Facebook
Twitter
LINE

คุณอาจจะไม่รู้ว่า ในประเทศอย่างสวิตเซอร์แลนด์ หรือนอร์เวย์ นักเรียน 95% มีคอมพิวเตอร์ที่ใช้เรียนออนไลน์ได้

ขณะที่ในอีกซีกโลกหนึ่ง อินโดนีเซีย มีนักเรียนเพียง 34% ที่เข้าถึงอุปกรณ์ดังกล่าว

“ความพร้อมด้านอุปกรณ์” เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่ทำให้การเรียนออนไลน์ไม่ประสบความสำเร็จ

แต่จะมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจอีกบ้าง ติดตามสรุปได้ในบทความนี้ครับ…

 

แท้จริงแล้ว เรียนออนไลน์ดีกว่าเรียนปกติหรือไม่!?

ไม่ใช่แค่คุณที่กำลังสงสัยในเรื่องนี้ แต่นักวิจัยหลายคนก็ต้องการคำตอบเช่นกัน

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การเรียนออนไลน์ ในแบบที่ไม่ใช่การถ่ายทอดสด แต่ให้นักเรียนเลือกบทเรียนได้ด้วยตัวเอง จะประหยัดเวลาลงได้ถึง 40-60% จากการเรียนปกติ

นั่นเพราะผู้เรียน สามารถเรียนในแบบ “At their own pace” ตรงไหนไม่เข้าใจก็หยุด กลับมาทำความเข้าใจซ้ำ ตรงไหนเข้าใจง่าย ก็กดข้ามเพื่อไปยังเรื่องต่อไป

ซึ่งรูปแบบดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้ในห้องเรียนจริง…

เนื่องจากทุกคนในห้อง ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเท่ากัน ฉะนั้นหากมีคนหนึ่งไม่เข้าใจ การสอนทั้งหมดก็จะถูกหยุดลง เพื่อให้ครูอธิบายคนนั้นๆ เข้าใจก่อน

จากนั้นทั้งห้องก็จะค่อยเริ่มเรียนต่อไปพร้อมๆ กันเป็นกลุ่มก้อนต่อไป

 

 

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของการเรียนออนไลน์ก็ขึ้นอยู่กับ “อายุ” ของคนเรียนด้วย

ในการศึกษานักเรียนระดับมหาวิทยาลัย จะไม่พบความแตกต่างด้านประสิทธิภาพ ระหว่างเด็กเรียนดี กับเด็กที่มีผลการเรียนกลางๆ มากนัก

แต่ในกลุ่มเด็กที่มีอายุน้อยลงมาอย่างวัยมัธยม มีการศึกษาจากรัฐฟลอริด้าและรัฐโอไฮโอ้ สหรัฐอเมริกา

แล้วก็พบว่า “กลุ่มเรียนไม่เก่ง” นั้นจะประสบปัญหาด้านการเรียนออนไลน์มากกว่า

เพราะกลุ่มเรียนเก่ง จะสามารถทำความเข้าใจ และจบหลักสูตรได้อย่างรวดเร็ว

ขณะที่คนเรียนไม่เก่ง จะมีปัญหาในการเรียนออนไลน์ มากกว่าการเรียนในห้องเรียนจริงๆ เสียอีก

เพราะพอขาดคนที่คอยให้คำแนะนำในบางจุด พวกเขาจะต้องใช้เวลานาน ในการทบทวนสิ่งที่ตัวเองไม่เข้าใจซ้ำๆ จนกว่าจะเข้าใจ

 

แล้วปัญหาเรื่องการเรียนออนไลน์ จะชัดเจนขึ้นในกลุ่มเด็กอายุน้อย อย่างเด็กประถมศึกษาตอนต้น

เพราะเด็กในวัยนี้ จะเสียสมาธิได้ง่าย จึงต้องการสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเรียนรู้ที่สุด

ซึ่งในกลุ่มที่ครอบครัวมีฐานะ ก็จะสนับสนุนอุปกรณ์ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดสมาธิกับการเรียน หรือกระทั่งมีผู้ปกครองมาช่วยแนะแนวทางได้

ขณะที่กลุ่มเด็กยากจน จะเข้าถึงสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเรียนรู้ได้ยากกว่า

 

เพื่อให้เห็นภาพง่ายๆ ยกตัวอย่างเช่น..

เด็กที่บ้านมีฐานะดี อาจจะมีห้องส่วนตัวแยกไว้สำหรับการเรียนออนไลน์ ซึ่งมีทั้งคอมพิวเตอร์ แท็บเลต อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือกระทั่งเปิดแอร์เย็นๆ ให้มีสมาธิในการเรียน

ขณะที่เด็กยากจน ถึงแม้จะมีอุปกรณ์พร้อมก็ตาม แต่การที่คนทั้งบ้านจะอยู่รวมกันในห้องเล็กๆ ก็จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเรียนได้ยากกว่า

 

ภาพ: Educational Renaissance

 

นั่นแสดงให้เห็นว่า “ความยากจน” คืออีกปัจจัยที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ!?

อย่างที่เราเกริ่นไปตอนต้น ประเทศที่ร่ำรวยกว่า จะประสบความสำเร็จในการเรียนออนไลน์มากกว่า

เพราะนอกจากเด็กในประเทศร่ำรวย จะเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายกว่าแล้ว

ทางโรงเรียนหรือรัฐบาลของประเทศที่ร่ำรวย ก็ยังมีงบสนับสนุนอุปกรณ์ให้กับคนที่ขาดแคลนได้มากกว่าอีกด้วย

ขณะที่เด็กในประเทศยากจน นอกจากจะไม่มีเงินเข้าถึงเทคโนโลยีราคาแพง ภาครัฐหรือโรงเรียนซึ่งไม่มีเงินมากนัก ก็ให้ทุนสนับสนุนอุปกรณ์ไม่ได้เช่นกัน

 

ถ้าจะสรุปง่ายๆ โดยแบ่งเด็กเป็น 4 กลุ่ม จะพบว่ากลุ่มที่แทบไม่ได้รับผลกระทบก็คือ…

1. กลุ่มเด็กรวยในประเทศรวย

2. กลุ่มเด็กจนในประเทศรวย(มีรัฐสนับสนุน)

3. กลุ่มเด็กรวยในประเทศยากจน

แต่ในทางตรงกันข้าม กลุ่มที่ 4 ก็คือ “กลุ่มเด็กยากจน ในประเทศยากจน” คือกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดในระบบการศึกษาออนไลน์

 

โดยเฉพาะในประเทศไทย ซึ่งมีเด็กในกลุ่มนี้อยู่เป็นจำนวนไม่น้อย

คำถามที่จะต้องขบคิดและหาคำตอบให้ได้ ก่อนเริ่มระบบการศึกษาออนไลน์ก็คือ.. เราจะช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ได้อย่างไร!?

เพราะมันจะเป็นปัญหาสำคัญ ที่ทำให้ระบบการเรียนออนไลน์นั้นล้มเหลว

และงบประมาณที่ทุ่มเทลงไป ก็จะกลายเป็นสิ่งน่าเสียดาย ที่เราไม่สามารถใช้มันได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง..

 

คุณอาจจะไม่รู้ว่า ในประเทศอย่างสวิตเซอร์แลนด์ หรือนอร์เวย์ นักเรียน 95%…

โพสต์โดย Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน เมื่อ วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม 2020

 

 

ติดตาม Billion Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionmindset.ig/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/Billion_Twit

– ติดตามเพจ Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา:

www.weforum.org/agenda/2020/04/coronavirus-education-global-covid19-online-digital-learning/

unctad.org/en/pages/newsdetails.aspx?OriginalVersionID=2322

techjury.net/stats-about/elearning/#gref

www.oecd.org/pisa/

www.edweek.org/ew/articles/2020/03/23/how-effective-is-online-learning-what-the.html

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...