Facebook
Twitter
LINE

หลายคนยังจำได้ดีว่าในวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่เงินบาทปรับตัวจาก 25 เป็น 50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มันร้ายแรงแค่ไหน

หรือวิกฤติเวเนซุเอลา ที่ต้องใช้เงิน 5,000,000 โบลิวาร์ เพื่อแลกเงินเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐ นั่นก็ว่าเลวร้ายมากแล้ว

แต่คุณรู้หรือไม่ว่าครั้งหนึ่ง “เยอรมนี” ก็ต้องเคยพบกับภาวะเงินเฟ้อรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศ

เพราะในช่วงปี 1914-1923 ค่าเงินมาร์คที่พวกเขาเคยใช้ เคยร่วงลงไปถึงขั้นที่ว่า…

จากตอนแรกใช้เงิน 4.2 มาร์ค เพื่อแลกเงินเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ภายในไม่ถึงสิบปี ต้องใช้เงิน 4,200,000,000,000 มาร์ค เพื่อแลกเงินเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว

มันคือฝันร้ายที่แย่กว่าต้มยำกุ้งเสียอีก

สงสัยกันแล้วใช่ไหมว่ามันเกิดอะไรขึ้น!? ในวันนี้เราจะไปหาคำตอบพร้อมๆ กัน…

 

จุดเริ่มต้นของภาวะเงินเฟ้อ (1914-1918)

ภาวะเงินเฟ้อของเยอรมนี มักถูกบันทึกว่าเริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 1921

แต่จริงๆ แล้วเราต้องย้อนไปให้ถึงสาเหตุของมัน อาจจะเกิดพร้อมกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1914

โดยในช่วงเวลานั้น รัฐบาลเยอรมันเชื่อว่าด้วยเทคโนโลยีและยุทธวิธีของพวกเขา จะชนะสงครามได้ในเวลาสั้นๆ

และประเทศจะต้องร่ำรวยขึ้น จากการเป็นผู้ชนะสงคราม

ด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยม แทนที่จะหาเงินมาผลิตอาวุธด้วยการเก็บภาษี หรือวิธีออกพันธบัตร หรือหาเงินอะไรตามปกติ

ทางรัฐบาลตัดสินใจที่จะ “พิมพ์ธนบัตร” เป็นจำนวนมาก

พอเงินออกมาเยอะ โดยไม่มีทรัพย์สินอะไรมาเป็นหลักประกันและประเทศไม่ได้รวยขึ้นจริงๆ ก็นำมาซึ่งภาวะเงินเฟ้อ

เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในเวลานั้น ยังถือว่าไม่ได้รุนแรงเท่าไหร่ และควรจะแก้ได้ง่ายๆ หากเยอรมนีชนะสงคราม

แต่แน่นอนว่า เรื่องราวนั้นไม่เป็นไปตามที่หวัง เพราะสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของพวกเขาเสียเอง

นั่นทำให้ค่าเงินของชาวเยอรมันมีค่าลดลงจาก 4.2 มาร์คต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 1914

เป็นประมาณ 8 มาร์คต่อดอลลาร์สหรัฐในปี 1918

ภายในเวลาเพียง 4 ปีนั้น เงินมาร์ดของพวกเขา อ่อนค่าลงกว่า 2 เท่า.. แต่ก็ยังไม่ใช่จุดร้ายแรงที่สุด

 

ภาวะเงินเฟ้อหลังสงคราม (1919-1922)

ความพ่ายแพ้ของเยอรมนี ส่งผลให้พวกเขาต้องจ่ายค่าเสียหายของสงคราม เทียบกับค่าเงินปัจจุบันประมาณ 14 ล้านล้านบาท

ซึ่งเอาเข้าจริง มันเป็นเงินที่เยอะเกินไปหน่อย แล้วประเทศที่เพิ่งแพ้สงคราม จะหาเงินจากไหนมาจ่ายได้ขนาดนั้น!?

เมื่อเยอรมนีต้องหาเงินมาจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม ก็จะไม่มีเงินไปลงทุนด้านอื่นๆ เศรษฐกิจก็จะยิ่งฟื้นตัวยาก

ซึ่งทำให้ค่าเงินในประเทศค่อยๆ อ่อนลงไปทีละน้อย เพราะความเชื่อมั่นในเงินมาร์คของพวกเขาลดลง

ถึงช่วงปลายปี 1920 ชาวเยอรมันจะต้องใช้เงิน 90 มาร์ค ในการแลกเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ

 

ชาวเยอรมัน อ่านข่าวเหตุการณ์ในประเทศเมื่อปี 1920

ช่วงต้นปี 1921 ปัญหาเลวร้ายลงไปอีก เมื่อฝรั่งเศสมองว่าเยอรมนีไม่สามารถจ่ายค่าชดเชยสงครามได้ จึงตัดสินใจเข้ายึดท่าเรือสำคัญ 3 แห่ง

ซึ่งทำให้แหล่งผลิตรายได้ของประเทศยิ่งลดน้อยลงไปอีก

รัฐบาลพยายามขึ้นภาษี แต่การขึ้นภาษีก็ทำให้คนรวยในประเทศพยายามใช้จ่ายเงินจำนวนมาก เพราะไม่อยากมีกำไรที่ต้องเสียภาษีเยอะ

ขณะที่คนรวยใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย คนจนก็ยังคงไม่มีจะกิน ปัญหาเงินเฟ้อกก็ยังไม่ได้ลดลง

ช่วงปลายปี 1921 ชาวเยอรมันจึงต้องใช้เงิน 330 มาร์ค ในการแลกเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ

 

ปี 1922 สถานการณ์ยิ่งตึงเครียดไปใหญ่..

ทั้งเรื่องรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีถูกลอบสังหาร

ทั้งเกิดการประท้วงของแรงงาน เพราะไม่มีมีเงินพอกิน เงินเดือนเท่าเดิม แต่ซื้อของได้น้อยลงกว่าเดิม

แถมฝรั่งเศสไม่ได้รับเงินค่าชดเชยสงครามที่พอใจ ก็ขู่ว่าจะเข้ายึดครองเยอรมนี

จนถึงปลายปี 1922 ค่าเงินอ่อนค่าลงไปเป็น 7,400 มาร์ค ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐแล้ว

 

เด็กๆ เล่นกับเงินมาร์คที่อ่อนค่าลงจนแทบไร้ค่าในปี 1922

 

ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงขั้นวิกฤติ (1923)

ฝรั่งเศสไม่ได้แค่ขู่ แต่ต้นปี 1923 ได้ตัดสินใจเข้ายึดครองเขตอุตสาหกรรมเหมือง Ruhr ของเยอรมนี ที่ผลิตถ่านหินถึง 85% ของประเทศ

แบบนั้นเท่ากับว่าเป็นการตัดเส้นทางหาเงินสำคัญ ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอีก

ทันทีที่บุกยึด เงินเยอรมันก็อ่อนค่าลงไปทันทีเป็น 50,000 มาร์ค ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

 

ทหารฝรั่งเศสและชาวเยอรมันในเขตอุตสาหกรรมเหมือง Ruhr เมื่อปี 1923

 

แต่แรงงานในประเทศก็ยังประท้วง ทางรัฐบาลก็ไม่รู้จะทำยังไง ยังคงพิมพ์เงินออกมาเรื่อยๆ เพื่อจ่ายให้แรงงานพอใจ ให้พวกเขาเลิกประท้วงกลับไปทำงานอีกครั้ง

แต่.. เราน่าจะทราบดีกว่ามันเป็นแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ปัญหาจริงๆ คือ กำลังการผลิตและแหล่งอุตสาหกรรมของเยอรมนีนั้น ไม่ได้เหลืออยู่มากพอที่จะกู้เศรษฐกิจได้แล้ว

เมื่อเงินเกลื่อนเมือง ตอนนั้นเราจะเห็นภาพแปลกๆ อย่าง คนเอาเงินมาแปะฝาตกแต่งบ้าน หรือกองให้เด็กเล่นกัน เพราะมันแทบไม่มีค่าอะไร

รัฐบาลที่พิมพ์เงินออกมา ก็มาถึงจุดที่ “ต้นทุนในการพิมพ์” ธนบัตรแต่ละใบนั้น มากกว่า “มูลค่าจริงๆ ของเงิน” ที่พิมพ์ออกมาซะอีก

 

ในเดือนพฤศจิกายนปีนั้น ได้รับการบันทึกว่าเป็นจุดเลวร้ายที่สุดของเงินเฟ้อ

เพราะชาวเยอรมัน ต้องใช้เงิน 4,200,000,000,000 มาร์ค (อ่านว่า สี่ล้านสองแสนล้านมาร์ค) เพื่อแลกเงินเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐ

 

เด็กๆ เอาเงินมาต่อเป็นว่าว เมื่อปี 1923

 

การกลับมาตั้งตัวได้อีกครั้ง…

เมื่อประธานธนาคารกลางคนใหม่ Hjalmar Schacht  มาพร้อมกับแนวคิดแปลกๆ ในการแก้ปัญหา แต่กลับได้ผลซะงั้น

เงิน “มาร์ค” เดิมที่ไร้ค่า เพราะอ้างอิงจากทองคำ แต่พอรัฐบาลไม่มีทองในคลัง เงินก็กลายเป็นแค่กระดาษเปล่า

ธนาคารกลาง จึงทำการออกสกุลเงินใหม่ชื่อ “เรนเทนมาร์ค” ที่ตัดเลข 0 ออกไป 12 ตัว

จากนั้นจึงอิงค่าเงินกับที่ดินทางการเกษตร และอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ

ประมาณว่า.. ใครมีที่ดินหรืออสังหาฯ ในการครอบครองอยู่มาก ก็มาแลกเงินใหม่ได้มาก เพื่อให้เงินนี้สะท้อนความร่ำรวยที่แท้จริงของคน

แม้ในตอนแรกมันจะไม่ได้รับการยอมรับระหว่างประเทศ แต่มันกลับได้รับการยอมรับจากประชาชนชาวเยอรมัน และส่งผลดีทางจิตวิทยาได้อย่างไม่น่าเชื่อ

เท่ากับว่าตอนนี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ จะเท่ากับ 4.2 เรนเทนมาร์ค (พอๆ กับค่าเงินมาร์คเดิมก่อนเกิดสงคราม)

ซึ่งสกุลเงินใหม่นี้ ก็ค่อยๆ ทำให้ปัญหาเงินเฟ้อของประเทศลดลงไป

เศรษฐกิจของประเทศแทนที่จะดิ่งลงเหวลึกแบบกู่ไม่กลับ ก็เหมือนจะเจอทางปีนกลับขึ้นมา

 

แม้ว่าค่าเงินของชาวเยอรมันจะค่อยๆ กลับมามั่นคง แต่การที่ตกลงไปในเหวลึกแล้ว การจะปีนขึ้นมาก็ต้องใช้เวลาพอสมควร

ผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อรุนแรงที่เคยเกิดขึ้น ทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ไปอีกหลายปี

และที่สำคัญคือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชายชื่อ “Adolf Hitler” ค่อยๆ มีอำนาจมากขึ้นในประเทศ

จนนำไปสู่สงครามใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ที่เรารู้จักกันดีในชื่อ World War II นั่นเองครับ…

 

 

 

ติดตาม Billion Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionmindset.ig/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/Billion_Twit

– ติดตามเพจ Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา:

www.businessinsider.com/weimar-germany-hyperinflation-explained-2013-9

www.bbc.co.uk/bitesize/guides/z9y64j6/revision/5

www.johndclare.net/Weimar_hyperinflation.htm

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...