Facebook
Twitter
LINE

จะดีแค่ไหนถ้ารถยนต์ไฟฟ้าไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า…

ไม่ต้องเสียค่าจดทะเบียน ไม่ต้องเสียค่าทางด่วน ไม่ต้องเสียค่าชาร์จไฟ!!

ปัจจุบันกรุงออสโล เมืองหลวงนอร์เวย์ ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดเมืองรถยนต์ไฟฟ้าของโลก

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ทั้งประเทศ 567 คัน

แต่เฉพาะปี 2017 ปีเดียว มียอดจดทะเบียนมากถึง 71,737 คัน

มากกว่ากันถึง 133 เท่า!!

รัฐบาลนอร์เวย์ทำให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างไรนะ…??

 

Tesla กลายเป็นรถขายดีที่สุดในนอร์เวย์เมื่อปีก่อน

 

ต้องย้อนกลับไปจนถึงยุค 1990

ที่รัฐบาลนอร์เวย์สนับสนุนให้ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศค่าย PIVCO ออกมาทดลองใช้งาน

รวมถึง “ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้า” รถยนต์ไฟฟ้าจากต่างประเทศ

หลังจากนั้นไม่นาน ในช่วงปี 1996 ก็เริ่มเดินหน้าออกนโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติม

ตัวอย่างเช่น รถยนต์ไฟฟ้าไม่ต้องเสียภาษีประจำปี ไม่ต้องเสียค่าทางด่วน

รวมถึงสามารถวิ่งในเลนรถบัส เพื่อให้เดินทางสะดวกกว่ารถปกติ

เป็นการจูงใจให้คนหันมาใช้ ตั้งแต่มันยังไม่ได้รับความนิยมเมื่อราว 20 กว่าปีก่อน

 

 

 

ในตอนนั้น “เทคโนโลยีของรถยนต์ไฟฟ้า” ยังถือเป็นเรื่องใหม่ของมนุษย์

เมื่อมีการสนับสนุนจากรัฐบาล ประชาชนบางส่วนก็หันมาใช้ แต่ยังเป็นจำนวนน้อยอยู่

กระทั่งในปี 2008 เมืองหลวง Oslo มองว่าเทคโนโลยีดังกล่าวเริ่มเอื้อมถึงแล้ว

จึงริเริ่มโครงการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งผู้ใช้สามารถนำรถมาจอดชาร์จได้ฟรี

การไม่ต้องเติมน้ำมัน แถมยังชาร์จได้ฟรี ยิ่งเสริมให้คนที่ลังเล ตัดสินใจมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันได้ง่ายขึ้น

ปัจจุบันสถานีชาร์จดังกล่าวมีอยู่ถึง 2,000 แห่งทั่วทั้งเมือง

 

เมื่อรัฐบาลสนับสนุน ผู้ประกอบการเองก็อยากจะนำรถเข้ามาขาย

ไม่ว่าจะเป็น Mitsubishi i-MiEV และ Nissan Leaf ในปี 2011

หรือ Tesla Model S เข้ามาในนอร์เวย์ปี 2013

คนนอร์เวย์ก็สามารถซื้อรถได้ในราคาไม่แพงกว่ารถในประเทศ เพราะรัฐบาลไม่เก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลยังมีนโยบาย VAT 0% ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2001

รวมเข้ากับนโยบายเด็ด(ที่ไม่รวยจริงทำไม่ได้) ก็คือการไม่เก็บภาษีเงินได้ของบริษัทขายรถยนต์ไฟฟ้า!!

นั่นทำให้ Tesla ในนอร์เวย์ ยังสามารถขายได้ถูกกว่าในประเทศบ้านเกิดอย่างสหรัฐอเมริกา

เพราะผู้ขายสามารถลดราคาลง จากภาษีที่ตัวเองไม่ต้องจ่ายนั่นเอง

 

สรุปว่าตอนนี้ถ้าชาวนอร์เวย์จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าสักคันหนึ่ง…

– ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าจากต่างประเทศ

– ไม่ต้องเสีย VAT 25%

– จ่ายภาษีน้อยกว่าคนใช้รถเติมน้ำมัน

– ไม่เสียค่าทางด่วน

– ไม่เสียค่าจอดในเมือง พร้อมสถานีชาร์จให้ใช้ไฟได้ฟรี 7,600 แห่งทั่วประเทศ

– แถมขับเข้าไปในเลนรถบัสหรือเลนพิเศษได้ ไม่ต้องทนกับปัญหารถติดอีกต่อไป

 

คุณสามารถจอดรถและชาร์จไฟฟรีได้ในนอร์เวย์

 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ จากรถ Volkswagen Golf ที่ขายในประเทศนอร์เวย์

Golf เวอร์ชั่นรถไฟฟ้า ราคา 1,200,000 บาท

Golf เวอร์ชั่นน้ำมันเครื่องยนต์ 1.2 ลิตร ราคา 850,000 บาท

ถูกกว่ากันถึง 350,000 บาท

แต่.. ถ้าจะซื้อรถใช้น้ำมัน คุณจะเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 25% คิดเป็นเงิน 212,500 บาท

ค่าจดทะเบียนประมาณ 250,000 บาท

ซึ่งรวมแล้วคุณจะต้องเสียเงิน 1,312,500 บาทเลยทีเดียว

ไหนจะรวมค่าบำรุงรักษา ค่าเติมน้ำมัน ค่าต่ออายุประจำปี

ซึ่งรถใช้น้ำมันก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าเข้าไปอีกประมาณปีละ 120,000 บาท

เป็นคุณจะเลือกใช้รถแบบไหน…?? น่าจะตอบได้ไม่ยากเลย

 

โครงสร้างภาษี ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกและน่าใช้กว่ารถเติมน้ำมัน

 

ประเทศขายน้ำมัน แต่สนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า ทำไมเป็นแบบนั้นล่ะ??

การส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ สร้างรายได้ให้นอร์เวย์ 2.2 ล้านบาทในแต่ละปี

คิดเป็น 17% ของจีดีพีประมาณ 13 ล้านล้านบาท

นั่นแปลว่าระบบเศรษฐกิจนอร์เวย์ ก็ต้องพึ่งพาการใช้พลังงานจากฟอสซิลพอสมควร

แต่ในเรื่องของการใช้ไฟฟ้าในประเทศ กลับพบว่า 99% ของไฟฟ้าในนอร์เวย์ เป็นไฟฟ้าพลังงานน้ำ

หมายถึงเชื้อเพลิงฟอสซิลจะถูกส่งออกไปแทบทั้งหมด ไม่นำมาใช้ในประเทศ

 

หลายคนจึงเสียดสีว่ามันเป็นเรื่องตลก…

ที่ประเทศส่งออกเชื้อเพลิง เอาเชื้อเพลิงไปให้ที่อื่นใช้ ขณะที่ตนเองก็ใช้พลังงานน้ำในการผลิตไฟฟ้า

แถมมาสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าอีก

ซึ่งถ้าประเทศอื่นใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันหมด เชื้อเพลิงของนอร์เวย์ก็จะส่งออกไม่ได้แล้วรึเปล่า??

 

ในส่วนนี้ทางรัฐบาลของนอร์เวย์กลับมองตรงกันข้าม

เนื่องจากประเทศนอร์เวย์อยู่ใกล้กับขั้วโลกเหนือ ที่ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกจะส่งผลได้ชัดเจนมาก

พวกเขามองว่าที่ต้องส่งออกเชื้อเพลิงฟอสซิล เพราะมีประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งต้องการมัน

โดยเฉพาะจีนและอินเดีย ซึ่งมีความต้องการบริโภคสูง และยังไม่พร้อมกับพลังงานสะอาดแบบเต็มตัว

เมื่อยังมีความต้องการ พวกเขาก็ส่งออกไปเพื่อสร้างรายได้

ถ้าพวกเขาไม่ส่งออก ก็จะมีประเทศอื่นส่งออกไปป้อนให้ความต้องการเหล่านั้นแทน

จนถึงวันหนึ่งถ้าไม่มีประเทศไหนต้องการน้ำมันแล้ว นอร์เวย์ก็คงไม่ได้ขุดน้ำมันขาย

แต่กว่าจะถึงวันนั้นก็คงจะอีกแสนนานเช่นกัน

เพราะฉะนั้น… วันนี้พวกเขาก็ทำสิ่งที่พอจะทำได้ไปก่อน

คือการทำให้ประเทศตัวเองใช้พลังงานสะอาดมากที่สุดนั่นเอง!!

 

แท่นขุดน้ำมันนอกชายฝั่งนอร์เวย์

 

ส่งท้าย.. นอร์เวย์กับการตั้งเป้ารถยนต์ไฟฟ้า 100%

ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้ามีส่วนแบ่งการตลาด 39% ในนอร์เวย์

โดยแบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้า EV (ใช้ไฟฟ้าเต็มตัว) 20%

และรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด 19%

 

รัฐบาลมีเป้าหมายว่าภายในอีก 7 ปีข้างหน้าหรือปี 2025

ยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ในประเทศ จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100%

จะเห็นได้ว่านี่ก็ไม่ใช่เรื่องปุบปับ ที่คิดว่าจะให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้าเยอะๆ ก็คิดนโยบายแล้วทำได้เลย

แต่คือการวางแผนมาตั้งแต่ช่วงปี 1990

แล้วทำมันอย่างต่อเนื่อง ทำมันอย่างจริงจังเป็นเวลาเกือบ 30 ปี

จนกลายเป็นต้นแบบให้หลายประเทศได้ศึกษา และหาทางทำให้ได้แบบนอร์เวย์เช่นกัน…

 

 

ติดตาม Billionaire Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionairethai/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/BillionaireThai

– ถ้าเล่นแต่ไลน์ ก็ส่งบทความให้คุณทุกวันที่ @BillionaireMindset

– ติดตามเพจ Billionaire Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา:

www.fleetcarma.com/norway-became-leading-ev-market/

elbil.no/english/norwegian-ev-market/

https://en.wikipedia.org/wiki/Plug-in_electric_vehicles_in_Norway

www.theguardian.com/money/2018/jul/02/norway-electric-cars-subsidies-fossil-fuel

www.youtube.com/watch?v=zSjYra7cYqY&t=18s

www.worldatlas.com/articles/the-economy-of-norway.html

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...