Facebook
Twitter
LINE

ถ้าถามว่ารู้จัก Phil Knight รึเปล่า.. คงทำหน้างงๆ กันเป็นแถบ

แต่ถ้าถามว่า รู้จัก Nike หรือไม่?? เชื่อว่ารู้จักกันแทบทุกคนแน่ๆ

ชายผู้นี้คือคนก่อตั้งแบรนด์เครื่องกีฬาที่โด่งดังที่สุดแบรนด์หนึ่งของโลก

บริษัทซึ่งมีมูลค่าถึง 120,000 ล้านเหรียญ

คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 3.9 ล้านล้านบาท

จากพื้นฐานที่เขาเป็นเพียงนักวิ่งของมหาวิทยาลัยเท่านั้น

ว่าเขาทำได้อย่างไร?? เราย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีที่แล้วกันครับ…

 

 

การเข้าสู่ธุรกิจรองเท้ากีฬา

เขาเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัย Oregon ซึ่งที่นั่นเขาเป็นนักกีฬาวิ่งด้วย

หลังจากนั้นก็เข้าเรียนด้านธุรกิจที่ Stanford ซึ่งที่นั่นทำให้เขามีความคิดริเริ่มธุรกิจของตัวเอง

ด้วยความชอบในการวิ่ง และรู้สึกว่ารองเท้ากีฬาชื่อดังในตอนนั้นอย่าง Puma หรือ Adidas ยังตอบสนองเขาได้ไม่ดีพอ

ทำให้ Phil ก็อยากจะทำรองเท้ากีฬาที่ดีกว่าขึ้นมาขาย

เขาไม่มีความรู้ด้านการทำรองเท้า หรือประสบการณ์ด้านธุรกิจเลยด้วยซ้ำ

แต่เขามองเห็นโอกาสอย่างหนึ่ง…

เขาตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมแบรนด์กล้องถ่ายรูปญี่ปุ่น Canon ถึงเข้ามาครองในคนอเมริกันได้?? ที่ญี่ปุ่นมีดีอะไรกัน??

นั่นจึงทำให้เขาตัดสินใจบินไปเที่ยวญี่ปุ่นในปี 1962

 

เมื่อไปถึงญี่ปุ่น ระหว่างเที่ยวและหาข้อมูลธุรกิจในเมืองโกเบ

เขาสะดุดตาเข้ากับรองเท้า Onitsuka Tiger เข้าอย่างจัง และเมื่อได้ลองก็พบว่ามันมีคุณภาพดีมาก

จริงๆ คนอเมริกันส่วนหนึ่งก็รู้จักแบรนด์นี้มาบ้างแล้ว

แต่จะรู้จักในฐานะรองเท้ามือสอง ที่เหล่าทหารประจำการในญี่ปุ่น ถือกลับมาฝากและมาขายเท่านั้นเอง

นั่นทำให้เขาอยากเป็นตัวแทนนำเข้ารองเท้าไปขายในสหรัฐอเมริกา

แต่เขาจะทำยังไง??

 

Phil ไม่รอช้า ติดต่อเข้าพบกับเจ้าของบริษัท เพื่อเจรจาเป็นตัวแทนนำเข้าสินค้าไปขายในอเมริกาทันที

เมื่อถูกถามว่ามาจากไหน เขาก็ต้องทำตัวเองให้น่าเชื่อถือขึ้นมา

โดยการบอกว่าตนเป็นเจ้าของบริษัทจัดจำหน่ายรองเท้า Blue Ribbon Sports

ทั้งที่ตอนนั้นเขายังไม่ได้มีบริษัทเสียด้วยซ้ำ!!

แต่นั่นก็ทำให้ทาง Onitsuka เชื่อใจ และยอมให้เขาเป็นผู้นำเข้าไปขายในสหรัฐอเมริกา

 

ปี 1963 เขาก็เลยได้เป็นตัวแทนขายล็อตแรก 12 คู่

ด้วยความที่เป็นนักวิ่งเก่า รู้ว่างานวิ่งจะจัดขึ้นที่ไหนบ้าง

เขาจึงนำรองเท้าใส่ท้ายรถ ไปเปิดขายตามงานวิ่งต่างๆ แต่ก็ไม่ได้ผลตอบรับที่ดีเท่าไร

ตอนนี้เขาตระหนักว่าตัวคนเดียวคงขยายต่อไปยาก และต้องหาที่พึ่งแล้ว…

 

 

 

รู้จัก Bill Bowerman ชายผู้พลิกชะตาชีวิต

Phil กลับไปหาโค้ชวิ่งสมัยเรียนมหาวิทยาลัย Bill Bowerman

Bill เคยสอนนักวิ่งมามากมาย และบางคนก็ไปได้ถึงระดับนักกีฬาโอลิมปิก จึงมีชื่อเสียงและได้รับการเคารพ

เมื่อเขานำเสนอรองเท้า Onitsuka ให้กับโค้ชดู ปรากฏว่าโค้ชชื่นชอบมาก

เขาจึงชวนโค้ชมาร่วมก่อตั้งธุรกิจนำเข้าสินค้าด้วยกันแบบจริงจัง

ทั้งสองคนลงเงินเป็นหุ้นส่วนกันคนละ 500 ดอลลาร์ (ประมาณ 16,000 บาท)

และนั่นทำให้ Blue Ribbon Sports ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ

 

ในปีเดือนเมษายน 1964 เงิน 1,000 ดอลลาร์ที่พวกเขาหุ้นกัน ถูกนำไปซื้อรองเท้า Onitsuka เข้ามาขายทั้งหมด

ตอนนี้บริษัทมีรองเท้า 300 คู่ ตกเฉลี่ยต้นทุนคู่ละประมาณ 3.33 ดอลลาร์

ด้วยความที่ Bill เป็นคนมีชื่อเสียง เพียงนำไปแนะนำให้กับลูกศิษย์เก่าๆ ของเขาเอง

ก็มีคนยินดีซื้อ ทั้งด้วยความแปลกใหม่ คุณภาพ รวมถึงชื่อของโค้ชเองเช่นกัน

รองเท้าขายหมดภายในเวลา 3 เดือนเท่านั้น!!

ต่อมาปี 1965 บริษัทตั้งร้านค้าสาขาแรกในเมืองแอลเอได้สำเร็จ

 

 

เปลี่ยนผ่านจากผู้ขาย เป็นผู้ผลิตรองเท้าเสียเอง…

Phil คือคนรับผิดชอบด้านการหาลูกค้าใหม่ๆ และนำสินค้าไปขาย

ส่วน Bill ก็ไม่ได้อยู่เฉย นอกจากการขายรองเท้าแล้ว เขาศึกษามันว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง ทำไมถึงมีคุณภาพดี

เมื่อผ่ารองเท้าเพื่อทำการศึกษา เขาก็ลองปรับเสริม แต่งเติมมันไปด้วย

เช่นการใช้วัสดุรองพื้นแบบอื่น หรือเปลี่ยนบางส่วนไปใช้ของที่มีน้ำหนักเบากว่า

ความชอบในการลองแต่งเติมใหม่ๆ นี้เอง ทำให้เขาลองออกแบบ Onitsuka รุ่นใหม่ขึ้นมาเอง

ซึ่งพอลองส่งไอเดียกลับไปให้บริษัทที่ญี่ปุ่น พวกเขาก็สนใจและผลิตมันให้จริงๆ

เป็นที่มาของรุ่น Cortez 1968 ซึ่งออกมาขายตรงกับโอลิมปิกที่เม็กซิโก ในปี 1968 พอดี

รองเท้าได้รับความนิยม จนรุ่นนั้นขายได้เป็นมูลค่าสูงถึง 10 ล้านบาท

 

 

แต่ด้วยนโยบายของ Onitsuka ที่จะผลิตสินค้าให้พอกับความต้องการของคนญี่ปุ่นก่อน

ส่วนที่เหลือค่อยส่งมาให้ยังฝั่งอเมริกา ทำให้เกิดปัญหาสินค้าขาดแคลน

มาถึงจุดนี้ พวกเขาคิดได้ว่าไม่ควรฝากชีวิตไว้กับผู้ผลิต แต่ควรจะกลายเป็นผู้ผลิตเสียเอง

 

พวกเขาก็เริ่มมองหาไอเดียสร้างแบรนด์ของตัวเอง

หลังจากลองคิดหลายๆ ชื่อ ก็หยิบชื่อ NIKE ซึ่งเป็นเทพีแห่งชัยชนะตามตำนานของกรีกโบราณ

ในส่วนของโลโก้ Bill ไปจ้างนักศึกษามหาวิทยาลัยออกแบบ แลกกับเงินประมาณ 35 ดอลลาร์

เขาไม่ค่อยมีความรู้ด้านศิลปะมากนัก จึงหยิบแบบแรกที่ได้มาโดยไม่ลังเล

แต่ใครจะคิดว่า มันจะกลายเป็นเครื่องหมายของธุรกิจมาจนถึงปัจจุบัน

(โดยภายหลังนักศึกษาคนนั้นก็ได้ค่าตอบแทนเพิ่มเติม เป็นหุ้นบริษัทที่มีมูลค่าถึง 20 ล้านบาท!!)

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหมดสัญญานั้น Nike ก็ทำสินค้าขายเองอย่างลับๆ มาตั้งแต่ปี 1969

(โดยเฉพาะรุ่น Cortez ที่ทำมาขายควบคู่กับ Tiger จนนำไปสู่การฟ้องร้องในภายหลังด้วย)

ต่อมาในปี 1971 หลังจากหมดสัญญากับ Onitsuka

ใกล้กับที่จะมีโอลิมปิกในปี 1972 ในประเทศเยอรมนีพอดิบพอดี

นั่นเป็นโอกาสอันดีที่จะทำตลาดให้คนอเมริกันผู้คลั่งไคล้กีฬา

พวกเขาเร่งทำการตลาด นำสินค้าตัวเองไปผูกติดกับนักกีฬา และการแข่งขันโอลิมปิกปีนั้น

ในปี 1972 บริษัททำยอดขายได้กว่า 3,200,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 100 ล้านบาท)

 

ซึ่งความสำเร็จในปีนั้น ทำให้ Nike รู้ว่าต้องเดินเกมด้วยการผูกสินค้าตัวเองกับนักกีฬาดังๆ

จากนั้นก็พัฒนาไปผูกกับนักกีฬาดาวรุ่ง ก่อนที่พวกเขาจะมีชื่อเสียง

ไม่ว่าจะเป็น Michael Jordan ในปี 1984 ตอนเพิ่งเล่นบาสเกตบอลอาชีพปีแรก

Tiger Woods ในปี 1996

หรือกระทั่ง Lebron James ในปี 2003

 

โลโก้ “Swoosh” หรือเครื่องหมายถูกที่เราคุ้นตา ผสมกับสโลแกน “Just Do it” ที่คุ้นหู

เพราะพวกเขาใช้มันมาตลอดตั้งแต่เริ่มต้นกิจการ

จนกระทั่งปีล่าสุด ในปี 2017 นั้น Nike มียอดขายรวมทั่วโลก 1.1 ล้านล้านบาท ทำกำไรได้ 130,000 ล้านบาท

ส่งผลให้ Phil Knight ผู้ก่อตั้งมีทรัพย์สินสูงถึง 990,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

(ส่วนโค้ช Bill เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 1999)

 

 

Nike สอนอะไรเรา…??

นี่คือเรื่องราวของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ที่มองเห็นโอกาสในตลาดรองเท้ากีฬา

เชื่อว่าหลายๆ คนก็มีความคิดอยากเริ่ม อยากทำ อยากนำเสนอสินค้าใหม่ๆ

แต่ที่ต่างกันคือ Phil ไม่ได้แค่คิด เขาบินไปญี่ปุ่นเพื่อลงมือทำ แล้วก็กลับมาทำมันจริงๆ

 

ถัดมาก็คือ “การปรับตัว” พวกเขาไม่ได้หยุดแค่จะเป็นคนนำเข้ารองเท้ามาขาย

ถ้ามัวแต่ยืมจมูกคนอื่นหายใจ ไม่มีสินค้าของตัวเอง ก็คงอยู่ไปได้อีกไม่นาน

สักวันหนึ่ง Onitsuka ก็คงเลือกไม่ต่อสัญญา นำรองเท้ามาขายเองเพราะมันสะดวกกว่า

นั่นก็อาจจะเป็นจุดจบของ Blue Ribbon Sports และเขาก็อาจจะเป็นนักธุรกิจที่ล้มเหลวคนหนึ่ง

 

สุดท้ายนั้นก็คือเรื่องของ “คอนเนคชั่น” ในวงการธุรกิจนั้นมันเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้ไอเดีย

ไอเดียดีแค่ไหน ถ้าขายไม่ได้ ถ้าคนไม่ยอมรับ มันก็อาจจะไปไม่รอด

ถ้าไม่ได้โค้ช Bill สร้างความน่าเชื่อถือให้รองเท้าตอนนั้น เราก็อาจจะไม่ได้เห็น Nike ในวันนี้ก็เป็นได้

 

เมื่อทุกสิ่งผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างพอดี

มันก็กลายเป็นความสำเร็จได้ในท้ายที่สุด…

 

 

ติดตาม Billionaire Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionairethai/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/BillionaireThai

– ถ้าเล่นแต่ไลน์ ก็ส่งบทความให้คุณทุกวันที่ @BillionaireMindset

– ติดตามเพจ Billionaire Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

 

ที่มา:

en.wikipedia.org/wiki/Phil_Knight

www.businessinsider.com/history-of-nike-facts-about-its-50th-anniversary-2014-11

en.wikipedia.org/wiki/Nike,_Inc.

successstory.com/companies/nike-inc

theidleman.com/manual/mens-trainers/the-history-of-nike/

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...