Facebook
Twitter
LINE

เคยใช้ผลิตภัณฑ์ของ Skinfood จากเกาหลีกันรึเปล่า??

แต่ตอนนี้แบรนด์ดังกำลังเสี่ยงต่อการล้มละลาย

สถานการณ์บริษัทตอนนี้เป็นยังไง?? แล้วมันเกิดอะไรขึ้น??

เราตามไปอ่านพร้อมๆ กันครับ…

 

เรื่องกลายเป็นข่าวดังเพราะมีเจ้าหนี้ 14 รายยื่นคำฟ้องต่อศาล ขอให้พิทักษ์ทรัพย์บริษัทดังกล่าว

การพิทักษ์ทรัพย์นั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการล้มลาย

เพราะศาลจะจัดให้มีตัวกลางไกล่เกลี่ยหนี้ระหว่าง “ลูกหนี้” และ “เจ้าหนี้”

ถ้าไม่มีเงินพอจ่าย ก็จะต้องแบ่งทรัพย์สินต่างๆ ของบริษัทออกไปขายเพื่อหาเงินมาจ่ายให้แทน

แต่ไปถึงขั้นนั้น ก็เท่ากับว่าบริษัทต้องเลิกกิจการ ปิดตำนานของแบรนด์เครื่องสำอางลงแน่ๆ

 

ทาง Skinfood เลยอยากจะแก้ปัญหาด้วยการ “เจรจาประนอมและปรับโครงสร้างหนี้”

พูดง่ายๆ ก็คือไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้เท่าที่ทำได้ เพื่อให้บริษัทยังมีโอกาสลืมตาอ้าปาก ทำกิจการหาเงินมาเพื่อชำระหนี้ส่วนที่เหลือ

ที่ต้องการแบบนี้ บริษัทให้เหตุผลว่า “ชื่อของ Skinfood นั้นยังขายได้”

พวกเขาเชื่อว่าถ้าบริษัทกลับมามีรายได้ มีกำไร ไม่โดนหักไปจ่ายหนี้เยอะไป จะกลับมายืนได้อีกครั้ง

และตอนนั้นจะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย ทั้งตัวกิจการ และเจ้าหนี้ก็ได้เงินคืนแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

แต่มันจะเป็นแบบนั้นหรือไม่?? ก็ต้องรอการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ในชั้นศาล ว่าจะลุล่วงมากน้อยเพียงใด

 

นำมาสู่คำถามที่ว่า ทำไม Skinfood เดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร…

ทั้งที่เคยเป็นแบรนด์ยอดขายเครื่องสำอางระดับท็อป 3 ของเกาหลีใต้ ในช่วงยุค 2000

แม้จะเปิดตัวมาในปี 2004 แต่แบรนด์ Skinfood ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว

จุดเด่นที่ทำให้บริษัทสร้างยอดขายอย่างเป็นกอบเป็นกำนั่นก็คือ

“การสร้างความแปลกใหม่” ด้วยการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่เป็นของกิน มาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง

เข้ากับกระแสการเติบโตของความต้องการเครื่องสำอางราคาถูก ที่ไม่ใช่ยี่ห้อเจ้าตลาดอยู่แล้ว

และการเติบโตของอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี ส่งผลให้เทรนด์แฟชั่นและความงามแบบเกาหลี เติบโตสูงตามไปด้วย

 

ในปี 2010 มีข้อมูลว่า Skinfood สามารถทำรายได้ 4,704 ล้านบาท ได้กำไรถึง 350 ล้านบาท

เป็นท็อปทรีของเกาหลี รองจาก Missha และ The Face Shop เท่านั้น

 

ตัวอย่างสินค้าของ Skinfood

 

แล้วอะไรคือจุดที่ทำให้ยอดขายตกต่ำลง??

มีการคาดการณ์ถึงสิ่งที่ทำให้บริษัทแย่ลง ทั้งจากตัวบริษัทเองและปัจจัยภายนอก

 

1. ความมั่นใจมากเกินไป นำมาสู่นโยบาย No Sale

นโยบายที่ว่า Skinfood จะไม่ลดราคาสินค้า ถูกนำมาใช้ในปี 2012

ต่อไปนี้บริษัทจะไม่ลดราคาไปแข่งกับเจ้าอื่นๆ ที่ผุดขึ้นมา เพราะถือว่าสินค้าของบริษัทมีคุณภาพมากกว่า

มันน่าจะใช้ได้ผลดี หากลูกค้ายึดติดแบรนด์ และกลับมาซื้อซ้ำแต่ผลิตภัณฑ์ของพวกเขา

แต่… มันกลับไม่เป็นอย่างนั้น

ส่วนหนึ่งที่ลูกค้าซื้อ นอกจากจะซื้อความเป็น Skinfood แล้ว ก็มีปัจจัยด้านราคามาเกี่ยวข้อง

เมื่อมีทางเลือกที่ดีกว่า พวกเขาก็พร้อมเปลี่ยน

ความแข็งแกร่งทางด้านแบรนด์ของพวกเขายังไม่มากพอ

ยอดขายลดลงทันที จากปี 2012 ทำรายได้ 5,200 ล้านบาท มีกำไร 320 ล้านบาท

พอปี 2013 รายได้ลดลงเหลือ 4,800 ล้านบาท ส่วนกำไรหดลงไปอยู่ที่ 87 ล้านบาท

หลังจากนั้นบริษัทกลับมาเริ่มใช้การลดราคาอีกครั้งในปี 2015

แต่ดูเหมือนว่ามันจะไม่ได้ผลมากเหมือนแต่ก่อนเสียแล้ว…

 

2. กลุ่มลูกค้าที่เปลี่ยนไป มีคู่แข่งเยอะกว่าเดิม

ลูกค้าหลักของ Skinfood นอกจากคนเกาหลีใต้ ก็คือชาวต่างชาติในแถบเอเชีย โดยเฉพาะชาวจีน

เมื่อเทรนด์ของคนจีนไปเที่ยวประเทศอื่นมากขึ้นตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา

ทำให้ยอดขายของบริษัทก็หดตัวตามไปด้วย

ซ้ำร้ายกับความสัมพันธ์ทางการเมืองที่แย่ลงของเกาหลีใต้-จีน ในปีล่าสุด

ยิ่งทำให้ลูกค้าลดน้อยลงไปอีก

ยังไม่รวมถึงคู่แข่งที่ผุดใหม่ขึ้นมาหลายเจ้า ขายในสิ่งที่คล้ายกันและทำราคาให้เลือกได้ถูกกว่า

นี่คือจุดที่มาซ้ำเติม Skinfood เข้าไปอีกต่อหนึ่ง

 

ส่งผลให้ในปี 2017 บริษัทมีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมกว่า 28 ล้านบาท

อัตราหนี้สินต่อสินทรัพย์ เพิ่มจาก 2.8 เท่า เป็น 7.8 เท่า

และขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายหนี้กับคู่ค้าได้

 

 

สิ่งเหล่านี้เริ่มชัดเจนตั้งแต่กลางปี…

ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีปัญหาสินค้าขาดตลาดอย่างหนัก

ผู้ค้ารายย่อยที่เปิดร้านในแบรนด์ Skinfood สั่งของจากบริษัทใหญ่ แต่ไม่ได้รับสินค้า

หลายคนกังวลว่าบริษัทขาดเงินไปซื้อของจากซัพพลายเออร์ จนไม่สามารถส่งมาถึงมือของผู้ค้ารายย่อยอีกต่อหนึ่ง

แต่ทางบริษัทก็ให้ความมั่นใจว่าจะแก้ปัญหา และจัดส่งได้อย่างเร็วที่สุด

จนกระทั่งต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็เกิดปัญหาฟ้องร้องอย่างที่เป็นข่าว

 

ย้อนมาดูสถานการณ์ Skinfood ในประเทศไทย

ในไทยนั้น Skinfood นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท มาลาคี จำกัด

ซึ่งหากเราย้อนดูงบกำไรขาดทุนของบริษัทย้อนหลัง จะพบว่า

ปี 2015 ทำรายได้ประมาณ 558 ล้านบาท กำไร 27 ล้านบาท

ปี 2016 ทำรายได้ประมาณ 619 ล้านบาท กำไร 14 ล้านบาท

ปี 2017 ทำรายได้ประมาณ 478 ล้านบาท กำไร -15 ล้านบาท

โดยใน 5 ปีหลังตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา มีเพียงปีล่าสุดเท่านั้น ที่มีผลการดำเนินงานเป็นขาดทุน

 

แล้ว Skinfood จะเป็นอย่างไรต่อไป??

จากคำแถลงของบริษัท ดูเหมือนตั้งใจว่าจะปรับโครงสร้างหนี้ให้เรียบร้อย

เพื่อที่กิจการจะสามารถทำธุรกิจต่อ มุ่งหน้าทำกำไรให้ได้ แล้วค่อยๆ ทยอยจ่ายหนี้ส่วนที่เหลือไป

Skinfood ยังอยากให้ร้านทั้งในเกาหลีและอีกกว่า 19 ประเทศทั่วโลกนั้นสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

เราก็ต้องคอยดูว่าสุดท้ายแล้วประเด็นนี้จะจบลงอย่างไรกัน

 

เชื่อว่าคงมีผู้อ่านคนไทยหลายคน ได้มีประสบการณ์เป็นลูกค้าหรือใช้ผลิตภัณฑ์ของ Skinfood กันไม่มากก็น้อย

ลองเล่าให้ฟังในช่องคอมเม้นต์สิครับว่าคิดเห็นอย่างไรกับตัวสินค้า หรือคิดยังไงกับข่าวนี้บ้างครับ…??

 

 

ติดตาม Billionaire Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionairethai/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/BillionaireThai

– ถ้าเล่นแต่ไลน์ ก็ส่งบทความให้คุณทุกวันที่ @BillionaireMindset

– ติดตามเพจ Billionaire Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา:

www.hoovers.com/company-information/cs/company-profile.skinfood_coltd.6714e1c9d657a0be.html

www.theinvestor.co.kr/view.php?ud=20180704000674

www.forbesthailand.com/news-detail.php?did=2790

lifestyle.campus-star.com/scoop/138877.html

datawarehouse.dbd.go.th/bdw/est/details4.html?jpNo=0105548080732

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...