Facebook
Twitter
LINE

เมื่อปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า “เงินคริปโต” เป็นกระแสแรงอย่างมาก

นำมาโดยพระเอกหลัก Bitcoin ซึ่งเคยมีมูลค่าสูงถึง 620,000 บาทในเดือนธันวาคม

แต่ปัจจุบันกลับลดลงเหลือเพียง 200,000 บาทเท่านั้น

และไม่ใช่เพียงแค่ราคาที่ลดลงอย่างเดียวเท่านั้น

แต่ “มูลค่าการซื้อขายในตลาด” ก็ลดลงตามไปด้วยเช่นกัน

 

อธิบายให้เห็นภาพได้ง่ายๆ ว่า….

จากเดิมในตลาดสดแห่งหนึ่ง ขายปลาตัวละ 500 บาท มีคนซื้อวันละ 100 ตัว

แต่ตอนนี้ตลาดแห่งเดิม ปลาชนิดเดิม กลับขายอยู่ที่ 200 บาท และมีคนมาซื้อแค่วันละ 20 ตัว

เกิดอะไรขึ้นกับตลาดนะ?? เพราะปลาหายากเหรอ?? หรือเพราะคนไม่มีเงินพอซื้อ??

หรือคำตอบที่โหดร้ายก็คือ เพราะคนไม่ต้องการปลานี้แล้ว…??

 

 

คำตอบที่โหดร้าย แต่ดูจะตรงกับความจริงที่สุด…

มีข้อมูลจากหน่วยงานวิจัยด้านเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Juniper Research

พวกเขาเฝ้าเก็บสถิติของตลาดคริปโตและ Bitcoin กันมาเป็นปี

และพวกเขาก็พบว่า ตลอดทั้งปี 2017 รวมกันนั้น

ตลาดเงินคริปโต มียอดซื้อขายรวมกันทั่วโลกประมาณ 55 ล้านล้านบาท

 

ต่อมา… เพียงแค่ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2018

ตลาดทั่วโลกมียอดซื้อขายรวมกัน 45 ล้านล้านบาทเข้าไปแล้ว

ถ้ามองย้อนไปตอนนั้น ดูเหมือนอนาคตจะสดใสมาก

เพราะเพียงแค่ 3 เดือนของปีนี้ ก็ยอดเกือบเท่าทั้งหมดของปีที่แล้ว แสดงว่าตลาดแห่งนี้กำลังได้รับความนิยมสุดขีด!!

 

ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะตอนปี 2017 ราคาของ Bitcoin พุ่งขึ้นสูง ดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่ให้เข้ามาจำนวนมาก

จากราคา 32,000 บาทในต้นปี พุ่งขึ้นไปถึง 19 เท่าเป็น 600,000 บาทในช่วงกลางเดือนธันวาคม

ของที่ราคามันพุ่งขึ้น 19 เท่าในปีเดียว เป็นใครจะไม่อยากได้ไว้ครอบครองจริงไหม??

เพราะฉะนั้นตอนต้นปี 2018 คนหน้าใหม่ก็พูดถึงและออกอาการ “เห่อ” กับเงินคริปโตเป็นอย่างมาก

 

ต่อมาในช่วงไตรมาสสอง หรือเดือนเมษายน-มิถุนายน ตลาดกลับไม่มีทีท่าว่าจะเติบโตไปต่อ

มูลค่าการซื้อขายตลอดทั้งสามเดือน อยู่ที่ 11.5 ล้านล้านบาท

ลดลงมากถึง 75% จากช่วงสามเดือนแรกของปี

พร้อมกับราคาของคริปโตตัวอื่นๆ ที่ตกลงตามไปด้วย

โดยเฉพาะตัวของ Bitcoin ซึ่งราคาตอนสิ้นเดือนมิถุนายน ก็อยู่ที่ 250,000 บาทแล้ว

 

และในไตรมาสที่สาม ก็คาดว่ามูลค่าการซื้อขายจะตกลงจาก 11.5 ล้านบาท

เหลือเพียงแค่ 6 ล้านล้านบาท หรือลดไปอีก 47% จากไตรมาสที่สอง

 

การตกลงของมูลค่าซื้อขาย ในแต่ละไตรมาส

 

มันคือฟองสบู่จริงหรือไม่??

แม้เทคโนโลยีบล็อกเชน จะเป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้ในโลกอนาคต

อย่างเช่น รัฐบาลหรือหน่วยงานใหญ่ๆ สามารถปรับเอาบล็อกเชนมาใช้กับผลิตภัณฑ์การเงินที่พวกเขาควบคุมได้

แต่การจะใช้เงินคริปโตอันขาดการควบคุม และไม่มีอะไรมาค้ำประกันมูลค่าของเงิน อย่างเช่น Bitcoin

ในการเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ได้อย่างยั่งยืนนั้น ถือว่าเป็นไปได้ยาก

การพุ่งขึ้นอย่างไม่หยุดของ Bitcoin เองในปีที่แล้ว ก็ถูกมองว่าเป็น “ภาวะฟองสบู่”

ซึ่งเกิดจากการที่มีคนเข้าไปเก็งกำไรมันมากจนเกินไป

คนที่ได้ประโยชน์ก็คือคนเข้าไปก่อน ส่วนคนที่เสียหายก็คือคนที่เข้าไปทีหลัง แล้วรับซื้อต่อมาในราคาแพง สุดท้ายก็ไม่สามารถหาคนซื้อต่อในราคานั้นได้

แล้วพวกเขาก็ต้องเป็นคนแบกรับการขาดทุน อย่างที่เคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าบนโลกของเรา

 

ใครได้ผลประโยชน์จาก Bitcoin??

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้ความเห็นว่า คนที่ได้ประโยชน์จาก Bitcoin นั้นจะมีอยู่ 2 กลุ่ม

กลุ่มแรกคือคนที่เข้าไปซื้อไว้ก่อน ไม่ว่าจะซื้อมาตั้งแต่หลายปีก่อนแล้วมาขายตอนแพง หรือซื้อตอนแพง แล้วสามารถปล่อยตอนที่แพงกว่าได้

อีกพวกก็คือ เหล่าคนขายอุปกรณ์ขุดเหมือง Bitcoin

เพราะในช่วงที่เกิดกระแส มีความต้องการอุปกรณ์ถอดรหัส Bitcoin เป็นจำนวนมาก

อย่างที่เราเห็นอุปกรณ์อย่างการ์ดจอ ขาดตลาดจนลูกค้าบ่นระงมในช่วงที่ผ่านมา

เมื่อความต้องการมาก แต่ของมีอยู่เท่าเดิม มันก็เลยขาดตลาด พอมันขาดตลาด ราคาก็สูงตามไป

คนที่กักตุนของไว้ก่อน ก็ได้โอกาสเอามาขายทำกำไร เพราะเขาสามารถขายในราคาที่สูงกว่าปกติได้

 

ย้อนกลับไปในยุค 1850 ช่วงนั้นมีการค้นพบสายแร่ทองคำในแคลิฟอร์เนีย

“ทองคำ” สินทรัพย์มีค่า จากดินแดนอันห่างไกลที่ไม่มีใครเคยไปสำรวจมาก่อน

คำโฆษณานี้ส่งผลให้คนจากทั่วสหรัฐอเมริกา หลั่งไหลไปยังดินแดนตะวันตก

พวกเขาหวังว่าจะร่ำรวยจากทองคำเหล่านั้น จึงทุ่มเททั้งแรงงานและเงินทุนอย่างเต็มกำลัง

ยอมจ่ายเงินซื้ออุปกรณ์ขุดและร่อนทอง จ้างคนงาน และย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ในดินแดนที่เขาไม่รู้จักมาก่อน

สุดท้ายพอขุดจนหมด ปรากฏว่าคนที่ไปขุดทองส่วนใหญ่กลับหมดตัว

ได้ทองคำไม่คุ้มกับค่าแรงงานและค่าอุปกรณ์ที่พวกเขาลงทุนกันไป

ส่วนคนที่ร่ำรวย ก็เป็นคนขายอุปกรณ์ขุดและร่อนทองคำ ซึ่งทำกำไรให้พวกเขาไม่น้อย

อีกคนก็คือ Levi Strauss นักธุรกิจผู้ขายกางเกงยีนส์ชนิดหนา ให้คนขุดทองได้ใส่ทำงาน

กางเกงยีนส์ของเขาคุณภาพดี ไม่ขาดงาย จึงเกิดการบอกต่อ

และยังคงขายดีแม้กระแสตื่นทองจะหมดไปแล้ว จนบริษัทกลายมาเป็นผู้ผลิตกางเกงยีนส์ชั้นนำในยุคต่อมา

 

กางเกงยีนส์ สินค้าขายดีจากยุคตื่นทอง

 

โลกของเรามีภาวะที่เรียกว่า “ฟองสบู่” เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า…

สุดท้ายคนที่ต้องเจ็บตัว ก็คือคนที่ไม่รู้ว่ามันเป็นฟองสบู่ เข้าไปเล่นกับมันตอนที่สายไปแล้ว

และเชื่อว่าโลกของเรา ก็จะมีฟองสบู่ใหม่ๆ เกิดขึ้นในอนาคต

ซึ่งมันก็จะเปลี่ยนรูปร่างหน้าตา เปลี่ยนผลิตภัณฑ์ใหม่ไปเรื่อยๆ

“ฟองสบู่” เกิดขึ้นได้เพราะ “ความโลภ” และ “ความโลภ” ก็คือสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์เสมอมา

ไม่ว่าจะเป็นยุคอดีต ปัจจุบัน หรือยุคอนาคตก็ตาม….

 

 

อ่านเพิ่มเติม:

เกิดอะไรขึ้น…!? Bitcoin ราคาร่วงลง 68% ตลาดเงินคริปโตสูญมูลค่า 20 ล้านล้าน

“ทิวลิปมาเนีย” วิกฤติการเงินของโลก เมื่อคนยอมขายบ้าน-ที่ดิน เพื่อแลกดอกทิวลิป

 

 

ติดตาม Billionaire Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionairethai/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/BillionaireThai

– ถ้าเล่นแต่ไลน์ ก็ส่งบทความให้คุณทุกวันที่ @BillionaireMindset

– ติดตามเพจ Billionaire Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา:

www.blognone.com/node/105839

www.juniperresearch.com/document-library/white-papers/can-bitcoin-bounce-back

thenextweb.com/hardfork/2018/10/10/report-cryptocurrency-dying/

www.tradingview.com/symbols/BTCUSD/

economictimes.indiatimes.com/markets/stocks/news/cryptos-80-plunge-is-now-worse-than-stocks-dot-com-crash/articleshow/65786576.cms

www.bloomberg.com/news/articles/2018-09-12/crypto-s-crash-just-surpassed-dot-com-levels-as-losses-reach-80

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...