Facebook
Twitter
LINE

SEARS คือห้างสรรพสินค้าเจ้าใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ที่เปิดมานานถึง 126 ปี

ดูเป็นกิจการที่มั่นคงมากๆ เพราะผ่านวิกฤตมาได้ทุกรูปแบบ

แต่กับโลกออนไลน์ซึ่งมีบทบาทและเปลี่ยนโลกไปในครั้งนี้ ดูเหมือนว่าห้างใหญ่จะปรับตัวไม่ทันเสียแล้ว…

สมมติถ้าคุณซื้อหุ้นของบริษัท Sears Holdings เมื่อราว 3 ปีก่อน

ด้วยเงินทั้งสิ้น 1,000,000 บาท

ผ่านมาถึงปัจจุบัน คุณจะเหลือเงินอยู่เพียง  9,500 บาท ลดลงไป 105 เท่า!!

และนี่คือวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นกับห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งนี้….

 

หลายสาขาเตรียมปิดตัว เพราะไม่สามารถทำกำไรได้

 

Sears Holdings ยื่นขอความคุ้มครองการล้มละลาย ต่อศาลล้มละลายนิวยอร์ก

หลังจากครบกำหนดชำหนี้มูลค่า 4,300 ล้านบาทเมื่อวานนี้

แต่บริษัทไม่สามารถหาเงินมาจ่ายหนี้ก้อนดังกล่าวได้

เพราะตั้งแต่ปี 2011 ผ่านมาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว ห้างสรรพสินค้าแห่งนี้เจอปัญหา “ขาดทุน” มาโดยตลอด!!

เพราะอะไรกัน??

 

1. การเติบโตของอีคอมเมิร์ซในสหรัฐอเมริกา

ตลาดซื้อขายออนไลน์ในสหรัฐอเมริกา เติบโตจนมียอดขายสูงถึง 14 ล้านล้านบาท ในปี 2017 ที่ผ่านมา

เราจะเห็นได้ว่า บริษัทผู้นำในตลาดอย่าง Amazon เติบโตอย่างก้าวกระโดด

มูลค่ากิจการจาก 900,000 ล้านบาท กลายเป็น 27 ล้านล้านบาท ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

 

ในขณะที่เปิดห้างร้านกลับประสบปัญหายอดขายลดลง กำไรลดลง ขาดทุน จนกระทั่งต้องปิดสาขา

รายงานพบว่า ในปี 2017 มีห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกรายใหญ่ 6,400 แห่ง ปิดสาขาในสหรัฐอเมริกา

หนึ่งในนั้นก็คือ Sears ที่ต้องปิดลงถึง 98 สาขา

แต่นั่นก็ยังไม่ทำให้บริษัทก้าวพ้นวิกฤตไปได้ เพราะมันยังมีเรื่องของการทำตัวเองด้วย…

 

Amazon ขายดีจนมีระบบส่งของเป็นของตัวเอง

 

2. ความล้มเหลวจากการดำเนินงานของ Sears เอง

มีการวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ Sears ล้มเหลว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยังใช้ความคิดแบบ 100 ปีที่แล้วอยู่

โดยการเปรียบกับห้างอย่าง Walmart ที่แม้จะมาทีหลัง แต่ก็ปรับตัวกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้ดีกว่า

Walmart เปิดในปี 1962 เริ่มต้นช้ากว่า Sears ไปถึง 70 ปี

 

Walmart ใช้วิธีการเลือกทำเลเปิดร้านให้เข้าถึงคนท้องถิ่นมากที่สุด เอาตัวเองไปอยู่ในจุดที่คนมาซื้อได้ง่าย

ส่วน Sears วางตัวเป็นห้างใหญ่ขนาดใหญ่ โดยการตั้งออกมานอกย่านชุมชน ที่คนต้องตั้งใจมาซื้อของเท่านั้น

 

ปรากฏว่าเมื่อยุคเปลี่ยนไป พฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยน

คนไม่อยากจะขึ้นรถกระบะทั้งครอบครัวเพื่อไปซื้อของในวันหยุดแล้ว

พวกเขาต้องการห้างที่สามารถเดินหรือนั่งรถประจำทางไปซื้อได้ โดยไม่ไกลจากย่านที่ตัวเองอยู่มากนัก

ในปี 2013 Walmart มีร้านถึง 11,000 สาขา

ในขณะที่ Sears มีอยู่แค่ 768 สาขาเท่านั้น

 

เมื่อกำไรลดลง Walmart รู้ตัวว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป

เร่งพัฒนาระบบซื้อของออนไลน์ เพื่อดึงกลุ่มลูกค้าบางส่วนให้อยู่กับตัวเองต่อไป ไม่หนีไปอีคอมเมิร์ซเจ้าอื่นๆ กันหมด

แต่ Sears กลับไปผิดทาง

พอพวกเขาเห็นว่ารายได้จากการขายของในห้างไม่เพิ่ม

ก็เลยแตกไลน์ไปยังธุรกิจด้านอื่น เช่น เปิดบริการโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้น  นายหน้าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์

ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าต้องการจริงๆ แถมพอทำแล้วก็สู้เจ้าอื่นที่มีอยู่แล้วไม่ได้

ก็กลายเป็นธุรกิจเก่าไม่สร้างกำไร ธุรกิจใหม่ยังมาทำให้ขาดทุนเพิ่มไปอีก

 

จนทำให้ปัจจุบัน Sears Holdings มีหนี้สินสะสมสูงถึง 360,000 ล้านบาท

แต่มีสินทรัพย์อยู่เพียง 220,000 ล้านบาท

นั่นแสดงว่าถ้าเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย แล้วต้องขายสินทรัพย์มาใช้หนี้ ก็ยังใช้ได้ไม่หมด

บริษัทจึงยื่นขอความคุ้มครองล้มละลาย และต้องการเงินช่วยเหลือเพื่อประคับประคองกิจการ

ก่อนหน้านี้ บริษัทเคยเจรจากับนักลงทุน ได้รับเงินเกือบ 10,000 ล้านบาท เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจทำให้มีกำไร

แต่เงินเหล่านั้นเหมือนจะเป็นการตำพริกละลายแม่น้ำ

เพราะมันไม่ได้ช่วยให้บริษัทกลับมาทำกำไรได้จริงๆ

ในครั้งนี้ Sears Holdings ก็เจรจาขออีกครั้งในจำนวนเงินเท่าเดิม

เพื่อหวังจะมาชำระหนี้ระยะสั้น และไปปรับโครงสร้างของบริษัทต่อไป

แต่จะเป็นผลสำเร็จหรือไม่นั้น ก็ต้องติดตามความคืบหน้ากันต่อไป

 

แต่ถ้าบริษัทล้มละลาย และต้องปิดกิจการจริงๆ

สาขาจำนวน 700 แห่ง ก็จะถูกปิดตัวลง และพนักงาน 90,000 คน ก็จะกลายเป็นตกงาน

ซึ่งนั่นอาจจะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกไม่มากก็น้อย

 

ในขณะที่ห้างไทยหลายแห่ง วางตัวเป็นศูนย์กลางของชีวิตคนเมือง

 

จาก Sears ย้อนกลับมาดูห้างสรรพสินค้าไทย…

แม้การซื้อของออนไลน์ของไทย จะได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

แต่สถานการณ์ห้างค้าปลีกใหญ่ของไทย ก็ยังคงเติบโตได้อย่างดี

และห้างในเมืองไทย ก็ไม่ใช่เป็นเพียงร้านขายของใช้อย่างเดียวเท่านั้น

โดยเฉพาะห้างดังในเมืองใหญ่ กลายเป็นทั้งแหล่งความบันเทิง แหล่งพบปะนัดเจอ และเหมือนบ้านหลังที่สองของอีกหลายคนไปแล้ว

การผสมผสานไลฟ์สไตล์ต่างๆ เข้าไปเป็นจุดดึงดูด ก็ยังคงทำให้มีคนมาที่ห้างได้อยู่เสมอ

ตรงกันข้ามกับห้างหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา ที่มีแต่สินค้าวางจำหน่ายเท่านั้น

เมื่อคนสามารถสั่งออนไลน์ได้โดยสะดวก รอแค่ 1-2 วันก็ได้รับของ

แถมยังเลือกดูในหลายเว็บ เปรียบเทียบราคา อ่านรีวิวก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่งบางครั้งดีกว่าคำแนะนำของพนักงานขายอีก

พวกเขาก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเดินเลือกซื้อสินค้าในห้างอีกต่อไป

 

นี่คือบทเรียนสำคัญจากยักษ์ใหญ่อย่าง Sears

เพราะเทคโนโลยี “อินเตอร์เน็ต” นั้นได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปแล้ว

คำกล่าวที่ว่า “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” อาจจะใช้ได้ แต่ก็ไม่เสมอไป

เพราะมันมีปลาเล็กปลาน้อย ที่มีความสามารถเก่งกาจ เกิดขึ้นมากมาย

แถมมันยังทำให้ปลาใหญ่อีกหลายตัว ต้องอัพเกรดตัวเองเป็นปลาเร็วให้ได้

สุดท้ายแล้ว “ปลาใหญ่” ตัวไหนที่ยังคงอืดอาด ก็คงหนีไม่พ้นโดนปลาตัวอื่นๆ พุ่งแซง

หรือไม่ก็โดนปลาเล็กปลาน้อยมาตอดกิน ไปจนตัวเองไม่เหลืออะไร

โดยที่ตัวเองก็รู้นะว่าโลกมันเปลี่ยนไป แต่ไม่สามารถตอบโต้อะไรเลยได้ด้วยซ้ำ…

 

 

ติดตาม Billionaire Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionairethai/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/BillionaireThai

– ถ้าเล่นแต่ไลน์ ก็ส่งบทความให้คุณทุกวันที่ @BillionaireMindset

– ติดตามเพจ Billionaire Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา:

www.posttoday.com/world/567762

www.cnbc.com/2018/10/14/sears-ready-to-file-bankruptcy-later-tonight-in-fight-to-stay-alive.html

https://en.wikipedia.org/wiki/Sears_Holdings

https://en.wikipedia.org/wiki/Sears

https://www.forbes.com/sites/warrenshoulberg/2018/10/15/reasons-2-10-why-sears-and-kmart-failed/#b543a62cef45

https://www.businessinsider.com/the-american-retail-apocalypse-in-photos-2017-3/#perhaps-most-emblematic-of-the-retail-apocalypse-are-photos-of-dead-malls-1

https://en.wikipedia.org/wiki/Walmart

Aim low: The rise of Wal-Mart, the fall of Sears and the lesson of Disruption Theory

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...