Facebook
Twitter
LINE

ปัจจุบันมีแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่น 1,280,000 คน

แม้จะดูเป็นตัวเลขที่สูง แต่ก็คิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 1% ของประชากรทั้งญี่ปุ่นเท่านั้น

และที่สำคัญก็คือ ประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนมาก

ขณะที่อัตราการเกิดใหม่ก็ไม่เพียงพอ จึงเกิดความขาดแคลนคนวัยทำงานอย่างมหาศาล

คาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ดินแดนซามูไรแห่งนี้จะขาดแคลนคนทำงานถึง 6 ล้านคนเลยทีเดียว!!

นั่นทำให้ “ญี่ปุ่น” กลายเป็นตลาดงานมูลค่านับหมื่นล้าน ที่ยังคงเปิดกว้างในอนาคต

 

เพราะนี่คือสังคมแห่งคนสูงอายุอย่างแท้จริง…

ประเทศไทยมีสัดส่วนของผู้สูงอายุเกิน 60 ปี อยู่ที่ประมาณ 11-13%

ซึ่งมีการประเมินว่าตัวเลขตรงนี้จะขยับเป็น 20% ภายในปี 2035 หรืออีก 17 ปีข้างหน้า

แต่ในประเทศญี่ปุ่น มีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงถึง 33%

หรือเท่ากับประชากรประมาณ 42 ล้านคนเป็นผู้สูงอายุ

จึงไม่แปลกใจเท่าไรที่เวลาเราไปเที่ยว จะได้เห็นคนสูงอายุยังคงทำงานต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่นเป็นเรื่องปกติ

 

แต่ปัญหาขาดแคลนคนวัยทำงาน กำลังกัดกินสังคมญี่ปุ่นอยู่ช้าๆ

เรื่องนี้นักวิเคราะห์รู้ ภาคเอกชนรู้ รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็รู้ แต่มันเป็นปัญหาทางสังคมที่แก้ไขได้ยากยิ่ง

อัตราการเกิดของเด็กในประเทศญี่ปุ่น ลดลงต่อเนื่องกันมา 37 ปีแล้ว

ไม่ว่ารัฐบาลจะพยายามออกมาตรการต่างๆ มาแก้ไขปัญหา

แต่ด้วยสภาพสังคม เศรษฐกิจ ทัศนคติของผู้คน และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ทำให้คนญี่ปุ่นเลือกที่จะไม่แต่งงาน หรือแต่งไปก็ยังไม่คิดจะมีลูก

ถ้าอัตราเด็กเกิดใหม่ยังไม่ดีขึ้น ภายในปี 2100 ประชากรญี่ปุ่นจะลดลงจาก 127 ล้านคน

จนเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 60 ล้านคนเท่านั้น!!

 

สังคมญี่ปุ่น คือสังคมแห่งผู้สูงอายุ

 

การพยายามแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

หลายประเทศเลือกที่จะเปิดรับแรงงานต่างชาติ เพื่อมาทำงานในส่วนของ “แรงงานราคาถูก” เป็นฐานรากขับเคลื่อนประเทศ

ที่เห็นได้เด่นชัดสุดประเทศหนึ่งก็คือ “สหรัฐอเมริกา”

จนถึงขั้นมีคำกล่าวว่า อเมริกาเป็นมหาอำนาจได้ก็เพราะแรงงานอพยพจากชาติต่างๆ

แต่คนญี่ปุ่นรุ่นก่อน มีแนวคิดค่อนข้างชาตินิยม และไม่เปิดรับความเป็นต่างชาติมากนัก

นั่นทำให้พวกเขาแก้ปัญหาด้วยการยืดอายุคนทำงาน โดยมุ่งเน้นให้แต่ละคนสามารถทำงานได้นานยิ่งขึ้น

อีกทางคือการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เพื่อมาช่วยในการทำงานแทนที่คนในอนาคต

 

แต่.. ปัญหามันติดตรงที่ แม้จะถึงปี 2018 แล้ว แต่เทคโนโลยีของหุ่นยนต์ ยังไม่พัฒนาจนก้าวหน้าขนาดที่ใช้แทนแรงงานได้

นั่นทำให้ตอนนี้ญี่ปุ่นเดินมาติด “กับดัก” ดังกล่าวเข้าอย่างจัง

เมื่อคนเกิดใหม่ในประเทศ โตมาไม่ทันกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น

เมื่อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เคยสร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล โดนจีนเป็นคู่แข่งที่ราคาถูกกว่ามาแย่งลูกค้าไป

เมื่อเทคโนโลยีที่ตั้งใจจะมาทดแทนคนงาน กลับไปสามารถใช้ได้ทันเวลา

จะเห็นได้ว่าหลังจากปี 2010 เป็นต้นมา ประเทศญี่ปุ่นหันมาชูจุดขายด้าน “การท่องเที่ยว”

เพื่อดึงดูดเงินจากคนต่างชาติให้เข้าไปในญี่ปุ่นอีกทางหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนจะได้รับผลตอบรับที่ดีมาก

เฉพาะมูลค่าธุรกิจภาคการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ญี่ปุ่น 15 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10% ของจีดีพี

(หรือคิดอีกแง่ก็คือ ด้านการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น พอๆ กับจีดีพีของประเทศไทยทั้งประเทศ)

 

เมื่อโลกของหุ่นยนต์ ยังคงมาไม่ถึงในปัจจุบัน…

 

ญี่ปุ่นกับการเปิดรับแรงงานต่างชาติ

กลับมาที่เรื่องของแรงงาน จากปัญหาเรื่องชาตินิยมที่กล่าวไปข้างต้น

มีการไปสำรวจความคิดเห็นของชาวญีุ่่นประมาณ 1,000 คน

พบว่ากลุ่มคนในวัย 18-29 ปี ยอมรับได้กับการรับแรงงานต่างชาติมาทำงาน คิดเป็นสัดส่วน 54%

แต่ในทางตรงกันข้าม กลุ่มผู้สูงวัยที่เห็นด้วยกับการรับแรงงานต่างชาติ มีเพียง 34% เท่านั้น

แสดงให้เห็นว่า คนรุ่นเก่ายังมีแนวคิดที่ต่อต้านแรงงานต่างชาติอยู่ แต่กลุ่มคนรุ่นใหม่นั้นเปิดรับมากขึ้น

 

เรื่องดังกล่าวไปตรงกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ที่มีนโยบายรับคนจากกลุ่มประเทศจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาทำงานในประเทศ

โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานราคาถูก ที่กำลังขาดแคลนหนักและเร่งด่วน และมีสิทธิ์ได้วีซ่าทำงานนานถึง 5 ปี

ส่วนกลุ่มที่เป็นแรงงานทักษะสูง มีความสามารถเฉพาะทาง อาจจะมีสิทธิ์ได้พาครอบครัวย้ายมาอยู่ในญี่ปุ่นด้วย

 

กลุ่มแรงงาน Blue Collar คือสิ่งที่ญี่ปุ่นขาดแคลนเร่งด่วน

 

แรงงานไทย กับโอกาส-อุปสรรคของการไปทำงานในญี่ปุ่น

การไปทำงานในญี่ปุ่น สิ่งแรกที่กลุ่มแรงงานไทยจะพูดถึงก็คือเรื่องของรายได้ที่ดีกว่า

หากเทียบกับค่าเฉลี่ยรายได้ของประชากรญี่ปุ่น จะอยู่ที่ประมาณ 104,000 บาท/เดือน

มองในแง่ของโอกาส นั่นก็คือโอกาสของการมีรายรับที่มากกว่าทำงานหลายอย่างในไทย

ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีค่าครองชีพที่สูงกว่าเข้ามาเป็นปัจจัยที่ต้องขบคิดด้วยเช่นกัน

 

ส่วนเกณฑ์ในเรื่องของความสามารถที่ต้องการนั้น จะแตกต่างกันไปตามแต่ละหน่วยงาน

แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคของแรงงานเหล่านั้นก็คือ ความเข้าใจภาษาญี่ปุ่นขั้นพื้นฐาน ที่บางหน่วยงานกำหนดขึ้นมา

ในด้านวัฒนธรรมการทำงาน และสภาพสังคมของญี่ปุ่น ก็ทำให้คนต่างชาติหลายคนมีปัญหาด้านการปรับตัวอีกด้วย

 

ข้อมูลจากกรมแรงงานพบว่า มีคนไทยไปทำงานแบบถูกกฎหมายในประเทศญี่ปุ่นปีล่าสุดประมาณ 7,500 คน

ลองคิดเล่นๆ ว่า แต่ละคนมีรายได้เดือนละ 50,000 บาท (ไม่ถึงค่าเฉลี่ยของคนญี่ปุ่น)

เท่ากับเป็นเงินรายได้รวมกันที่สูงถึงปีละ (50,000 x 7,500) x 12 = 4,500 ล้านบาทเลยทีเดียว!!

ยิ่งถ้าในอนาคตตัวเลขนี้สามารถขยับไปได้อีก 2-3 เท่า ก็นับเป็นเงินมูลค่ามหาศาล

การที่ญี่ปุ่นเปิดกว้างต่อคนต่างชาติในปัจจุบันและอนาคต จึงน่าจะเกิดประโยชน์ต่อแรงงานไทย

แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องแข่งขันกับแรงงานของประเทศอื่นๆ

ทั้งจีนซึ่งครองส่วนแบ่งถึง 29% แล้วยังมีฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเป็นคู่แข่งในอาเซียนอีกด้วย

 

คนไทยจะแข่งขันกับแรงงานจากชาติอื่นๆ ได้หรือไม่?? เป็นเรื่องที่เราต้องขบคิด และสร้างความโดดเด่นให้ได้ ในโอกาสตลาดงานมูลค่าหมื่นล้านนี้นั่นเอง…

 

 

ติดตาม Billionaire Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionairethai/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/BillionaireThai

– ถ้าเล่นแต่ไลน์ ก็ส่งบทความให้คุณทุกวันที่ @BillionaireMindset

– ติดตามเพจ Billionaire Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา:

www.chinadaily.com.cn/a/201811/03/WS5bdd01ffa310eff303286548.html

brandinside.asia/work-at-japan-as-blue-collar-workers/

www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/overseas_th/94fa4ca8742ebc23237932d802170086.pdf

https://asia.nikkei.com/Spotlight/Japan-Immigration/54-of-Japanese-in-favor-of-accepting-more-foreign-workers2

https://tradingeconomics.com/japan/gdp-per-capita

www.wttc.org/-/media/files/reports/economic-impact-research/countries-2017/japan2017.pdf

https://en.wikipedia.org/wiki/Aging_of_Japan

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...