Facebook
Twitter
LINE

ร้านขายของชำกำลังจะตาย เป็นคำที่ถูกพูดถึงมานับ 10 ปี จากการเติบโตของร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่

จากข้อมูลพบว่า ตลาดค้าปลีกในประเทศไทย มีมูลค่าสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท

และหากจะนับเฉพาะสินค้าอุปโภค-บริโภคเท่านั้น ก็มีมูลค่ากว่า 450,000 ล้านบาทเข้าไปแล้ว

 

และเมื่อดูในตัวเลขส่วนแบ่งการตลาด ข้อมูลโดยบริษัทกันตาร์ เวิร์ลดพาแนล  พบว่า…

ส่วนแบ่งการตลาดอุปโภคบริโภคในปี 2555

อันดับ 1 ร้านโชห่วยและร้านค้าในชุมชน 34.3%

อันดับ 2 ไฮเปอร์มาร์เก็ต เช่น โลตัส บิ๊กซี 20.1%

อันดับ 3 ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven หรือแฟมิลีมาร์ท 13.8%

 

ผ่านไป 5 ปี ส่วนแบ่งการตลาดในปี 2560 ยังมีอันดับเหมือนเดิม แต่มีเปอร์เซ็นต์ที่เปลี่ยนไป

อันดับ 1 ร้านโชห่วยและร้านค้าในชุมชน 32.4%

อันดับ 2 ไฮเปอร์มาร์เก็ต 18.4%

อันดับ 3 ร้านสะดวกซื้อ 17%

และผู้เล่นหน้าใหม่ โลกออนไลน์ 1.2%

 

อันดับดังกล่าวสะท้อนอะไร!?

– ร้านค้าโชห่วย และห้างสรรพสินค้านั้นมีส่วนแบ่งการตลาดลดลง ในขณะที่ร้านสะดวกซื้อมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

– ขณะที่การขายผ่านออนไลน์ เติบโตขึ้นพร้อมกับการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่มากขึ้น

– ครอบครัวของคนรุ่นใหม่มีขนาดเล็กลง คนต่างจังหวัดอยู่ในเมืองมากขึ้น ขณะที่คนกรุงเทพนิยมอยู่คอนโดมากกว่าบ้าน การซื้อของใช้ทีละมากๆ ในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จึงลดลงตามไปด้วย

– และนั่นแสดงว่าในปัจจุบัน เหล่าร้านโชห่วยยังมียอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคในปีล่าสุด รวมกันสูงถึง 145,000 ล้านบาท

 

 

ร้านโชห่วยกำลังจะตายจริงหรือ!?

หากนับสาขาร้านสะดวกซื้อในไทย มีจำนวนประมาณ 15,000-16,000 สาขา

ในจำนวนเหล่านั้นร้าน 7-Eleven ครองส่วนแบ่งมากที่สุด ประมาณ 11,000 สาขา

 

ขณะที่ร้านโชห่วย ถูกประเมินเอาไว้โดยบริษัทนีลเส็น ว่ามีอยู่ในไทยประมาณ 400,000 ร้าน

(ไม่กี่วันก่อน คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประเมินว่าโชว์ห่วยในไทยมีประมาณ 500,000-600,000 ร้าน)

 

แต่สถิติที่น่าสนใจก็คือ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการ “เปิดร้านโชห่วยเพิ่มขึ้น” มากกว่าที่ปิดตัวลง

 

ทำไมถึงมีจำนวนเพิ่มขึ้น??

คนรุ่นใหม่หลายคนมองว่าธุรกิจร้านขายของชำยังไปต่อได้ พอเบื่องานประจำก็นำเงินมาลงทุนตรงนี้

คนแก่ที่ออกจากงาน ก็มีไม่น้อยที่เลือกเปิดร้านของชำ

ขณะที่บางร้าน เป็นรุ่นลูกหลานรับช่วงกิจการจากครอบครัว ก็ปรับปรุงร้านของตัวเองให้ทันสมัยสู้กับร้านสะดวกซื้อยุคใหม่

แบบนี้แสดงว่าธุรกิจร้านโชห่วย-ร้านขายของชำ ยังไปต่อได้ใช่หรือไม่…

คำตอบของคำถามข้อนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับการปรับตัว และกลยุทธ์ของแต่ละร้านว่าจะสู้ในตลาดนี้ต่อไปอย่างไร

 

ร้านโชห่วย ต้องทำยังไงถึงจะไปรอด!?

การปรับตัวกับตลาดที่เปลี่ยนไป พร้อมดึงจุดเด่นของตัวเองออกมา และลบจุดด้อยทิ้งไป น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ได้ผลมากที่สุด

 

เราลองคิดกันเล่นๆ ว่าโชห่วยมีจุดเด่นอะไรบ้าง..

– การเข้าถึงและรู้จักลูกค้าที่มากกว่า เพราะส่วนใหญ่จะเป็นร้านค้าในชุมชน

– ระบบอันเป็นเอกลักษณ์ของโชห่วยไทย ไม่ว่าจะเป็น บุหรี่แบ่งขาย หรือการเซ็นไว้จ่ายสิ้นเดือน ล้วนเป็นสิ่งที่ร้านสะดวกซื้อให้ไม่ได้

– การจัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมได้อย่างอิสระ ไม่มีสัญญาผูกมัดกับผู้ส่งของ

– การสร้างจุดเด่นแบบที่ร้านสะดวกซื้อทำไม่ได้ เช่น..

ร้านบิ๊กเต้ ร้านชื่อดังแถว ม.ธรรมศาสตร์ จัดชุดไข่ต้มแก้บนสำหรับนักศึกษา และสรรหาโปรโมชั่นใหม่ๆ มาเอาใจลูกค้าอยู่เสมอ

หรือร้านจีฉ่อย ที่ขายความคลาสสิคและตำนานในย่านจุฬา ไม่ว่าใครก็ต้องรู้จัก

 

สุดท้ายแล้วมันก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวใช่หรือไม่!?

ร้านกาแฟท้องถิ่นจะต้องปรับตัว เมื่อมีสตาร์บัคส์มาเปิดในคอมมูนิตี้มอลล์ใกล้ๆ

ยูทูบเบอร์ก็ต้องปรับตัว เมื่อดาราและเซเลบ หันมาทำรายการลงยูทูบมากขึ้น

ธุรกิจมือถือค่ายเล็ก ก็ต้องปรับตัว เมื่อค่ายใหญ่นั้นขายทั้งสเปคที่ดีกว่า แถมมีต้นทุนถูกกว่า แล้วเราจะทำโปรโมชั่นอะไรให้ขายได้

แม้แต่สายการบินรายใหญ่ ก็ยังต้องปรับตัวเมื่อมีสายการบินโลว์คอสมาให้บริการ แม้จะราคาต่างกันก็ตามที

 

“การปรับตัว” ขายจุดเด่นของตัวเอง และแก้ไขจุดด้อยที่มี น่าจะเป็นกุญแจสำคัญสู่ความอยู่รอดของธุรกิจร้านโชห่วย เช่นเดียวกับอีกหลายๆ ธุรกิจ

คุณผู้อ่านลองคิดกันเล่นๆ สิครับ ว่าถ้าตัวเองเป็นเจ้าของร้านโชห่วยในชุมชน จะปรับตัวอย่างไรเพื่อทำให้ธุรกิจของตัวเองโดดเด่นสู้กับร้านสะดวกซื้อได้

ลองมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันครับ…

 

 

ที่มา:

www.prachachat.net/marketing/news-137781

marketeeronline.co/archives/14991

www.posttoday.com/politic/report/370674

www.brandbuffet.in.th/2018/03/kantar-worldpanel-retailer-share-fmcg/

ภาพ: วารสารวิชาการรังสิต

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...