Facebook
Twitter
LINE

ถึงเป็นสายการบินแห่งชาติ แต่ถ้าบริหารไม่ดี ก็เจ๊งได้เหมือนกัน…

ย้อนกลับไปในปี 2010

สายการบิน Japan Airlines ประกาศขอความคุ้มครองล้มละลาย

หลังจากมีผลการดำเนินการย่ำแย่ ไม่สามารถทำกำไรได้ติดต่อกัน

และเป็นหนี้มหาศาลถึง 700,000 ล้านบาท

บริษัทต้องยอมออกจากตลาดหุ้น เพื่อไปปรับโครงสร้างครั้งใหญ่

มันเกิดอะไรขึ้น?? แล้วพลิกฟื้นกิจการได้อย่างไรกัน??

 

รัฐบาลญี่ปุ่นมองว่า จะปล่อยให้สายการบินแห่งชาตินั้นล้มไปไม่ได้เด็ดขาด

เพราะมันส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และจะยิ่งไปซ้ำเติมเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ไม่ค่อยโตอยู่แล้ว

พวกเขาจึงยอมอัดฉีดเงินกว่า 350,000 ล้านบาท เพื่อช่วยแก้วิกฤต

โดยมีข้อแม้ที่ว่าจะต้องใช้ผู้บริหารคนใหม่ที่พวกเขาแต่งตั้งให้ นั่นก็คือคุณ “คาซูโอะ อินาโมริ”

 

 

เขาเป็นใคร??

เคยได้ยินชื่อแบรนด์ “เคียวเซร่า” กันรึเปล่าครับ??

ชายคนนี้คือผู้ก่อตั้งบริษัทเครื่องมือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ในวัย 27 ปี จนเป็นบริษัทชั้นนำ

แต่ตอนนี้เขาอายุ 78 ปีแล้ว

เป็นคุณจะเลือกทางไหนในช่วงอายุขนาดนี้

ดูแลธุรกิจตัวเองที่สร้างอย่างดี แล้วใช้ชีวิตบั้นปลายสบายๆ

หรือก้าวมารับตำแหน่งผู้บริหารในธุรกิจที่ไม่เคยทำ ท่ามกลางการตั้งคำถามของคนนอก ว่าคงเอาชื่อมาทิ้งแน่ๆ

เขาเลือกรับตำแหน่ง และที่สำคัญก็คือ.. รับตำแหน่งแบบไม่เอาเงิน

เพราะเขาจะแสดงให้เห็นว่าตั้งใจมาพลิกฟื้นกิจการ ไม่ได้ต้องการผลประโยชน์แอบแฝง

 

และนี่คือจุดเริ่มต้นของการพลิกฟื้นสายการบิน Japan Airlines

เมื่อคุณคาซูโอะเข้ามา เขาตระหนักได้ทันทีว่าองค์กรแห่งนี้กำลังมีปัญหา

โดยสามารถสรุปเป็นปัญหาหลักๆ ได้ดังนี้..

 

1. เป็นเอกชนที่ทำตัวเหมือนข้าราชการ

บริษัทแห่งนี้ทำงานค่อนข้างเชื่องช้า เนื่องจากการบริหารไร้ประสิทธิภาพ

เจ้าหน้าที่รัฐหลายคนพยายามหาทางย้ายตัวเอง เพื่อมาเป็นผู้บริหารของที่นี่ เพียงเพราะเรื่องผลประโยชน์

นั่นทำให้คนบริหาร ไม่ใช้คนที่ไต่เต้ามาจากคนทำงาน

แต่เป็นคนเรียบจบจากสถาบันระดับต้นๆ และอยู่สายงานอื่นก่อนจะย้ายมา แบบนี้พวกเขาจะใส่ใจในงานด้านการบินได้อย่างไร??

 

2. องค์กรต้วมเตี้ยม เพราะใหญ่จนเกินไป

Japan Airlines มีเครื่องบินจำนวนมาก เส้นทางการบินมาก และพนักงานมากถึง 50,000 คน

ซึ่งเขามองว่าเป็นสิ่งที่ “มากเกินไป”

ในยุคนี้หลายสายการบินเริ่มนำเครื่องเล็กลงมาให้บริการเพื่อแย่งลูกค้า และสามารถทำราคาที่ต่ำกว่าได้

ขณะที่ JAL ยังคงบริหารแบบเดิม บริการแบบเดิม ซึ่งผลลัพธ์มันก็จะเป็นอะไรแบบเดิมๆ

 

 

เพราะฉะนั้นก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนเสียใหม่ ทำอย่างไร??

คุณคาซูโอะ เคยยอมรับว่าเขาไม่มีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจการบินมากนัก

แต่สิ่งหนึ่งที่เขามีก็คือ ปรัชญาในการทำงาน ที่ทุกคนในองค์กรต้องมีความคิดก้าวไปข้างหน้าเหมือนกัน

ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารแบบเขา หรือพนักงานระดับล่างก็ตาม

แต่การที่จู่ๆ จะไปปลดฝ่ายบริหารที่ทำหน้าที่ได้ไม่ถูกใจ มันก็เป็นไปไม่ได้

เพราะการปลดหรือเปลี่ยนโดยฉับพลัน ย่อมเกิดการต่อต้านขึ้นมา และเป็นการทำให้ตัวเขานั่นแหละที่จะถูกล้มแทน

งานนี้จึงต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการปรับเปลี่ยนองค์กรอย่างหนัก

 

1. เริ่มจากปรับทัศนคติผู้บริหาร

ในช่วงเดือนแรก ผู้บริหาร 50 กว่าคน ถูกเรียกมาพบตอนเลิกงานเพื่อประชุมพิเศษ

เขาจะให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนความเห็น และพูดคุยกันในเรื่องพื้นฐานมากๆ จนอาจจะไม่เกี่ยวกับธุรกิจ

อย่างเช่น “การเป็นมนุษย์ที่ดีควรทำอย่าง!?” “การเป็นแบบอย่างผู้นำที่ดีนั้นเป็นแบบไหน!?”

รวมถึงเปิดใจกับพนักงานว่า คุณคาซูโอะเองก็ไม่ชอบขึ้นสายการบินนี้ เพราะได้ประสบการณ์ไม่ค่อยดี

ดูเหมือนพนักงานจะไม่ค่อยสนใจบริการ เอาแต่ทำตามคู่มือพอผ่านๆ จนผู้โดยสารอย่างเขารู้สึกไม่ดี เป็นต้น

ข้อมูลระบุว่าเขาเรียกคุยแบบนี้ถึง 17 ครั้งในเดือนเดียว และนั่นทำให้ผู้บริหารหลายคนได้ซึมซับปรัชญาการทำงานแบบใหม่

 

2. จาก 1 ขยายเป็น 10

เมื่อกลุ่มแรก 50 คนนั้นเข้าใจปรัชญาของคุณคาซูโอะ

ก็เป็นหน้าที่ของกลุ่มนั้นที่จะต้องไปถ่ายทอดให้กับระดับรองลงมาอีกกว่า 200 คน

ด้วยแนวคิดแบบสองทาง ก็คือเปิดโอกาสให้ลูกน้องได้พูดถึงปัญหาก่อน

จากนั้นหัวหน้าก็พูดตอบโต้ปัญหานั้น ถ่ายทอดปรัชญาการทำงานแบบใหม่ และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้กับลูกน้องไปพร้อมๆ กัน

นั่นจะทำให้พวกเขาคล้อยตาม และซึมซับรูปแบบการทำงานใหม่ไปโดยไม่รู้ตัว

 

 

3. แบ่งการทำงานออกเป็นกลุ่มย่อย

พนักงาน 50,000 คน ของบริษัทที่ไม่ทำกำไร  พวกเขาก็จะทำงานของพวกเขาต่อไป

โดยการบอกว่าตัวเองทำหน้าที่ได้ดีแล้ว จากนั้นก็โทษว่าเป็นเพราะแผนกอื่นๆ ที่ทำให้บริษัทขาดทุน

คุณคาซูโอะนำแนวคิดการทำงานแบบ “กลุ่มย่อย” มาใช้ มีข้อมูลว่าแบ่งหน่วยงานออกเป็น 600-700 ทีม

ให้แต่ละทีมทำงานเพื่อทีมตัวเอง จัดทำรายรับรายจ่ายของทีม โดยมุ่งให้ทุกทีมสามารถทำกำไรเลี้ยงทีมตัวเองได้

การบริหารทีมย่อยๆ จึงง่ายกว่าการบริหารบริษัทใหญ่

นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการแข่งขันขึ้นมาภายในองค์กรได้อีกด้วย

 

4. นำมาสู่การลดพนักงาน และปรับโครงสร้างใหม่

เมื่อส่วนไหนไม่ทำกำไร แถมยังทำให้กิจการขาดทุนจนเดินหน้าต่อไม่ได้ ก็ควรตัดไปเพื่อความอยู่รอดขององค์กร

มีการลดพนักงานลงถึง 30% จาก 50,000 คน เหลือเพียงราว 35,000 คน

นั่นทำให้ประหยัดรายจ่ายในส่วนเงินค่าจ้างได้ถึง 32,000 ล้านบาท

ปรับเส้นทางการบินเสียใหม่ ลดจำนวนสายที่ขาดทุนเรื้อรัง ใช้งานเครื่องบินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

และสิ่งเหล่านี้ ทำให้ Japan Airlines ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง!!

บริษัทสามารถกลับมาทำกำไรได้ในเวลาเพียงแค่ 2 ปี หลังจากที่เขาเข้ามารับตำแหน่ง

หุ้นของ JAL ก็กลับมาซื้อขายในตลาดหุ้นอีกครั้งในปี 2012

 

บริษัทกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติของญี่ปุ่นได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ปี 2017 ที่ผ่านมา สามารถทำรายได้ไปกว่า 389,000 ล้านบาท และมีผลกำไร 39,000 ล้านบาท

 

ส่วนคุณคาซูโอะ ก็ได้รับการยกย่องให้เป็นอีกหนึ่งนักธุรกิจฝีมือเยี่ยม

ผลงานการพลิกฟื้น Japan Airlines ของเขา ก็ถูกบันทึกเป็นกรณีศึกษา

และยกย่องถึงความสามารถของชายผู้นี้ไปอีกแสนนาน….

 

 

ติดตาม Billionaire Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionairethai/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/BillionaireThai

– ถ้าเล่นแต่ไลน์ ก็ส่งบทความให้คุณทุกวันที่ @BillionaireMindset

– ติดตามเพจ Billionaire Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา:

https://blogs.wsj.com/japanrealtime/2012/07/30/mikoshi-management-how-kazuo-inamori-lifted-japan-airlines/

https://global.kyocera.com/inamori/profile/episode/episode10.html

www.reuters.com/article/us-jal/japan-airlines-files-for-25-billion-bankruptcy-idUSTRE60H4NA20100119?sp=true

www.tpa.or.th/tpanews/upload/mag_content/68/ContentFile1296.pdf

www.jal.com/en/investor/library/results_briefing/pdf/fy2017q4_0427en.pdf

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...