น

ทำขนมขบเคี้ยวอย่าง “หมูแผ่นกรอบ” มาวางขายในร้านสะดวกซื้อ

ทำอาหารแช่แข็ง ตอบสนองกับไลฟ์สไตล์คนสมัยใหม่ที่ชอบซื้อไปเก็บ แล้วค่อยเอามาอุ่นรับประทาน

รวมถึงการเปิดร้านอาหาร ทั้งร้านส้มตำไก่ย่าง และข้าวขาหมู เพื่อเพิ่มช่องทางการขายไปยังห้างสมัยใหม่

 

Zaap Classic ร้านในเครือ ส.ขอนแก่น
ภาพ: Wongnai

 

ปัญหาทุกอย่าง ไม่ได้มีไว้ให้หนี แต่มีไว้ให้แก้!!

จุดน่าสนใจอย่างหนึ่งของ ส.ขอนแก่น ก็คือความพยายามในการจัดการกับปัญหาที่เข้ามา ตลอดช่วงเวลากว่า 35 ปีที่เปิดกิจการ

ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาราคาวัตถุดิบหลักอย่างเนื้อหมู ถ้าหมูแพงไป ก็จะทำให้รายได้ลดลง ทำให้บริษัทตัดสินใจเปิดฟาร์มหมูขึ้นมาเอง ในปี 2538

ต่อมาในปี 2550 แม้จะส่งสินค้าไปขายในประเทศแถบเอเชียได้แล้ว

แต่กลับเจอปัญหายุโรปไม่รับสินค้าเนื้อหมู ที่ผลิตนอกกลุ่มประเทศ EU

เมื่อเจอข้อกีดกันแบบนี้ แทนที่จะหลีกเลี่ยงไม่ส่งไปขาย บริษัทกลับรุกไปเข้าซื้อโรงงานถึงประเทศโปแลนด์ เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตสินค้า

ถ้าไม่รับสินค้าข้างนอก ก็เจาะเข้าไปผลิตในทวีปเสียเลย แล้วก็ทำให้มีสินค้า “ส. ขอนแก่น” วางขายในยุโรปได้สำเร็จ!!

 

ภาพ: MGROnline

 

บริษัทขายหมู ที่รายได้ปีละเป็นพันล้าน

รายได้ของ บริษัท ส. ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) นั้น จากระดับ 1,500 ล้านบาท เมื่อ 10 ปีก่อน

เพิ่มขึ้นมาเป็นรายได้ 2,864 ล้านบาท และมีกำไร 112 ล้านบาท ในปีล่าสุด

 

โดยรายได้ของบริษัทในปี 2019 แบ่งออกเป็น 6 กลุ่มธุรกิจหลัก ประกอบไปด้วย…

ธุรกิจอาหารพื้นเมือง เช่น หมูยอ กุนเชียง รายได้ 1,219 ล้านบาท สัดส่วน 43%

ธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป (ลูกชิ้นปลา) รายได้ 932 ล้านบาท สัดส่วน 33%

ธุรกิจจำหน่ายสุกร รายได้ 248 ล้านบาท สัดส่วน 8.7%

ธุรกิจอาหารแช่แข็งพร้อมทาน รายได้ 186 ล้านบาท สัดส่วน 6.5%

ธุรกิจร้านอาหาร รายได้ 143 ล้านบาท สัดส่วน 5.0%

ธุรกิจขนมขบเคี้ยวจากหมู รายได้ 107 ล้านบาท สัดส่วน 3.7%

 

จะเห็นได้ว่าสินค้าดั้งเดิมของบริษัท ก็ยังคงได้รับความนิยมจนเป็นรายได้หลักของธุรกิจอยู่

ซึ่ง ส. ขอนแก่น ในปัจจุบันซึ่งมีมูลค่ากิจการประมาณ 1,600 ล้านบาท ก็ยังคงผลิตสินค้า อย่างที่เคยทำมาตั้งแต่ในอดีตเกือบ 40 ปี

และเป็นข้อคิดที่น่าสนใจว่า..

ต่อให้มันดูเป็นของธรรมดาๆ ใกล้ตัว ถ้าเราตั้งใจทำมันให้ดี เราก็สามารถกลายเป็นเศรษฐีพันล้านได้เช่นกัน!!

 

คุณเคยคิดรึเปล่าครับ ว่าทำธุรกิจอะไรถึงจะมีรายได้ปีละเป็นพันๆ ล้าน!?อาจจะต้องเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด??…

โพสต์โดย Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน เมื่อ วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม 2020

 

 

ติดตาม Billion Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionmindset.ig/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/Billion_Twit

– ติดตามเพจ Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา:

www.set.or.th/set/companyprofile.do?symbol=SORKON

www.sorkon.co.th/

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...